ปรากฏการณ์การเตรียมทัพพร้อมกรำศึกเลือกตั้งของแต่ละพรรค จึงเต็มไปด้วยความคึกคัก ปรากฏการณ์พลังดูดไดโว่ ส.ส. ลาออก ย้ายค่าย ทำให้หลายพรรคเกิดอาการเลือดไหลไม่หยุด ที่สำคัญยังเกิดภาพสภาล่มซ้ำซาก เป็นที่เอือมระอาของประชาชน สาเหตุหนึ่งมาจากบรรดา ส.ส. ต่างเร่งลงพื้นที่ เก็บคะแนนตุนใส่กระเป๋า ก่อนศึกเลือกตั้ง ทำให้เกิดสภาพการเมืองลุ่ม ๆ ดอน ๆ จนต้องจับตาดูว่า “บิ๊กตู่” จะตัดเชือก ยุบสภา วันไหน การเลือกตั้งทั่วไปอาจจะเกิดเร็วขึ้น
ตามกติกาการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และกำหนด บัตรเลือกตั้งสองใบ เลือกพรรค 1 ใบ เลือกคน 1 ใบ ขณะนี้รอเพียงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมืองโปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นเข้าสู่กระบวนการที่ กกต. ก็จะดำเนินการประกาศเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ
สำหรับ การแบ่งเขตเลือกตั้ง สำนักงาน กกต. ยึดข้อมูลฐานจำนวนประชากรประเทศไทยล่าสุด จากกระทรวงมหาดไทยที่พบว่า ในปี 2565 มีประชากรกว่า 66 ล้านคน โดย กทม. มีมากที่สุดกว่า 5,494,932 คน ซึ่ง กกต. จะนำฐานข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และจะประกาศการแบ่งเขตอย่างเป็นทางการต่อไป
ในส่วนของพื้นที่เลือกตั้งใน กรุงเทพมหานคร จะมี ส.ส.เขต เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2562 โดยเพิ่มมา 3 เขตเลือกตั้ง รวมเป็น 33 เขต จากเดิม 30 เขต ซึ่งสมรภูมิ กทม. จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง น่าจะมีการแข่งขันดุเดือด เพราะหลายพรรครุมวางยุทธศาสตร์ปักธงในสนามเมืองหลวงทั้งสิ้น
ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแกนนำ ซึ่งมีทั้งอำนาจ และเสบียงกรังครบครัน ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรค พปชร. ได้ ส.ส. มากถึง 12 เก้าอี้ พรรคนี้วางหมุดหมายรักษาเก้าอี้เดิม หากได้ ส.ส. เพิ่มเติมก็ถือเป็นรางวัล แต่สถานการณ์ที่ผ่านมา เจอพลังดูด ส.ส. เกรดเอไปเพียบ จึงต้องมาวัดดวงกันดูว่า จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่
พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่หวังกระแส “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซื่อสัตย์ รักสถาบัน เป็นตัวเรียกคะแนน ซึ่งต้องยอมรับว่า กระแส “ลุงตู่ฟีเวอร์” ไม่มีอีกแล้ว พรมแดงที่เคยมีได้ถูกใช้ไปสุดทางแล้ว อีกทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคที่เกิดขึ้นใหม่ แนวอนุรักษนิยม การจะชนะเลือกตั้งได้ คงอยู่ที่นโยบายว่าจะซื้อใจคนกรุงได้ขนาดไหน
พรรคประชาธิปัตย์ มี “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นแกนนำ สนามเลือกตั้ง กทม. ที่ผ่านมา ค่ายสีฟ้าตกอยู่ในสภาพสูญพันธ์ุ ไม่ได้ ส.ส.กทม. แม้แต่คนเดียว แต่สนามเลือกตั้งครั้งนี้ มีการปรับยุทธศาสตร์ ประกาศทวงเก้าอี้ ส.ส. คืนอย่างมุ่งมั่น แต่ด้วยคู่แข่งที่มี
เขี้ยวเล็บระดับพระกาฬ จึงต้องจับตาดูว่า จะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่
ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ที่เคยเมินสนามเลือกตั้ง กทม. มาคราวนี้ กลับพลิกกลยุทธ์ หลังดูด “บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เข้าค่ายสีน้ำเงินได้สำเร็จ โดย “บี-พุทธิพงษ์” หอบอดีต ส.ส.กทม. และลูกทีมหลายคนมีชื่อเสียงคนรุ่นใหม่ ลงสู้ศึกวัดดวงว่า จะคว้าเก้าอี้ ส.ส. มาได้กี่ที่นั่ง
สำหรับอีก 2 พรรคที่น่าจับตามอง และคาดว่า สนาม กทม. ครั้งนี้ จะเป็นสนามเดือด เป็นศึกชิงดำระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
โดย พรรคก้าวไกล ยังคงมาแรงในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ โดยต้องยอมรับว่า พื้นที่ กทม. และพื้นที่อำเภอเมืองในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นสนามหลัก เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ของ พรรคก้าวไกล ที่ใช้เป็นพลังในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในโลกโซเชียล
โดยเมื่อมาย้อนดูผลเลือกตั้งใหญ่เมื่อ 24 มี.ค. 2562 สมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ได้กระแสใหม่สดของ 3 เกลอ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”, “ปิยบุตร แสงกนกกุล” และ “พรรณิการ์ วานิช” แกนนำพรรค ที่ครองใจวัยโจ๋ สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส.กทม. ได้ทั้งหมดจำนวน 9 คน เป็นรองพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ 12 คน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนั้นเรียกได้ว่าพรรคอนาคตใหม่ชนะคะแนนโหวตรวมจากคน กทม. มากที่สุด 804,217 คะแนน ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีจำนวน ส.ส. มากกว่า ได้ 791,821 คะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้จำนวน ส.ส.กทม. 9 คน เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ แต่มีคะแนนโหวตรวมมาเป็นที่ 3 จำนวน 604,661 คะแนน
ขณะที่กระแสของพรรคเพื่อไทย เลือกดัน “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นตัวชูโรงปลุกกระแสแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน สนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ครั้งนี้ อาจวัดได้จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่พรรคเพื่อไทยกวาดเก้าอี้ ส.ก. แบบแลนด์สไลด์ ได้ถึง 20 ที่นั่ง รวมเสียงโหวตได้ถึง 620,009 คะแนน ขณะที่พรรคก้าวไกลได้ ส.ก. 14 ที่นั่ง รวมเสียงโหวต 485,836 คะแนน ครองอันดับ 2 ในสภา กทม. ส่วนเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ ได้รับเสียงโหวตจากคน กทม. ทะลุ 1.3 ล้านคะแนน “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนน 254,723 ส่วน “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล ได้เพียง 253,938 คะแนน เข้าวินเป็นอันดับ 3
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะสะท้อนให้เห็นถึงภาพ สนามเลือกตั้ง กทม. ครั้งนี้ จึงกลายเป็นศึกชิงดำระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย จะเป็นการแข่งขันกันเองในซีกของพรรคฝ่ายค้าน ที่ประกาศตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย โดยต่างฝ่ายต้องพยายามรักษาฐานเสียงในเมืองหลวงนี้ให้ได้ เพราะสนามเลือกตั้งเมืองกรุงครั้งนี้ ทั้ง 2 พรรคประกาศไว้หนักแน่นว่า ขอปักธง ส.ส. ทั้ง 33 เขต โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ส่ง “อุ๊งอิ๊ง” หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ให้ถือธงนำประกาศเป้าหมายขอ “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” ต้องได้ ส.ส. 250 เสียงขึ้นไป เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสู้เผด็จการ
ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะอาศัยเพียงแค่กระแสโซเชียลเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคงไม่เพียงพอจะสู้กับกระแสแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทยได้ เพราะวันนี้ถือว่าไม่ใช่หน้าใหม่ในสนามแล้ว และผ่านการทำงานในสภามาเกือบ 4 ปี จึงต้องวัดกันที่นโยบาย แนวทางการ
แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่โดนใจคนทุกกลุ่ม รวมทั้งการทำพื้นที่เข้าหาประชาชนอย่างเข้มขึ้น จึงจะสามารถซื้อใจคนกรุงได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งวัดฝีมือการนำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคแคนดิเดตนายกฯ ก้าวไกล ในวันที่ไม่มี 3 เกลออนาคตใหม่ด้วย ทำให้อุณหภูมิสนามนี้ เป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าผลจะออกมาอย่างไร
จึงต้องลุ้นกันว่า พรรคเบอร์หนึ่งครองใจคนกรุงเทพมหานครจะเป็นพรรคไหน ใครกันบ้าง?.