ประชาชนทั่วประเทศที่ติดตามการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เห็นและรู้อย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมาเพื่อการอยู่รอดและเพื่อการเอาชนะต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการใช้ทุกอย่างที่มี และถ้าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะมีการทำทุกอย่างเพื่อให้เลือก ส.ส. ของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพื่อที่จะเป็น “นั่งร้าน” ให้ “บิ๊กตู่” ก้าวขึ้นไปสู่ “หอคอยงาช้าง” เป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 ก็มีความเป็นไปได้

ดังนั้น พรรคที่ “นายทุน” หรือ “กลุ่มทุน” ให้การอุ้มชู จึงเป็นพรรคที่ได้เปรียบในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สำคัญการสร้างพลังดูด ส.ส. มาเข้าสังกัดพรรค ที่เรียกว่าเป็นการ “ตกปลาในบ่อเพื่อน” มีการใช้ยุทธปัจจัยต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อ “แลกเปลี่ยน” ในการ “เปลี่ยนพรรค” จึงไม่แปลกที่หลายพรรคการเมือง ทั้งที่เป็นพรรคที่มีอยู่แล้ว และพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งไข่ จึง “จัดทัพ” มุ่งหน้ามายัง “ภาคใต้” ที่เป็น “ฐานที่มั่นสุดท้าย” ของ “พรรคประชาธิปัตย์” โดยมองว่า “ภาคใต้” เป็น “จุดอ่อน” ของการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันในสนามของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่มั่นที่เข้มแข็งทั้งในเรื่องทุนและคนที่เป็น ส.ส. มีบางพรรคที่เพิ่งตั้งไข่และตกปลาในบ่อเพื่อน ถึงกับออกมาพูดว่า ภาคใต้พรรคเราได้ ส.ส. ตามที่ต้องการแน่ โดยประเมินว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทั้งกระแสและกระสุน และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็น “หัวหน้าพรรค” ที่แม้แต่คนในพรรคก็มองว่า “ไร้เสน่ห์” ทุกพรรคจึงหมายมั่นปั้นมือที่จะเข้ามาแชร์ตลาด ส.ส. ในภาคใต้ ซึ่งมีที่นั่งอยู่ 58 ที่นั่ง

ส่วนจะเป็นการประเมินที่ถูกต้องหรือผิดพลาด อย่างไร ในการเลือกตั้งครั้งนี้ล้วนเป็นผลดีกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยิ่งมายิ่งเด่นชัดว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคที่เข้ามาเพื่อ “ล้มประชาธิปัตย์” ใช้กลยุทธ์หรือยุทธวิธี แบบไหน เช่น บางพรรคที่เป็นพรรค “คู่แข่ง” เดิม ใช้วิธี “สะสมกระสุน” โดยไม่สนใจ “กระแส” เพื่อการ “ยิงสลุต” อย่างเดียว ส่วนพรรคใหม่บางพรรคก็ใช้บริการคนของ “ประชาธิปัตย์” ที่ถูกดูดออกไป ทำการแย่งชิงกลุ่มหัวคะแนน โดยนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มนี้ เป็นไผ่กอเดียวกับประชาธิปัตย์ ที่ทำตัวเป็น “ด้ามพร้า” เพื่อ “ฆ่ากอไผ่” ที่เป็นที่มาของตนเอง

ดังนั้นเจ้าถิ่นอย่าง “ประชาธิปัตย์” จะแก้เกมอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ ต้อง “ปิดประตูแพ้” ใน “ภาคใต้” ด้วยการที่จะต้องได้ ส.ส. อย่างน้อย 35 ที่นั่ง หรือทั้งประเทศทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
จะต้องได้ 80 เป็นอย่างต่ำ ที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” มีการถอดบทเรียนของการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่เป็นบทเรียนสำคัญ และทำการปิดจุดอ่อนทุกจุดที่เคยผิดพลาดมา

ครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” ไม่ใช่ “ตะเกียงที่ขาดน้ำมัน” และไม่ใช่พรรคการเมืองที่ขาด “ขุนพล” เพราะได้ “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นขุนพล ที่ทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็น “หัวใจ” ในการขับเคลื่อน ตั้งแต่การจัดทัพจนถึงการออกรบในสนามของการเลือกตั้ง ซึ่ง “นิพนธ์” มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่สามารถอ่านทิศทางและแก้เกมในการเลือกตั้ง มองไพ่ของคู่ต่อสู้ได้อย่าง  “ปรุโปร่ง”

วิธีการหนึ่งของ “นิพนธ์” ที่ใช้มาตั้งแต่ “การเมือง” เข้าสู่ “โหมดการเลือกตั้ง” คือการปลุกพลังให้ลุกขึ้นมาสู้ของสาขาพรรค และสมาชิกพรรค ตามครรลองของประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความสุจริต และความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคการเมืองเดียว ที่ไม่มีนายทุนเข้ามาสั่งการให้ซ้ายหัน-ขวาหัน แต่เป็นพรรคการเมืองของทุกคน

สำหรับ “จุรินทร์” แม้จะถูกมองว่าเป็น “หัวหน้าพรรค” ที่ไร้เสน่ห์ แต่ “จุรินทร์” เป็นนักการเมืองคุณภาพที่มีฝีมือในการบริหารบ้านเมือง เป็นผู้ที่วางนโยบายในการแก้ปัญหาในระยะยาว ที่ผ่านมาไม่ว่า “จุรินทร์” ไปเป็น “เจ้ากระทรวง” ไหน ก็จะมีนโยบายของการพัฒนา ที่ได้ผลและยั่งยืน ดังนั้นการไร้เสน่ห์กับการเป็นผู้ที่มีคุณภาพ ต้องแยกให้ออกว่า สุดท้ายในการเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ เราจะเลือกคนที่มีเสน่ห์ แต่ไร้คุณภาพ หรือเราจะเอาคนที่มีคุณภาพ เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ

จุดแข็งของ “ประชาธิปัตย์” ในสนามเลือกตั้งภาคใต้คือการมีกระแสพรรค ซึ่งสำนักที่ทำโพลทุกพรรคยืนยันได้ว่า “ภาคใต้” กระแสของประชาธิปัตย์ สูงกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญ “ประชาธิปัตย์” ยังมีขุนพลอย่าง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่เหมาะกับการต่อกรกับพรรคคู่แข่งที่หวังเข้ามาล้มประชาธิปัตย์ อย่าง “เดชอิศม์ ขาวทอง” ที่ครั้งนี้ต้องแสดงพลังของเครือข่ายทางการเมืองในภาคใต้ และเครือข่ายผู้สนับสนุนเพื่อนำประชาธิปัตย์ให้ได้ที่นั่ง 35 ที่นั่งขึ้นไป เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการตัดสินอนาคตทางการเมืองครั้งสำคัญในชีวิตการเป็น “นักการเมือง” ของ “นายกชาย” ด้วยนั่นเอง

ดังนั้น พรรคการเมืองที่คิดว่า “ป้อมค่าย” ของประชาธิปัตย์จะ “ตีแตก” ได้ง่าย ๆ ก็ต้องทำการบ้านให้หนัก เพราะ “ประชาธิปัตย์” คือสายเลือดคนปักษ์ใต้.