ราว 2-3 ปีก่อนในบ้านเรา เคยมีข่าวเกี่ยวกับการนำร่างของ ‘ซีอุย’ ผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมและกินอวัยวะมนุษย์หลายราย ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช และนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจ หลังจากที่ศพของเขาถูกจัดแสดงอยู่เป็นเวลานานถึง 60 ปี

เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นที่อังกฤษ เพียงแต่เจ้าของร่างนั้นเหลือแต่โครงกระดูก และไม่ได้เป็นผู้ต้องหาคดีอาชญากรรม เขาใช้ชีวิตอยู่ในฐานะของมนุษย์ประหลาดร่างยักษ์ ในยุคศตวรรษที่ 18 เพราะส่วนสูงที่เกินธรรมดา 

ชาร์ลส์ เบิร์น หรือ ชาร์ลส์ โอ’ไบรอัน (ตามข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อ-สกุลเดิมของเขา) เกิดในปี ค.ศ.​1761 ในครอบครัวคนงานทอผ้า เขาเติบโตอยู่ทางตอนเหนือไอร์แลนด์ พ่อแม่ของเขาไม่ได้สูงเด่นเป็นพิเศษ แต่ตัวเขาเองกลับสูงเกินหน้าคนธรรมดาไปมาก

ด้วยความสูงที่ผิดธรรมดานี้เอง ทำให้ เบิร์น ในช่วงวัย 20 ปี ตัดสินใจออกไปแสวงหา “ชื่อเสียงและความมั่งคั่ง” ที่อังกฤษ กลายเป็นนักแสดงโชว์ที่มีผู้คนมากมายจ่ายเงินเพื่อมาดูเขา ผู้ได้รับฉายาว่า “ยักษ์ใหญ่ชาวไอริช”

ชาร์ลส์ เบิร์น (กลาง) ขนาบข้างด้วยชายร่างสูงชาวไอริชอีกสองราย ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของพี่น้องฝาแฝดสกุลไนป์

ในยุคนั้น มีคนประเมินและบันทึกความสูงของเขาไว้ระหว่าง 8 ฟุต 2 นิ้ว ถึง 8 ฟุต 4 นิ้ว หรือประมาณ 2.49-2.54 เมตร

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาเสียชีวิต ได้มีการประเมินความสูงจากโครงกระดูกของเขา เบิร์น จึงเป็นเจ้าของความสูงอย่างเป็นทางการที่ 7 ฟุต 7 นิ้ว หรือ 2.31 เมตร

เบิร์น เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1783 ในวัยเพียง 22 ปี ด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัด กล่าวกันว่าเขาได้ขอร้องให้เพื่อน ๆ ช่วยนำร่างของเขาไปฝากในมหาสมุทร เพราะเขาไม่ต้องการให้ใครนำร่างของเขาไปใช้ โดยเฉพาะบรรดานักกายวิภาคศาสตร์ หรือกลุ่มคนที่ต้องการนำร่างของเขาไปศึกษาด้วยการผ่าชำแหละและอื่น ๆ 

ทว่า คำขอร้องของเขาไม่ได้รับการตอบสนอง เพื่อนของ เบิร์น ขายร่างของเขาในราคา 500 ปอนด์ แก่ จอห์น ฮันเตอร์ ศัลยแพทย์และนักกายวิภาคศาสตร์ชาวอังกฤษ จากนั้น โครงกระดูกของ เบิร์น ก็กลายเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ของ ฮันเตอร์ และถูกนำออกจัดแสดงในบ้านของนายแพทย์ในย่านเลสเตอร์ สแควร์ กรุงลอนดอน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ฮันเตอเรียม โดยมีโครงกระดูกของ เบิร์น เป็นจุดดึงดูดผู้ชม ซึ่งเคยมีจำนวนเฉลี่ยต่อปีเป็นจำนวนมากถึง 80,000 คน

ต่อมาอีก 240 ปีให้หลัง คณะกรรมการดูแลพิพิธภัณฑ์ฮันเตอเรียน ได้ประกาศว่าจะนำโครงกระดูกของ เบิร์น ออกจากการจัดแสดงภายในเดือน ม.ค. นี้ เพราะเป็นการกระทำที่ “ไม่เหมาะสม” ในยุคสมัยปัจจุบัน และเพื่อให้ เบิร์น ได้สมหวังตามคำขอครั้งสุดท้ายของเขา ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่ และจะเปิดทำการอีกครั้งในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้

แต่อนาคตของโครงกระดูกของ เบิร์น จะไปจบลงที่ไหนนั้น ยังไม่แน่ชัด ขณะนี้มีทั้งกลุ่มที่เรียกร้องให้ส่งโครงกระดูกของเขา “กลับบ้าน” คืนไปยังไอร์แลนด์ และกลุ่มนักวิชาการที่มองว่าควรนำโครงกระดูกของเขามาศึกษาต่อ จะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่า เนื่องจากเคยมีการวิเคราะห์ว่า เบิร์น ป่วยเป็นเนื้องอกในสมองชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้มีการหลั่งโกรทฮอร์โมนมากเกินไป จนทำให้เขามีรูปร่างสูงใหญ่ รวมถึงพบพันธุกรรมกลายพันธุ์ที่หายาก โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาโครงกระดูกและจากดีเอ็นเอที่สกัดจากฟันของเขา

ระหว่างที่ยังไม่ได้บทสรุป ทางพิพิธภัณฑ์ฮันเตอเรียนจะเป็นผู้เก็บรักษาโครงกระดูกของ เบิร์น เอาไว้ก่อน โดยพร้อมที่จะเปิดให้นำไปใช้ในกรณีศึกษา โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงเท่านั้น.

แหล่งข้อมูลเครดิตภาพ : nytimes.com, en.wikipedia.org, Board of Trustees of the Hunterian Collection