นายเหวียน ซวน ฟุก สร้างประวัติศาสตร์ในเดือนนี้ ด้วยการเป็นสมาชิกระดับแกนนำคนแรกของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดี สมาชิกในคณะกรรมการกลาง สมาชิกถาวรในกรมการเมือง หรือ โปลิตบูโร และประธานสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ในวาระระหว่างปี 2564-2569

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของนายฟุกเกิดขึ้น หลังคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามออกแถลงการณ์ ระบุว่า นายฟุก วัย 68 ปี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2559-2564 “ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำทางการเมือง” ต่อกรณีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายคน ทั้งในปัจจุบันและในอดีต ถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้ “โทษฐานละเมิดวินัยพรรค”

ปัจจุบัน เวียดนามไม่มีตำแหน่ง “ประมุข” หรือ “ผู้นำสูงสุด” อย่างเป็นทางการ โดยแบ่งตำแหน่งออกเป็น “4 อันดับ” หรือ 4 ขั้น เริ่มจาก เลขาธิการพรรค ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานสภาแห่งชาติ

นายเหวียน ซวน ฟุก

อนึ่ง คณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการถาวร ประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม หรือ โปลิตบูโร และสำนักงานเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว ขอให้มีการสอบสวนทางวินัย ต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จากกรณีการรับสินบน การจัดเที่ยวบินอพยพประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

สำหรับบุคคลที่อยู่ในรายชื่อ รวมถึงนาย บุ่ย แทงห์ เซิน รมว.การต่างประเทศคนปัจจุบันของเวียดนาม ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า เข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานผู้ถูกจับกุมแล้วหลายคน หนึ่งในนั้นคือ นายวู้ ห่ง นัม อดีตรมช.การต่างประเทศ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำญี่ปุ่น

นายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ขณะที่มีรายงานด้วยว่า นายเจิ่น เวียต ไท เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำมาเลเซีย ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรค สำหรับวาระระหว่างปี 2563-2568 และนายเหวียน หว่าง หลิน หนึ่งในเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ “ได้รับใบเตือน”

ผลการสอบสวนโดยคณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม พบการกระทำผิดดังกล่าว ครอบคลุมบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลเวียดนาม ประจำญี่ปุ่น มาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย และแองโกลา โดยสินบนที่มีการเรียกรับกันนั้น มีมูลค่า “มากกว่า 10,000 ล้านด่ง” ( ราว 14 ล้านบาท ) จากจำนวนเที่ยวบินเกือบ 2,000 เที่ยว ซึ่งรัฐบาลเวียดนามจัดเป็นพิเศษ เมื่อปี 2563 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19

นอกจากนั้น สภาแห่งชาติของเวียดนามมีมติในเดือนนี้เช่นกัน ปลดนายฝ่าม บิงห์ มิงห์ และนายนายหวู ดึ๊ก ดาม ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการระบุสาเหตุอย่างชัดเจน ขณะที่ทั้งคู่ยังไม่ได้ถูกจับกุม และยังไม่มีการตั้งข้อหาจากพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ นายฝ่าม บิงห์ มิงห์ วัย 63 ปี เคยดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศเวียดนาม ระหว่างปี 2554-2564 โดยในระหว่างนั้นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2556 ส่วนนายหวู ดึ๊ก ดาม วัย 59 ปี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2556 เช่นกัน และเป็นที่รู้จักบนเวทีระหว่างประเทศ จากการรับผิดชอบนโยบายบริหารจัดการโรคโควิด-19 ของเวียดนาม

กรณีการลาออกของของนายฟุก แน่นอนว่าทำให้ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ จับตาและวิเคราะห์ “ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” ของโครงสร้างการปกครองภายในเวียดนาม โดยหนึ่งในข้อสันนิษฐานคือ “รูปแบบใหม่ของการจัดระเบียบพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม” ในการให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค ต้องเป็น “ผู้รับผิดชอบ” กับ “ความบกพร่องที่เกิดขึ้นภายในพรรค ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุด โดยเปิดทางให้ลาออก “อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ไม่เสียหน้า”

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคการเมืองเดียว ดังนั้น การดำเนินงานของรัฐบาลย่อมสอดคล้องกับนโยบายของพรรค แม้การลาออกของนายฟุกอาจก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่แน่นอนในทางการเมือง แต่น่าจะเป็นภายในเท่านั้น บทบาทและความสัมพันธ์ของเวียดนามบนเวทีระหว่างประเทศไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะยังคงเป็นแกนกลางขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดของประเทศต่อไป ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม และแน่นอนว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ย่อมต้องอยู่ภายใต้อาณัติของนายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรค ซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจหมายเลขหนึ่งของประเทศ.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS