หมายความว่าบุคคลนั้นเป็นคนในพื้นที่ แต่ถ้ามีการย้ายพรรค ความนิยมตรงนี้ยังคงมีอยู่ และย้ายไปอยู่พรรคที่ประชาชนชอบด้วย ก็จะชนะการเลือกตั้งง่ายขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าย้ายไปอยู่พรรคที่ประชาชนไม่ชอบ การหาเสียงจะยากขึ้น และถ้าหากมองโดยภาพรวมแล้ว ความนิยมทางพรรคการเมือง ทั้งภาคอีสานยังคงเหมือนเดิม อย่างเช่น พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ถือว่าเป็นพรรคที่มีสิทธิชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. เป็นกอบเป็นกำมากที่สุด
ที่ จ.นครราชสีมา ถือว่ามี ส.ส. มากที่สุดในภูมิภาค เพิ่มขึ้นเป็น 16 เก้าอี้ 16 เขตเลือกตั้ง เมื่อการเลือกตั้งปี 62 (14 เก้าอี้) พลังประชารัฐ ครองแชมป์กวาด ส.ส. ได้มากที่สุด 6 เก้าอี้ เพื่อไทย 4 ภูมิใจไทย 3 และชาติพัฒนา 1 เก้าอี้ การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ “บ้านตาลคู่” วิรัช รัตนเศรษฐ ยังคงเป็น หน.ทีมพลังประชารัฐ แต่ต้องขับเคี่ยวกับ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ดีกรีเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ผนึกกำลังกับ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.คมนาคม ที่ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย พร้อมนำ 3 ส.ส. ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย ย้ายมาซบพรรคเพื่อไทย ที่ต่างฝ่ายต่างจัดทัพขุนพล สู้กันแบบถล่มทลาย ส่วนพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มี กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ผู้มากบารมีในเขตเลือกตั้ง อ.เมือง ในเขตเลือกตั้งที่ 1 และเขต 2 ที่คราวนี้ส่งน้องชายสุดเลิฟ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” ลงเขต 1 และ ส.ส. หนึ่งเดียวแชมป์ตลอดกาล 5 สมัย “ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์” คงจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้ใน 2 เขตเลือกตั้งนี้
ด้าน จ.บุรีรัมย์ …“บ้านใหญ่” ทางการเมือง ที่หมายถึง “กลุ่มเพื่อนเนวิน” เป็นพื้นที่ที่นักการเมืองพรรคอื่น พยายามบุกเข้ามาแต่ละครั้ง หวังจะแย่งพื้นที่ ส.ส. แต่ส่วนใหญ่มักจะผิดหวัง เพราะฐานที่มั่นที่กลุ่มเพื่อนเนวิน ฝังรากฐานมายาวนาน เรียกได้ว่าผู้ที่คิดจะมาลงพื้นที่ ต้องคิดให้ดีก่อนว่า จะมาทุ่มเพื่อเจาะชิงเก้าอี้ ส.ส. หรืออาจจะมาเจ็บตัวแล้วกลับบ้าน เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ทั้ง 8 เขต การเลือกตั้งของจังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กวาดที่นั่ง ส.ส. มาทั้งหมด คราวนี้เพิ่มเป็น 9 เขตเลือกตั้ง ถึงแม้จะมีกระแสพรรคการเมืองที่มาแรง อย่างพรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย หรือพรรคอนาคตใหม่ พยายามเข้ามาเบียดก็ตาม
ที่ จ.สุรินทร์ สถานการณ์การเมือง เมืองช้าง ดูจะยังไม่คึกคักมากนักในช่วงนี้ หลังจังหวัดสุรินทร์ได้รับการเพิ่มเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอีก 1 เขต จากทั้งหมดของเดิม 7 เขต เป็น 8 เขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เป็นการชิงเก้าอี้ของ 3 พรรคใหญ่ คือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และภูมิใจไทย ความเคลื่อนไหวของว่าที่ผู้สมัครแต่ละพรรคตอนนี้ยังคงสงวนท่าที เพื่อรอความชัดเจน ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่น่าจับตามองว่าในครั้งนี้ ยังคงเป็นการชิงเก้าอี้ ส.ส. ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “ภูมิใจไทย” เพียง 2 พรรคอย่างชัดเจนที่สุด
ส่วนที่ จ.ศรีสะเกษ เริ่มคึกคักโดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย ที่มีการเริ่มติดตั้งป้ายหาเสียงตามชุมชน/หมู่บ้าน ต่างฝ่ายต่างชูนโยบายเพื่อปากท้องพี่น้องประชาชนอยู่ดีมีสุข ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ จ.ศรีสะเกษ แบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 9 เขต จากเดิม 8 เขต ส่งผลทำให้ จ.ศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ที่พรรคการเมืองใหญ่หลายพรรค ต่างจับตามองในการลงสู้ศึกสนามเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้
จ.อุบลราชธานี พื้นที่ของคนเสื้อแดงอีกแห่งหนึ่ง “พรรคเพื่อไทย” ป้ายมาก่อนทุกพรรค กระแสมาแรง และเคยครองแชมป์การเลือกตั้งมี ส.ส.เขตมากที่สุด ทิ้งให้พรรคอื่นแค่ 1-2 ที่นั่งจาก 10 ที่นั่งเดิม ขุนพลพรรคเพื่อไทย “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองหัวหน้าพรรค คนดังในพื้นที่ ดูตามกระแสเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงนี้ พรรคเพื่อไทยคงจะกวาด ส.ส. ได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน ส่วนที่จะถูกแย่งเก้าอี้ ส.ส. ในพื้นที่ไปได้บ้าง อาจจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ที่ ส.ส. เดิมเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่มีฐานเสียงเหนียวแน่น ของ “อิสสระ สมชัย” ที่เปิดตัวย้ายมาซบพรรคภูมิใจไทย
และที่ จ.ชัยภูมิ เมื่อคราวเลือกตั้งปี 62 ขับเคี่ยวกันแค่ 2 พรรคการเมือง ใน 6 เขตเลือกตั้ง คือพรรคเพื่อไทย กวาดที่นั่งได้ไป 4 ที่นั่ง พลังประชารัฐ ได้ไป 2 ที่นั่ง ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ยากที่พรรคการเมืองอื่นจะมาเจาะไปได้ ส่วน จ.อำนาจเจริญ มี 2 เขตเลือกตั้ง เจ้าของพื้นที่นี้เป็นของพรรคเพื่อไทย ทั้งสองเขตคือเขตที่ 1 นางสมหญิง บัวบุตร เขตที่ 2 นายดนัย มหิพันธ์ และ จ.ยโสธร พื้นที่เดิมพรรคเพื่อไทย แชมป์เก่าทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง ติดป้ายนโยบายแน่นเมือง แต่ยังอุบไม่เผยว่าที่ผู้สมัครที่จะลงชิงชัยครั้งนี้.