แต่ก่อนถึงเวลานั้น “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสสอบถามมุมมองหลากหลายจากผู้ติดตามการเมืองไทย เพื่อร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ ไปจนถึงความคาดหวังกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดยวันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองจาก รศ.ดร.ยุทธพร  อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผ่าน 4 คำถามชวนคิด

เปรียบเทียบการเลือกตั้งปี 2562 กับปี 2566 ความเหมือนต่าง?

รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า การเลือกตั้งทั้งสองครั้ง สามารถวิเคราะห์ในมุมต่าง ๆ ได้หลายแง่มุม ประการแรกเริ่มจากบริบทแวดล้อมในการเลือกตั้ง บรรยากาศการเลือกตั้งปี 2562 คือการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารปี 2557 นั่นก็คือ 5 ปีก่อนหน้านั้นไม่มีการเลือกตั้งเลย จนมาถึงการเลือกตั้งในปี 2562 การเลือกตั้งในปีนั้น เรียกว่าบรรยากาศต่าง ๆ มีความเป็นประชาธิปไตยไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งหมด แต่ว่าบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยยังมีมากกว่า

ขณะที่ปี 2566 หลายอย่างเริ่มคลี่คลาย เช่น ไม่มีบทบาทอำนาจ คสช.ตามกฎหมาย ที่ต้องใช้ว่าตามกฎหมาย เพราะว่าในสภาพความเป็นจริงก็ยังมีอยู่ แต่ว่าตามกฎหมายไม่มีแล้ว และการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งมาหลายฉบับเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับแง่ของการเลือกตั้ง รวมทั้ง Primary vote ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า บรรยากาศการเลือกตั้งก็ต่างกัน

ประการที่ 2 คือ กติกาการเลือกตั้งที่ต่างกัน เพราะในปี 2562 ใช้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ขณะที่การเลือกตั้งในปี 2566 เป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “ระบบคู่ขนาน” คือมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบคู่ขนานกัน หมายถึงว่า บัตรใบหนึ่งเลือกคน ใบหนึ่งเลือกพรรค เหมือนกับในรัฐธรรมนูญปี 2540 กติกาเลือกตั้งก็คนละแบบที่มีความแตกต่างกัน

ประการที่ 3 เรื่องของพรรคการเมืองก็มีความแตกต่างเช่นกัน โดยปี 2562 พรรคการเมืองมีมากมายหลายพรรค ด้วยกฎกติกาเลือกตั้งนี่เอง ทำให้เกิดพรรคที่เป็นพรรคหน้าใหม่ บางพรรคก็ประสบความสำเร็จ บางพรรคก็กลายเป็นพรรคเล็กพรรคจิ๋ว บางพรรคก็หายไป แต่พอเลือกตั้งปี 2566 การเมืองเข้าสู่ระบบพรรคใหญ่ 2 พรรคมากขึ้น ซึ่งจะคล้ายกับปี 2540 และพอเป็นระบบพรรคใหญ่ 2 พรรค แน่นอนครั้งนี้พรรคการเมืองจะมีจำนวนลดลงไม่เท่ากับปี 2562 ค่อนข้างเยอะเลย เพราะพรรคเล็กพรรคจิ๋วน่าจะหายไปทั้งหมด

สำหรับความเหมือน รศ.ดร.ยุทธพร ชี้ว่า คือการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์เหมือนเดิม เพราะว่าในทศวรรษที่ 2560 การเมืองไม่ได้เป็น
การต่อสู้กันในลักษณะที่เป็นนโยบายเหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าเวลานั้นการเมืองเป็นเรื่องเชิงนโยบายค่อนข้างเยอะ เพราะว่าประชาธิปไตยถูกทำให้กินได้ ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยกินได้ ก็เพราะว่ามีการนำนโยบายมาหาเสียงกันอย่างกว้างขวาง แต่ว่าในทศวรรษที่ 2560 มันเป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์

“ยกตัวอย่าง ในปี 2562 และปี 2566 ประเด็นถกเถียงใหญ่ในสังคมที่คล้ายคลึงเดิม เช่น เอา พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เอาเผด็จการหรือเอาประชาธิปไตย เอาอนุรักษนิยมหรือเอาเสรีนิยม อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่ยังเหมือนกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรียกว่าเป็นการต่อสู้ในทศวรรษที่ 2560 ก็เริ่มมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557”

เงื่อนไขใดจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้?

รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า สิ่งสำคัญก็คือการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นการเลือกตั้งที่มีความเข้มข้น และก็การแบ่งขั้วทางการเมือง (Political polarization) ที่ยังคงอยู่ ฉะนั้นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมืองก็ยังเป็นการเลือกตั้ง ซึ่งเรียกว่ายังทำให้เป็น “ตัวชี้วัด” ตัดสินโดยยึดอุดมการณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (Voter) ทั้งหลาย นี่ก็คือสิ่งหลักสำคัญ 

นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ทำให้เกิดการแยกส่วนระหว่างระบบการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล เพราะว่ามีมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. 250 คน มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในหลายครั้งหลายหนเลยกลายเป็นการตั้งคำถามว่า ทำไมเจตจำนงประชาชนที่เลือกมา กลับไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งในปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้อันดับที่ 1 แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

New voter จะมีส่วนพลิกคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่?

รศ.ดร.ยุทธพร เชื่อว่าผลการเลือกตั้งน่าจะพลิกอยู่แล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ในเรื่องของกระบวนการที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลตอบสนองต่อเจตจำนงของประชาชนนั้นสำคัญกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เชื่อว่าโอกาสที่จะพลิกมาสู่ขั้วประชาธิปไตยมีอยู่แล้ว และเป็นไปได้ เพราะว่าพรรคที่อยู่ในขั้วประชาธิปไตย เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล จะได้รับความนิยมเยอะ แต่อย่างที่บอก ได้รับความนิยมเยอะ แต่พอเข้ามาก็จะตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน

นอกจากทั้งสองพรรคต้องได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ซึ่งต้องได้มากถึง 376 เสียง ให้มากกว่า ส.ว.ไปเลย แต่ก็ยาก เพราะว่าในสภาผู้แทนราษฎร มีความหลากหลายเยอะ หลากหลายทั้งในเชิงอุดมการณ์ ความคิด หลากหลายทั้งในเชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ดังนั้น การเป็นเอกภาพหรือการรวมตัวกันมันไม่เหมือนกับ ส.ว. ที่มีเอกภาพเยอะกว่า

กระแสสังคมกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แนวโน้มมีหวัง-สิ้นหวัง?

รศ.ดร.ยุทธพร ย้ำว่า ความหวังยังมี แต่คงต้องอาศัยพลังของประชาชนที่เข้มข้นและเข้มแข็งมาก ๆ ในการทลายระบอบ คสช. และก็ทลายกำแพง ส.ว. 250 เสียง หากเสียงของประชาชนเข้มแข็งและเป็นกระแสที่ใหญ่มาก ๆ ก็เป็นไปได้ที่จะเป็นจุดเปลี่ยน

“วันนี้ผมคิดว่าแลนด์สไลด์อาจจะไม่ง่าย แต่ปิดสวิตช์แคนดิเดต (Candidate) จะง่ายกว่า เพราะว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงในสภาไม่น้อยกว่า 25 เสียง สำหรับพรรคที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตของตัวเองได้ ต้องได้รับการยอมรับจาก ส.ว. ฉะนั้นถ้าวันนี้ต้องการให้เสียงของประชาชนได้รับการตอบสนอง ก็ควรจะปิดสวิตช์แคนดิเดตใครที่จะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. นั่นเอง อันนี้จะเป็นไปได้ง่ายกว่าแลนด์สไลด์อีก ควรชูแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นมา และปิดสวิตช์แคนดิเดตคนที่ประชาชนไม่ต้องการ” รศ.ดร.ยุทธพร วิเคราะห์ทิ้งท้าย.