ย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลเกาหลีใต้ของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน มีการดำเนินงานด้านนโยบายต่างประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “มุ่งใต้ใหม่” แม้ระบุว่า เพื่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างเกาหลีใต้ กับกลุ่มประเทศเป้าหมาย แต่มีความเด่นชัดมากกว่าในทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความยุ่งยากในเวลานั้น จากกรณีพิพาทกับจีน เกี่ยวกับระบบป้องกันขีปนาวุธ “ทาด”
ต่อมาเมื่อเดือนธ.ค. 2565 เกาหลีใต้ประกาศแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก “ฉบับเต็มอย่างเป็นทางการ” โดยให้นิยามว่า คือวิสัยทัศน์เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมให้อินโด-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่เปี่ยมไปด้วยเสรีภาพ สันติภาพ และความรุ่งเรือง ภายใต้หลักการความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ความครอบคลุม ความเชื่อมั่นและไว้เนื้อเชื่อใจ และการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งเป็น 9 หัวข้อหลัก คือ การสร้างระเบียบในภูมิภาคให้เป็นไปตามบรรทัดฐานและกฎหมาย ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน การยกระดับความร่วมมือด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธและการต่อต้านการก่อการร้าย และการขยายขอบเขตความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคง ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ส่วนที่เหลือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึง เศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ และความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการดำเนินนโยบายการทูต “เชิงสนับสนุน” ผ่านโครงการความร่วมมือและการแลกเปลี่ยน
ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ผู้นำเกาหลีใต้ ประกาศเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของรัฐบาลโซล “อย่างเป็นทางการครั้งแรก” ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ที่กัมพูชา เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว และเน้นย้ำอีกครั้ง ต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “จี20” ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นต่อจากการประชุมอาเซียน
การเปิดเผยแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของเกาหลีใต้ ถือว่า “มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์” ตามแนวทางของกลยุทธ์ดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมทั้งภูมิภาคแห่งนี้ เนื่องจากเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศขนาดใหญ่และมีบทบาทสูงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แต่กลับเป็นประเทศลำดับท้ายที่ประกาศแผนการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นกรอบด้านยุทธศาสตร์การดำเนินงานต่างประเทศ ที่ถือกำเนิดในยุครัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
นับตั้งแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว ยุนให้คำมั่นขยายขอบเขตการเป็นพันธมิตร ระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ ที่รวมถึงการกำหนดแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และการแสดงท่าทีของรัฐบาลโซลชุดปัจจุบันต่อจีน ด้วยความ “เข้มแข็งแต่ไม่ใช่แข็งกร้าว” เรียกได้ว่า “เข้าทาง” รัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งกำหนดนโยบายอินโด-แปซิฟิกขึ้นมา เพื่อไว้ถ่วงดุลอำนาจกับจีนโดยเฉพาะ
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เนื้อหาส่วนใหญ่ของแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับเกาหลีใต้ เรียกได้ว่า “ได้รับอิทธิพลเต็มเปี่ยม” จากสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการ “สร้างความรุ่งเรืองร่วมกันกับประเทศซึ่งมีจุดยืนเดียวกัน” การพิทักษ์พื้นฐานสิทธิมนุษยชน การคัดค้าน “การปรับเปลี่ยนสถานะ” ด้วยการใช้กำลังทหาร ที่สื่อถึงสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน และ “เสรีภาพทางการลาดตระเวน” ในทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า เกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้น เกาหลีใต้หลีกเลี่ยงการพาดพิงถีงจีนโดยตรง แม้แสดงจุดยืนผ่านตัวอักษรซึ่งสื่อออกมาอย่างชัดเจน ว่าสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลวอชิงตันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงแสดงความชื่นชมการกำหนดแนวทางของรัฐบาลโซลในกรอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกว่า “เสมือนกระจกสะท้อนการแบ่งปันความมุ่งมั่น และพันธกิจเพื่อความมั่นคง อีกทั้งความรุ่งเรืองของภูมิภาคแห่งนี้”
กระนั้นภายใต้ “ความชัดเจน” ยังมี “ความคลุมเครือ” ซ่อนอยู่ บ่งชี้สถานะของเกาหลีใต้ ซึ่งยังคงยืนอยู่บน “เส้นทางอ่อนไหว” ในการต้องรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับมหาอำนาจทั้งสองประเทศไปพร้อมกัน โดยต้องไม่เลือกข้างให้เด่นชัดจนเกินไป
ในแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกฉบับนี้เกาหลีใต้เอ่ยถึงจีน “อย่างตรงไปตรงมาในเชิงบวก” ว่ามีความสำคัญในฐานะ “พันธมิตรสำคัญ” เพื่อการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค ซึ่งการรักษาท่าทีไม่ให้อีกฝ่ายตีความว่า “ยั่วยุมากจนเกินไป” จึงได้รับการตอบกลับจากอีกฝ่าย ที่ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับทวิภาคี ระหว่างประเทศที่อยู่ร่วมภูมิภาคเดียวกัน และเตือนรัฐบาลโซล “อย่าเชื่อคนนอกมากจนเกินไป”
ไม่ว่า “จุดประสงค์เบื้องลึกแท้จริง” ของรัฐบาลยุน ในการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก จะเกี่ยวข้องกับศักยภาพทางการทูต ความมั่นคง และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยี มากน้อยเพียงใด หรือต้องการป่าวประกาศเรื่องใดเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม นโยบายทั้งหมดที่ออกมา จะเป็นบททดสอบในระยะยาว ของเกาหลีใต้ในฐานะ “ประเทศอำนาจปานกลาง” ว่าจะสามารถบูรณาการตัวเองได้ครบตามแผนหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS, GETTY IMAGES