“ไอติม” หรือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ ที่อาจไม่ได้ “ถอดด้าม” สนามเลือกตั้งแรก แต่ก็จัดเป็นกลุ่มหน้าใหม่ในกระแสการเมืองที่โดดเด่น จากอดีตสังกัดพรรคสีฟ้า อย่างประชาธิปัตย์ เปลี่ยนมาสังกัดพรรคสีส้ม กับบทบาทผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ด้านหนึ่งอาสาเป็น “ตัวเลือก” แต่อีกด้านต้องยอมรับในฐานะคนรุ่นใหม่ “พริษฐ์” มีมุมมองภาพการเมืองในอนาคตที่น่านำมาแลกเปลี่ยนกัน
“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” วันนี้ ขอนำส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ “เดลินิวส์ ทอล์ก” มีโอกาสพูดคุยกับ “พริษฐ์” มาถ่ายทอด กับประเด็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นความสนใจ กระทั่งเข้าสู่วงการเมือง ไปจนถึงจุดยืนในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้หยุดแค่การเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
“พริษฐ์” เริ่มต้นบอกเล่าว่า การเมืองเป็นสิ่งที่สนใจตั้งแต่สมัยเรียน เพราะเห็นปัญหาหลายอย่างของประเทศที่อยากให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการศึกษา ประชาธิปไตยที่ไม่เข้มแข็ง ความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเชื่อมั่นว่า หนทางแก้ไขที่น่าจะยั่งยืนที่สุด สามารถแก้ได้ที่ต้นตอตัวกฎหมาย ที่การจัดสรรงบประมาณก็ต้องเป็นการแก้ไขผ่านการเมืองในระบบรัฐสภา
และแม้จะสนใจการเมือง แต่หลังจบการศึกษาก็เลือกไปสั่งสมประสบการณ์กับเอกชน ด้วยการไปเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ ทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาให้กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนหลายประเทศทั่วโลก ก่อนลาออกจากงานประจำ และลงสนามการเมืองครั้งแรกในปี 62 กับพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม จากจุดยืนที่คิดว่าจะมีชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อทิศทางไม่ตรงกัน โดยเฉพาะการกลับลำเข้าร่วมรัฐบาล ทำให้ต้องลาออกมา ระหว่างนั้นจึงมีโอกาสไปทำงานด้านการศึกษา
จุดยืนประชาธิปไตย จุดยืนประเทศไทยในฝัน?
เพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ควรมาจากกติกาที่เป็นประชาธิปไตย นั่นคือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ปี 60 ฉบับปัจจุบัน ที่ร่างโดยคนไม่กี่คน ทำให้แม้จะผ่านการทำประชามติ แต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยที่เสรี เป็นธรรม เนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล เช่น วุฒิสภามีอำนาจเข้ามาเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งโดย ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. อีกต่อหนึ่ง ดังนั้น แม้เป็นช่วงพักไปทำงานประจำ แต่ยังพยายามมีบทบาทผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หนึ่งในเหตุผลที่ตัดสินใจร่วมชายคาใหม่ “พริษฐ์” รับว่า มาจาก “ภาพประเทศไทยในฝัน” ที่ตรงกันคือ มีทั้งระบบและวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย หากให้สรุปปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมี 3 ข้อหลัก คือ 1.ขีดความสามารถแข่งขัน 2.ความเหลื่อมล้ำ 3.การสืบทอดอำนาจ ชุดนโยบายที่พยายามพัฒนาจึงอยู่ภายใต้กรอบการแก้ไข 3 ปัญหาหลักนี้ จะทำอย่างไรให้ การเมืองดี ปากท้องดี ประเทศมีอนาคต
“การเมืองดี” มี 4 วาระต้องขับเคลื่อนคือ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขปัญหาทุจริต และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่ “ปากท้องดี” เรื่องนี้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ารุนแรงแล้ว แต่หากไม่ทำอะไรจะยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะเทคโนโลยีจะทำให้คนตกงานเยอะ หรือกระทั่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อาจส่งผลต่อรายได้ ยกตัวอย่าง โลกร้อนที่อาจนำไปสู่ภัยพิบัติบ่อยขึ้น การฟื้นตัวจากโควิดจึงยิ่งยากกว่าเดิม
“ประเทศมีอนาคต” ต้องปรับระบบการศึกษา ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำ คุณภาพ ภาระครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน สะท้อนผ่านสถิติที่ชี้ว่า เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้น ๆ จากชั่วโมงเรียนที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบทักษะ กลับมีหลายอย่างตามหลัง
“ทั้งที่เด็กเรียนเยอะมาก ใส่แรงไปเยอะมาก ใส่เวลาไปเยอะมาก แต่ระบบไม่สามารถแปลงความขยันเป็นทักษะไปสู้กับนานาชาติได้ ซึ่งสะท้อนว่ามีปัญหาจากระบบจริง ๆ”
เมื่อถามถึงทิศทางการเมืองหลังเลือกตั้งไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ต่อหรือไม่ แรงกระเพื่อมจากนี้จะเป็นอย่างไร “พริษฐ์” เผยว่า ไม่ว่าใครจะมีโอกาสมาเป็นนายกฯ ใครมีโอกาสได้ตั้งรัฐบาล ก็หวังให้เกณฑ์การตัดสินมาจากเสียงประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ ส.ว. เข้ามาแทรกแซงกระบวนการเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลได้ หมายความว่าหากพรรคการเมืองใดอาจมากกว่าหนึ่งพรรค สามารถรวบรวมเสียงได้เกินครึ่งหนึ่งของสภา ส.ว. ก็ต้องเคารพมติประชาชน และโหวตให้กับเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนสะท้อนมา
พร้อมชี้ 3 ข้อที่ทำให้มั่นใจว่าสิ่งดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้คือ 1.ปิดสวิตช์ ส.ว. ให้ได้ก่อนการเลือกตั้งจะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันทราบว่า พรรคเพื่อไทยยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ 2.ทำอย่างไรให้ ส.ว. ทุกคนออกมาประกาศว่า จะไม่เข้ามาแทรกแซงการตั้งนายกฯ และรัฐบาล จะเคารพมติประชาชน หาก ส.ว. ทุกคนไม่ประกาศออกมาให้ชัด เสียงของ ส.ว. อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองได้
3.ตราบใดที่พรรคยึดหลักประชาธิปไตยจับมือกันแน่นได้เกิน 250 เสียง ส.ว. ก็ไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ และรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะแม้ ส.ว. จะบวกเสียงส่วนน้อยของสภา เลือกใครมาเป็นนายกฯ แต่คนๆ นั้นไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะไม่ได้มีเสียงส่วนใหญ่ของสภา ผ่านงบประมาณไม่ได้ ผ่านกฎหมายไม่ได้ก็จะถอยลงไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น หาก 250 เสียงจะกอดกันแน่นเพื่อปฏิเสธการสืบทอดอำนาจจากกลไกที่วางไว้ แม้ ส.ว. ใช้อำนาจก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพได้
เมื่อถามถึงพลังของ New Voter จะสามารถเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ “พริษฐ์” ระบุ ส่วนตัวมองว่าเสียงของคนทุกกลุ่ม ทุกรุ่น มีความหมาย เข้าใจดีว่าสำหรับ New Voter การลงคะแนนครั้งแรกน่าตื่นเต้น และการขอรณรงค์ให้ทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ออกมาใช้สิทธิอย่างท่วมท้น ลองดูว่านโยบายแต่ละพรรค นโยบายใดจะสร้างอนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ ลูกหลานได้มากที่สุด และลงคะแนนให้พรรคการเมืองนั้น
New Voter เป็นกลุ่มที่เราได้รับฟังปัญหาที่เค้าเผชิญมาตลอด ทั้งเรื่องการศึกษาและความพยายามว่าจบแล้วจะมีงานทำ หรือไม่ กระทั่งปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างโลกร้อน ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับคนรุ่นถัดไปมากกว่าคนรุ่นปัจจุบัน หากเรายังไม่ทำอะไร
ดังนั้น ที่ผ่านมาพยายามรับฟังปํญหาจากคนทุกรุ่น และพยายามนำเสนอชุดนโยบายที่จะตอบโจทย์คนทุกกลุ่มจริง ๆ และเป็นอีกเหตุผลที่เปิดนโยบายค่อนข้างละเอียด เพราะรู้คนแต่ละรุ่นมีปัญหาที่เผชิญต่างกัน จึงอยากให้เห็นว่า พยายามจะคิดคำตอบให้กับทุกปัญหาของคนทุกกลุ่มจริง ๆ
เป็นอีกมุมมองผ่านสายตาคนรุ่นใหม่กับการเมืองไทย ที่น่าจะร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ.