…นี่เป็นสถานการณ์ที่ทำให้มี “วิกฤติคนไข้ล้นโรงพยาบาล” ที่ทาง เครือข่ายวิจัย สวรส. ฉายภาพไว้ ผ่าน 2 ชุดโครงการ คือ “แนวทางและความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาในชุมชน” และโครงการ “การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ” ที่ต้องการจะศึกษาถึง “ความเป็นไปได้” ในการ“แก้วิกฤติ” นี้…

เพื่อจะ “ลดความแออัดโรงพยาบาลรัฐ”

“กลไกที่ถูกคาดหวัง” คือ “ร้านยาชุมชน”

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ สวรส. เผยไว้ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ โดยสังเขปมีว่า… สถานการณ์ความแออัดในโรงพยาบาลที่มีแต่เพิ่มขึ้นนั้น หากระบบสุขภาพยังไม่สามารถบริหารจัดการการดูแลสุขภาพปฐมภูมิได้ดีเท่าที่ควร ก็จะเผชิญวิกฤติคนไข้ยิ่งล้นแน่นอน ซึ่งผลศึกษาโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ พบว่า ในปี 2560 จำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศอยู่ที่กว่า 200 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 2 ใน 5 ที่จำเป็นต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล ที่เหลือเป็นผู้ป่วยที่สามารถรับบริการที่ศูนย์บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้

จากผลศึกษานี้ทำให้เกิด “แนวคิดลดความแออัด” โดยเมื่อมีโควิด-19 ก็มีการใช้แนวทางลดความจำเป็นในการไปโรงพยาบาลในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการไม่เร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ใช้คือให้คนไข้ไป “รับยาที่ร้านยา” และจากแนวทางดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิด “ยกระดับบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพเภสัชกร” ที่จะไม่ใช่แค่การจ่ายยาตามใบสั่งยาเท่านั้น เพราะ“ร้านยา” ก็เปรียบเป็น “สถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ” ที่มีความสำคัญต่อประชาชน…

“ร้านยาอยู่ใกล้ชิดประชาชน และกระจายอยู่ในชุมชนทั่วทุกพื้นที่ จึงมีความสะดวกในการใช้บริการ ไม่ต้องเสียเวลานานในการรอรับบริการ นอกจากนี้ร้านยายังเป็นสถานที่ปฏิบัติการด้านวิชาชีพที่สำคัญของเภสัชกร”…นี่เป็นความสำคัญที่ทาง ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ได้ระบุไว้…กับ “บทบาทร้านยาชุมชน”

และยังมีการระบุไว้อีกว่า… การรับยาที่ร้านยา นอกจากช่วย “ลดความแออัดในโรงพยาบาล” ยังช่วย “เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย” อีกทางด้วย ซึ่งบทบาทการดูแลสุขภาพโดยเภสัชกรร้านยาถือเป็นการจัดการให้เกิดระบบที่มีการใช้ทั้งทรัพยากรและบุคลากรในระบบสุขภาพอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพราะเภสัชกรไม่ใช่เป็นแค่เพียงคนขายยา แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยาที่สามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วยต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นแนวคิดที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการใช้ศักยภาพเภสัชกรร้านยาให้เต็มที่ จึงเป็นอีกทางเลือกที่สามารถช่วยลดภาระบุคลากรและลดความแออัดของโรงพยาบาลได้…

อย่างไรก็ตาม ดร.ภญ.นพคุณ ยอมรับว่า… แม้ปัจจุบันเภสัชกรร้านยาจะมีความตื่นตัว และพัฒนาบทบาทด้านการบริบาลทางเภสัชกรรมมากขึ้น แต่เภสัชกรและร้านยาชุมชนก็จำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นและได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากระบบ โดยผลศึกษาพบว่า… เพื่อให้เกิดการให้บริการในระดับปฐมภูมิที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เภสัชกรร้านยาชุมชนจะต้อง “รู้ความต้องการประชาชน” รวมถึง “รู้ปัจจัยและสาเหตุ” ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน ที่เลือกมารับยาที่ร้านยา

ทางด้าน ผศ.ดร.สมหมาย อุดมวิทิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกหนึ่งนักวิจัยเครือข่ายวิจัย สวรส. ระบุไว้ว่า… “ร้านยาชุมชน” สามารถ “มีบทบาทการให้บริการมากกว่าการขายยา” โดยสามารถให้บริการด้านสุขภาพต่าง ๆ ได้ เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เป็นต้น นอกจากนี้ บางร้านยาอาจจะมีการจัดทำสมุดบันทึกประวัติผู้ป่วย หรือช่วยคัดกรองโรคเบื้องต้น และสามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยในกรณีที่อาการไม่รุนแรง เช่น เบาหวาน ความดันสูง รวมถึงสามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพกับประชาชนได้ด้วย อาทิ การคุมกำเนิด เป็นต้น …นี่เป็นบทบาท “ร้านยาชุมชน”…

ที่ “มีศักยภาพมากกว่าเพียงแค่จ่ายยา”

สำหรับสิ่งที่ควรผลักดันต่อไปคือ ให้ร้านยามีบทบาทเพิ่มเติม เช่น ตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น รวมถึง ดูแลต่อเนื่องในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มมารับยาที่ร้านยาคือ โรงพยาบาลแออัด รอรับยานาน รองลงมาคือ มีร้านยาใกล้บ้านร่วมโครงการ และ ประหยัดเวลา-ค่าใช้จ่าย จากการที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

ทั้งนี้ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” นั้น ผศ.ดร.สมหมาย เสนอว่า… ควรขยายบริการร้านยาชุมชนให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยคัดกรองและให้คำปรึกษา ซึ่งที่ควรให้ความสำคัญอันดับแรก ๆ คือ คัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น ปวดหัว ตัวร้อน โรคผิวหนัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และดูแลฉุกเฉินต่าง ๆ เกี่ยวกับยา นอกจากนี้ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เรื่องการให้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหารอรับยานาน ซึ่งหากพัฒนาระบบให้ตอบสนองความต้องการได้มากขึ้น มีการเชื่อมต่อเครือข่ายอย่างเป็นระบบ นี่ไม่เพียงดีต่อโรงพยาบาลและคนไข้ ยังจะทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งด้วย

ก็ “น่าสนใจ”…วิธี “แก้โรงพยาบาลล้น”

ด้วยการ “ยกระดับเภสัชกร-ร้านยา”…

“ดูแลสุขภาพในชุมชนมากกว่าเดิม”.