ในในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha), สายพันธุ์เบต้า (Beta), สายพันธุ์เดลต้า (Delta) หรือจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ก็ตาม แต่เคยสังเกตกันไหมว่า ภายหลังจากที่มีอาการป่วย หลายๆ คนกลับพบอาการผมร่วงตลอดระยะเวลา 1-2 สัปดาห์!

วันนี้ Healthy Clean จึงพามาพูดคุยกับ พญ.ชินมนัส เลขวัต และ รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยว่า โรคผมผลัดเป็นภาวะผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 มีคำนิยามคือ ผมร่วงมากผิดปกติ (มากกว่า 100 เส้น/วันแต่ไม่มากเกิน 50% ของผมทั้งศีรษะ) ในระยะเวลา 2-3 เดือนภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 แต่ในบางรายอาจจะเกิดได้เร็วประมาณ 1.5 เดือน ภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ภาวะโรคผมผลัดโดยปกติแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคผมผลัดที่เป็นเฉียบพลัน (Acute telogen effluvium) และโรคผมผลัดที่เป็นเรื้อรัง (Chronic telogen effluvium)

จากการศึกษาในต่างประเทศ พบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 เกิดโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อประมาณร้อยละ 25 ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลของผู้ป่วยในประเทศไทยที่พบร้อยละ 23 นอกจากโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 โรคผมผลัดอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น เกิดภายหลังจากเกิดภาวะการเจ็บป่วยที่เป็นมาก, มีภาวะเครียดมากหรือการขาดสารอาหาร หรือเป็นโรคไทรอยด์หรือการรับประทานยาบางอย่าง โดยอาการอาจเป็นชั่วคราวหรือเป็นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

แนวทางการดูแลรักษา ภาวะผมร่วงภายหลังการติดเชื้อ Corona Virus Disease 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 นานเกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป (Long-COVID-19) ส่วนใหญ่เกิดจาก “โรคผมผลัด (Telogen effluvium)” เนื่องจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและมีการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่รากผม ซึ่งส่งผลต่อวงจรชีวิตของผม ทำให้มีการเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้มากกว่าปกติ นอกจากโรคผมผลัดแล้ว ยังมีรายงานผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) ที่เกิดขึ้นใหม่หรือในผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมากอยู่แล้วมีอาการมากขึ้นภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภาวะเครียดจากการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามพบว่า ในรายงานการศึกษาที่รวบรวมผู้ป่วยจำนวนมากพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นน้อย ไม่พบว่ามีอาการมากขึ้นภายหลังการติดเชื้อโควิด-19

สำหรับ การวินิจฉัยโรคผมผลัด ส่วนใหญ่การวินิจฉัยขึ้นกับประวัติและการตรวจร่างกาย โดย 1.ประวัติ ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงมากผิดปกติหลังจากที่พบเชื้อโควิด-19 ประมาณ 1.5-2 เดือน ซึ่งค่อนข้างเร็วกว่าภาวะผมผลัดจากสาเหตุอื่น แต่ในบางรายอาจมีอาการในระยะเวลานานกว่า 3 เดือนหลังการติดเชื้อโควิด-19 ถ้าผู้ป่วยมีผมร่วงหลังจากที่เป็นโรคโควิด-19 เกิน 6 เดือน อาจจะต้องแยกโรคผมผลัดที่เกิดจากสาเหตุอื่น

อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นอื่นร่วมด้วยได้ แพทย์ผู้ตรวจรักษาจึงควรซักประวัติและควรตรวจหนังศีรษะ, รากผม, เส้นผมและเล็บ ด้วย โดยเฉพาะ
1.อาการของผมร่วง วันที่เริ่มมีอาการ, ระยะเวลาที่ผมร่วง, ปัจจัยกระตุ้นอื่น
2.ลักษณะของผมร่วง จำนวนผมที่ร่วงต่อวัน, ลักษณะผมร่วงเป็นแบบหลุดจากโคนหรือผมขาด
3.ประวัติทางการแพทย์ ประวัติการเจ็บป่วยล่าสุดหรือเรื้อรัง, การผ่าตัดใหญ่, น้ำหนักลดมากในระยะเวลารวดเร็ว, การจำกัดอาหาร, การคลอดบุตร, ประจำเดือนมามาก, โรคไทรอยด์, โรคแพ้ภูมิตัวเอง
4.ภาวะเครียดทางจิตใจ
5.ยารับประทานบางชนิด เช่น ยาคุม, ยารักษาโรคไทรอยด์, ยากันชัก, ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants), ยารับประทานวิตามินเอ (Oral retinoids), ยาทางจิตเวชชนิด Mood stabilizers และ Anti-depression และประวัติการสัมผัสสารพิษ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อน เพื่อพิจารณาว่ายาเป็นสาเหตุหรือไม่ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนชนิดยาเอง

การดูแลรักษาโรคผมผลัดที่สำคัญที่สุดคือ การหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุ ถ้ามีปัจจัยกระตุ้นอื่นนอกเหนือจากภาวะเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็ควรจะรักษาร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะผมร่วงภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีปัจจัยอื่น โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีโรคผมผลัดมักหายได้เองหลังจากสาเหตุหมดไปแล้วประมาณ 3-6 เดือน ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจจะหายได้เร็วกว่าที่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย, แนะนำเทคนิคในการพรางผมบาง และการติดตามการรักษามีส่วนช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลลดลง

ทั้งนี้ ก็ควรดูแลสุขภาพให้ดีแบบองค์รวมร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด ในกรณีผมไม่หยุดร่วงใน 6 เดือน หลังจากที่หายจากโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้วหรือถ้าผมร่วงมากเกินร้อยละ 50 ของผมบนศีรษะหรือมีอาการผมร่วงจนหมดศีรษะอาจเป็นโรคอื่น เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อมที่มีอาการรุนแรง แพทย์ควรส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยและรักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อติดตามการรักษา..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”