วันนี้เราจะมาเช็กจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภาคใต้ตอนบนรวมพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีก 3 เขต เป็น 26 เขต ประกอบด้วย ชุมพร 3 เขต ระนองและพังงา จังหวัดละ 1 เขต สุราษฎร์ธานี 6 เขต นครศรีธรรมราช 8 เขต กระบี่ และภูเก็ต จังหวัดละ 2 เขต เป็นตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด 17 คน รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 5 พรรคภูมิใจไทย 2 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 และพรรคเพื่อไทย 1 ตามลำดับ
ถ้าไล่เรียงกันแบบรายจังหวัดเริ่มกันที่ฝั่งอ่าวไทย จ.ประจวบคีรีขันธ์ บ้านเกิด เฉลิมชัย ศรีอ่อน แม่บ้านพรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมที่เคยครองพื้นที่แบบไร้คู่แข่งมายาวนาน แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 62 กลับถูก พรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ จากพรรคเพื่อไทย เอาชนะ เลขาธิการพรรค เข้าไปแทนที่ในสภา เหลือ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 คน “สุราษฎร์ธานี” เป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ ส.ส.มาจากพรรคเดียวกัน คือ “ประชาธิปัตย์” แล้วยังมีคะแนนทิ้งห่างพรรคอื่นๆ เกือบเท่าตัวชนิดว่าขาดลอยเฉลี่ยเขตละ 40,000 คะแนน และ 1 ใน ส.ส.สุราษฎร์ธานี คือ นายสินิตย์ เลิศไกร ก็ได้รับปูนบำเหน็จ นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สุราษฎร์ธานี จึงนับว่ายังเป็นแฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง
จ.นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในภาคใต้ตอนบน มีเขตเลือกตั้งถึง 8 เขต ในอดีตที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหาดยึดครองพื้นที่มายาวนาน จนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ที่นั่ง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ถูกเบียดตกไปจากพรรค
พลังประชารัฐ ถึง 3 ที่นั่ง และต้องเสียไปอีก 1 ที่นั่งให้กับพรรคพลังประชารัฐ ในคราวเลือกตั้งซ่อมในเขต 3 ปี 2564 หลังจากที่ นายเทพไท เสนพงศ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขาดคุณสมบัติ เพราะถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตเลือกตั้ง นายก อบจ.นครศรีธรรมราช ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชมีจำนวน ส.ส.เท่ากันพรรคละ 4 คน ส่วนที่ จ.ชุมพร 2 เขตเป็น ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนอีกเขต มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่เป็นไปในลักษณะสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะ ส.ส.จากพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ สุพล จุลใส พี่ชายร่วมสายโลหิตของจุมพล จุลใส หัวหอกคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์
ข้ามไปฝั่งอันดามัน ที่ จ.กระบี่ หลังจากพื้นที่ถูกครอบครองมายาวนานจากพรรคประชาธิปัตย์ ในยุค อาคม เอ่งฉ้วน และ พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล จนเมื่อการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูกพรรคภูมิใจไทย แย่งที่นั่งไปได้สำเร็จ 1 ที่นั่ง เป็นการแบ่งกันคนละที่นั่ง ที่ จ.พังงา ฐานที่มั่นของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังเหนียวแน่นกับ ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคมาได้อีกสมัย ข้ามไปที่ จ.ภูเก็ต ส.ส.ปัจจุบันมาจากพรรคพลังประชารัฐทั้ง 2 ที่นั่ง คือ สุธา ประทีป ณ ถลาง และ นัทธี ถิ่นสาคู เป็น
การได้รับเลือกตั้งแบบยกจังหวัดเขี่ยผู้สมัครจากพรรคเจ้าถิ่นเดิม ทิ้งชนิดไม่เหลือเยื่อใย เหมือนกับที่ คงกริษ ฉัตรมาลีรัตน์ จากพรรคภูมิใจไทย ที่ล้มแชมป์ วิรัช ร่มเย็น จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ครอง จ.ระนอง มายาวนาน 8 สมัย
สนามสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังมีขึ้นในปี 2566 หลายจังหวัดมีการเพิ่มเขตเลือกตั้ง คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา และภูเก็ต อีกจังหวัดละ 1 เขต ทำให้พื้นที่ภาคใต้ตอนบนรวม จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 31 เขต ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ 3 เขต ชุมพร 3 เขต สุราษฎร์ธานี 7 เขต นครศรีธรรมราช 9 เขต กระบี่ 3 เขต พังงา 2 เขต ภูเก็ต 3 เขต และ ระนอง 1 เขต
และถ้ามองย้อนไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2562 พรรคการเมืองต่างทุ่มสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อขอปักธงในพื้นที่ภาคใต้ 2 ในพรรคที่ทำสำเร็จ คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่เก็บไปได้ถึง 5 ที่นั่ง และเก็บเกี่ยวจากการเลือกตั้งซ่อมอีก 1 ที่นั่ง รวม 6 ที่นั่งและยกจังหวัดภูเก็ตไปครอง และอีกพรรค คือ ภูมิใจไทย ที่สามารถปักธงใน จ.กระบี่ ได้ 1 ที่นั่ง และที่ จ.ระนอง อีก 1 ที่นั่ง
ส่วนการสอดแทรกจาก ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือลุงกำนันเป็นผู้กุมบังเหียน ส่งผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้ง แต่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนได้รับเลือกตั้งเพียง 1 คน ที่ จ.ชุมพร ซึ่ง ส.ส.ก็ไม่ได้เป็นคนอื่นไกล แต่เป็นสายเลือดเดียวกับ จุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทของลุงกำนัน ที่ไม่ได้ย้ายตามไปด้วย ที่สำคัญกระแสไม่เอาลุงกำนันในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ยิ่งส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งยกทีม แม้ว่าในช่วงนั้น กระแส นายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะติดลมบนก็ตาม จนทำให้หลังการเลือกตั้งบทบาทของนายสุเทพ และพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็แผ่วลงจนแทบเลือนหายไป การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ สนามเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนคึกคักสุดขีด ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ ต่างเตรียมขบวนกันอย่างแข็งขัน เพื่อลงสนาม พรรคประชาธิปัตย์เองที่เป็นเจ้าของพื้นที่หลักก็โหมโรงด้วยการออกแคมเปญแรก “ทวงคืนภาคใต้” ในการเปิดตัวผู้สมัคร แต่กลับถูกกระแสต้านกลับ “เราขอคืน” ท่ามกลางบรรยากาศ อดีต ส.ส.ที่สังกัดพรรคย้ายออกไปซบพรรคอื่นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความผิดหวังของประชาชนที่มีต่อการบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ได้ส่งผลต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนจนถึงยุคข้าวยากหมากแพง แม้ว่าล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนท่าทีใหม่ ด้วยการชูสโลแกน “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ก็ยังไม่โดนใจคนใต้
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ที่มี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ ดร.นาที ภรรยา เป็นแกนนำ และในช่วงที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย ได้ใช้ช่องทางเจ้ากระทรวงท่องเที่ยวฯ เข้าดำเนินนโยบายเชิงรุกด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จนเป็นที่ยอมรับของกลุ่มธุรกิจ การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคภูมิใจไทย จึงมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มที่นั่ง ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนได้อย่างแน่นอน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่วันนี้คงเหลือเพียงลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นขวัญกำลังใจ ดู ๆ ออกจะสงบเสงี่ยม แม้ว่า จะมี นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาดูการเลือกตั้งในภาคใต้ ก็ยังไม่มีทีท่าหวือหวาและอาจต้องเสียที่นั่งเพิ่มหลังจากมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐบางคนตามลุงตู่ไปอยู่พรรคใหม่
ส่วนพรรคน้องใหม่ ที่โตเร็วแบบไม่ต้องหัดเดินอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค และประกาศพร้อมจัดตั้งรัฐบาลหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรค เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 พร้อมเปิดตัวผู้สมัครพร้อมกันทั่วประเทศชนิดครบทุกเขต และแน่นอนว่า แคนดิเดต “ลุงตู่ คือ นายกฯ” และยังเป็นพรรคที่รวมของอดีต ส.ส. และอดีตคนของพรรคประชาธิปัตย์ ในท่าทีพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นม้าตีนต้นที่ออกตัวเร็วและแรง ในพื้นที่ภาคใต้ ผู้กระหายอยากลงสนามเลือกตั้งต่างวิ่งเข้าใส่ เพราะเชื่อว่าจะเป็นพรรคที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไร ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ภาพที่เห็นตอนนี้คือ วุ่นวาย ย้ายพรรค และเปลี่ยนขั้ว วันไหนเสียงนกหวีดดังขึ้น ประชาชนคือกรรมการ ใครจะทนทาน ใครจะถูกเบียด คงรู้กัน แต่ที่แน่ ๆ ภาคใต้ตอนบนจะเป็นสมรภูมิแข่งขันของ 4 พรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์ เจ้าของแชมป์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ.
อรุณี วิทิพย์รอด