“หนังสือพิมพ์เดลินิวส์” จึงเปิด หน้าเลือกตั้ง เกาะติด พร้อมรายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในศึกสำคัญครั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องชาวไทยใช้ประกอบการพิจารณาในวันเข้าคูหาและจดปากการ่วมตัดสินอนาคตของประเทศ

ประเดิมด้วยการตรวจแถวภาพรวมกระบวนทัพของบรรดาพรรคการเมืองรายสำคัญ ๆ ที่ร่วมลงชิงชัย เริ่มจากพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน อย่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โบกมือลาไปสร้างดาวดวงใหม่ร่วมกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) งานนี้ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ปักธงลุยศึกเลือกตั้ง ตั้งเป้ากวาด ส.ส. ไว้เกิน 100 ที่นั่ง เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

โดยมีขุนพลบ้านใหญ่ เป็นแกนหลักปักหมุดชัยภูมิโกยเสียง ส.ส. อาทิ ตระกูล รัตนเศรษฐ ของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” รับอาสาดูแลพื้นที่นครราชสีมา โคราชบ้านเรา, กลุ่มเพชรบูรณ์นำโดย “สันติ พร้อมพัฒน์”, กลุ่มปากน้ำ สมุทรปราการ รวมถึงกลุ่ม นนทบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี และกลุ่ม “สามมิตร” นำโดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งกลุ่มนี้ต้องจับตาดูต่อไปว่า สุดท้ายแล้วยังร่วมหัวจมท้ายอยู่กับ พปชร. ต่อไปหรือไม่ เช่นเดียวกับ กลุ่มกำแพงเพชร ที่มี “วราเทพ รัตนากร” เป็นแกนนำ และเหนืออื่นใด การกลับมาของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” จะทำให้ พปชร. มี ส.ส. ในภาคเหนือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโซนภาคเหนือตอนล่าง 4-5 จังหวัด

ด้าน พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นที่จับจ้องของเหล่าคอการเมืองไม่แพ้พรรคอื่น ๆ หลังจาก “บิ๊กตู่” สมัครสมาชิกพร้อมสวมเสื้อเข้าร่วมทัพอย่างเป็นทางการ ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาสมาชิกพรรคน้องใหม่แห่งนี้ และแม้สูตรเลือกตั้งจะหารด้วย 100 แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะจุดขายของพรรคมีทั้งตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งมีผลงานที่ทำให้กับประชาชนมากมาย รวมถึงชูจุดขายเรื่อง “ความซื่อสัตย์สุจริต” และ “รักสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ขณะที่แนวนโยบายของ “รทสช.” จะเน้นจุดขาย การมุ่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อเป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สำหรับการเดินหน้าคว้าเก้าอี้ ส.ส. “รทสช.” ส่งคนลงชิงชัยครบ 400 เขตเช่นกัน โดยตัวผู้สมัครมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ปัจจุบันที่กำลังจะเข้าร่วมทัพ คนที่เพิ่งพ้นจากผู้แทนฯ หลังย้ายจากค่ายอื่น สมทบด้วยคนรุ่นใหม่และนักการเมืองท้องถิ่นระดับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ส่วน พื้นที่เป้าหมาย ของการปักธง ส.ส. “รทสช.” มุ่งกวาดที่นั่งยกทีมใน ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ ทั้งนครศรีธรรมราช ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ขณะที่การเจาะพื้นที่ ภาคอีสาน ใช้ยุทธศาสตร์ชักชวนคนเห็นต่างมาร่วมงานกับพรรคให้มากที่สุด และหวังว่าจะได้ ส.ส. ในบางจังหวัด ส่วน กทม. มีผู้สมัคร ส.ส. หน้าเก่าและหน้าใหม่ เตรียมทยอยเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. พร้อมด้วยนโยบายเป็นรายภาค

สำหรับ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นพรรคที่ถูกจับตามองอย่างมาก ตั้งเป้ากวาด ส.ส. ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 120 คน หวังดัน “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ผงาดขึ้นตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 โดยเหตุการณ์ที่เขย่าวงการเมืองมากที่สุด คือวันเปิดอาคารที่ทำการพรรคฯ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 ปรากฏภาพ “34 งูเห่า” โชว์ตัวลอตแรกหลังเจอพลังดูด “ไดโว่ยี่ห้อเซราะกราว” อีกทั้งยุทธวิธีของ ภท. ที่ทำมานาน คือการสะสมกำลังพล “บ้านใหญ่” ในแต่ละจังหวัด ยึดจาก “ชิดชอบโมเดล” จ.บุรีรัมย์ อาทิ บ้านใหญ่ใน จ.ศรีสะเกษ, “ไชยเศรษฐ์” บ้านใหญ่ จ.อุทัยธานี, “วิลาวัลย์” บ้านใหญ่ จ.ปราจีนบุรี, “ปริศนานันทกุล” บ้านใหญ่ จ.อ่างทอง, “พันธ์เจริญวรกุล” บ้านใหญ่ จ.พระนครศรีอยุธยา, “ภัทรประสิทธิ์” บ้านใหญ่ จ.พิจิตร

โดยยุทธศาสตร์ในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ภท. เน้นรักษาฐานเสียงเดิม พร้อมกับกระจายกำลังแกนนำคุมพื้นที่หาเสียงแต่ละภาค โดย หัวหน้าพรรคฯ ดูแล ภาคกลาง, “ศักดิ์สยาม ชิดชอบทรงศักดิ์ ทองศรี” แทคทีมดูแล ภาคอีสาน, “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี และ “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” คุม ภาคเหนือ“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รองหัวหน้าพรรค ดูแล ภาคใต้“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ดูแล กทม. ส่วนนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงได้ต่อยอดจากของเดิม “พูดแล้วทำ” มาเป็น “เราทำแล้ว” โดยเฉพาะนโยบาย “กัญชา” ที่ใกล้จะถึงฝั่ง จึงจะกลายมาเป็นจุดขายหาเสียงอีกในครั้งหน้า วันนี้ถือว่า ภท. พร้อมสุด ๆ ทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. นโยบาย และเสบียง

ขณะที่อีกหนึ่งพรรคใหญ่ที่เตรียมทวงบัลลังก์คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งเป้าหมาย “แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ปักหมุดชัยภูมิหลักที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ตั้งเป้ากวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้เกิน 250 ที่นั่งขึ้นไป มุ่งหวังจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ทำให้หวนนึกถึงสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กวาด ส.ส. ได้มากถึง 377 ที่นั่ง เมื่อปี 2548 สมัยยังเป็น พรรคไทยรักไทย (ทรท.) เลือกตั้งครั้งนี้ นายห้างดูไบ จึงเลือกเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ทายาทคนเล็กลงสนาม เป็นหนึ่งใน ผู้ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พ่วงกับการส่งผู้สมัครเต็มอัตราศึก และการคลอดนโยบายเรื่องดูแลปากท้องแบบจับต้องได้ ซึ่งแค่เริ่มเปิดบางส่วนออกมา อย่าง นโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อคนต่อวัน ก็เรียกเสียงฮือฮาจากประชาชน หรือเป้าหมายใหญ่ที่ว่านี้ อาจไม่ไกลเกินฝัน

ขณะที่พรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์” ที่ผ่านมาต้องสู้กับพลังดูด แต่แกนนำที่เหลืออยู่ยังคง จับมือผนึกกำลังร่วมกับแม่ทัพใหญ่อย่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคฯ, “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคฯ และ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคฯ และ ผอ.การเลือกตั้งของ ปชป. ลุยสู้ศึก โดยเฉพาะ “เฉลิมชัย” ถึงกับลั่นวาจาวางเดิมพันสำคัญว่า จะขอเลิกเล่นการเมือง ถ้าผลออกมา ปชป. ได้ ส.ส. น้อยกว่า 52 เก้าอี้ จึงเชื่อได้เลยว่า เลขาธิการพรรคฯ ต้องสู้แบบเทหน้าตัก เพื่อรักษาพรรคและรักษาอนาคตทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ จึงเดินหน้าส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบ 400 เขต ใช้ยุทธศาสตร์พุ่งเป้าเน้นสนับสนุนผู้สมัครที่เล็งเห็นว่ามีโอกาสคว้าชัย อย่างไรก็ตาม ปชป. ยังมีภารกิจหลักในการสู้ยิบตาเพื่อรักษาฐานที่มั่นสำคัญ คือ ภาคใต้ ท่ามกลางวงล้อมของคู่แข่งจากหลากหลายพรรค โดยเฉพาะต้องต่อกรกับเหล่าศิษย์เก่าที่ย้ายออกไป และยังปักหมุดสู้ ส่วน พื้นที่ กทม. ยังเป็นโจทย์ยากของ ปชป. ต่อเนื่องจากศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ทำให้การเมืองสนามนี้เปลี่ยนไป ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญทั้ง พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ที่ขยายฐานและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับนโยบายเพื่อใช้เรียกคะแนนเสียง ปชป. ได้จัดทำชุดนโยบาย “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ซึ่งหนึ่งในนั้น ยังสานต่อ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ทำมาแล้ว 4 ปี แต่น่าสังเกตว่าครั้งนี้ เพิ่มนโยบายหลายเรื่องที่ทุ่มทุนดูแล กลุ่มเกษตรกร หวังซื้อใจขอคะแนนจากคนกลุ่มนี้ที่เป็นฐานใหญ่ของประเทศ

หันมาดูพรรคการเมืองรุ่นใหม่อย่าง “พรรคก้าวไกล” ที่มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ปักหมุดเดินเครื่องลุยงานการเมืองเน้นพื้นที่ กทม. และภาคอีสาน ที่ล้วนเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ ซึ่งต้องจับตาว่า นโยบายที่เป็นดีเอ็นเอตั้งแต่สมัยยังเป็น พรรคอนาคตใหม่ ทั้งการปฏิรูปสถาบันฯ การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปการเมือง หยุดรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้จะยังเข้มข้นหรือลดเพดานลง ซึ่งเรื่องนี้เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของ “ก้าวไกล” ที่สร้างความแตกต่างจากพรรคอื่นในซีกเดียวกัน แม้ประเด็นเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่การสร้างประชาธิปไตยและพาประเทศไทยออกจากวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร ก็ยังถือเป็นสิ่งสำคัญที่ “ก้าวไกล” ยังพยายามขับเคลื่อนให้สมดุลกัน ขณะเดียวกัน “ก้าวไกล” จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้สมัครที่เป็นเลือดแท้ และมีความแน่วแน่ในอุดมการณ์พรรค เพื่อลบล้างภาพการเป็น “ฟาร์มงูเห่า” ให้พรรคอื่น ๆ มาเลือกชอปปิงได้ในภายหลัง

หลังจากได้เห็นภาพรวมของทัพใหญ่ของทั้ง 6 พรรคการเมืองเหล่านี้แล้ว เชื่อได้ว่าการแข่งขันขับเคี่ยวในสนามระดับชาติรอบใหม่นี้ จะดุเดือดมากกว่าทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา  ขณะเดียวกันการชิงชัยทางการเมืองจะไม่หยุดอยู่แค่จบศึกการเลือกตั้ง แต่อาจจะยาวไปถึงช่วงรวมตัวคำนวณตัวเลขเก้าอี้ผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปสู่การจับกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศ นับว่าเป็นเกมการต่อสู้ทางการเมืองที่น่าต้องจับตาติดตามอย่างสนุกทุกกระดานแน่นอน.