พบการเปลี่ยนแปลงที่เคยเผยแพร่ข้อมูลตัวเลขสถิติและแนวคิดเสริมการพยากรณ์ว่าอะไรบ้างที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้และอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หลังการเลือกตั้งได้แก่ คะแนนนิยมต่อบุคคลนัยสำคัญทางการเมือง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอื่น ๆ ที่พบคะแนนนิยมเป็นไปตามธรรมชาติของหลักความเป็นจริงทางการเมือง ความต้องการของประชาชน และปัจจัยชนะ

เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ผมได้มีโอกาส “เปิดใจประชาชน” โดยทำสำรวจ ครบรอบ 2 ปีรัฐบาลบิ๊กตู่ และ คสช. กับข้อเท็จจริงของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ในเวลานั้น รัฐบาลและ คสช. กำลังเผชิญกับความนิยมที่เป็นไปตามกฎแห่งการลดน้อยถอยลง (Law of Diminishing Returns) คล้าย ๆ กับการรับประทานไอศกรีมที่จะอร่อยชื่นใจในคำแรก ๆ แต่เมื่อรับประทานหลาย ๆ คำเข้าไปจะให้อร่อยชื่นใจเหมือนคำแรก ๆ คงยาก เพราะในห้วงเวลานั้น ร้อยละ 46.5 หรือไม่ถึงครึ่ง ที่ให้โอกาส คสช. แก้ปัญหาประเทศต่อไปอีก และเคยกล่าวถึงระบบราชการที่จะมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่านักการเมืองเสียด้วยซ้ำ อ้างอิง https://d.dailynews.co.th/politics/399234/

ล่าสุด ในการสำรวจช่วงปลายปีที่ผ่านมา คนไทยชู “อนุทิน” แคนดิเดตนายกฯ “บิ๊กตู่” รั้งท้ายอันดับ 4 ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ “เปิดใจคนไทยอนาคตการเมือง” พบประชาชนต้องการให้รัฐบาลในอนาคต แก้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องเร่งด่วน “บิ๊กตู่” รั้งท้ายคะแนนตกฮวบ อ้างอิง https://www.dailynews.co.th/news/1777367/ ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังเจอจะเป็นอะไรที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ตัดสินใจเลือกตั้งโดยพบว่า ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพ อาชีพ การแก้ปัญหาสุขภาพ ค่าใช้จ่ายน้อย เข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีได้ง่าย อยู่ใกล้และสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สิน พักหนี้ ปลดหนี้ เป็นความต้องการสำคัญอันดับต้น ๆ ของประชาชน เป็นปัญหาเดิม ๆ ในเกือบทุกยุคทุกรัฐบาลที่ยังคงรอการทำงานของผู้อาสามาเป็นรัฐบาลที่ตอบโจทย์และให้ตรงเป้าหรือจำเป็นต้องเร่งบริหารจัดการอารมณ์ของสาธารณชนและภาพลักษณ์ของผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านกระบวนการปฏิบัติการข้อมูลทางการเมือง

ที่น่าพิจารณาคือในการสำรวจก่อนหน้านี้ประมาณเดือนตุลาคม 2565 พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงยืนหนึ่งตัวเต็งที่ประชาชนวางใจ จึงสะท้อนให้เห็นว่า กระแสความนิยมทางการเมืองมีขึ้นมีลงตลอดเวลา อยู่ที่ปัจจัยชนะสำคัญในการเลือกตั้งที่เคยค้นพบหลังจากเปิดใจประชาชน ว่ามีนัยสำคัญทางสถิติพอ ๆ กัน ระหว่าง กระแส กับ กระสุน คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.8 ตอบ กระแส สำคัญ ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.8 ตอบ กระสุน (เงิน และผลประโยชน์อื่น ๆ ) ก็สำคัญ เช่นกัน อ้างอิง https://www.dailynews.co.th/news/1583481/

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลข้อมูลผลสำรวจทุกครั้งที่ผ่านมา พบว่า ภาพอนาคตหลังการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ ภาพแรก เป็นภาพของ พรรคฝั่งอนุรักษนิยม ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และอื่น ๆ รวมกันชนะอีกฝั่งหนึ่ง รวมกับ เสียงของ ส.ว. ก็จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผ่านพ้นไปได้ไม่มีอะไรสะดุดได้รัฐบาลแบบเดิม แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลก็เป็นได้ ภาพที่สอง เป็นภาพของ แพแตก ของฝั่งอนุรักษนิยม ไปรวมกับอีกฝั่งหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล คือ เพื่อไทยรวมกับบางพรรคของฝั่งอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาลแต่คงมีระยะเวลายืนยาวเพื่อตกลงหาผู้นำรัฐบาลคนใหม่ และ ภาพที่สาม อยู่ระหว่างการสร้างโมเดลของซูเปอร์โพล

 กล่าวโดยสรุป เมื่อคณะทำงานซูเปอร์โพล เปิดใจประชาชน แล้วสามารถสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงทางการเมืองจากใจของประชาชนบางประการที่สำคัญคือ ความนิยมของประชาชนลดลงเป็นไปตามกฎแห่งการลดน้อยถอยลง (Law of Diminishing Returns) ที่ว่ายากจะฝืนกฎนี้ไปได้ ฝ่ายการเมืองจึงน่าจะนำใจของประชาชนมาพิจารณาเอานโยบาย ขจัดทุจริตคอร์รัปชั่น และความต้องการของประชาชนเป็นธงนำชนะเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสงบมั่นคงไร้รอยต่อและสะท้อน “การเมืองใหม่” ที่มีกลไกแห่งความเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนทุกหมู่เหล่า ลดความขัดแย้งของคนในชาติได้แท้จริง แต่ใครเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งอยู่ที่ว่า แพฝั่งอนุรักษนิยมจะแตกหรือไม่.

ผศ.ดร.นพดล กรรณิภา นักวิชาการอิสระ