ล่าสุดเตรียมลับมีดเชือดรัฐบาล เปรียบเหมือนศึกซักฟอกย่อย ๆ กลางเวทีสภาผู้แทนราษฎร ตามยื่นญัตติการอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 152 ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสนี้สนทนา กับ “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสาคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ถึงการจัดทัพชำแหละรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้าย

โดย “สุทิน” กล่าวเปิดประเด็นถึงการเตรียมความพร้อมว่า ฝ่ายค้านเตรียมไว้นานแล้วประมาณเดือนกว่า ๆ ตอนนั้นคิดว่าได้อภิปรายก่อนปีใหม่ เมื่อปรับมาช่วงหลังปีใหม่ก็ยิ่งมีความพร้อมมากขึ้น กรอบหลักๆ ต้องมีการสรุปรวบยอด 4 ปี ของรัฐบาลที่ทำงานมา หยิบนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเป็นตัวตั้ง เพื่อมาตรวจการบ้านว่าทำไมไม่ทำ หรือทำไมทำตรงกันข้ามกับที่แถลงไว้ แล้วเวลาที่เหลืออยู่จะทำอย่างไร ผลักดันสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จจะรับผิดชอบอย่างไร แถลงต่อรัฐสภามา

“แต่ละด้านที่จะพูดถึง จะมีเคสประกอบ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหายาเสพติด เหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู สถานการณ์โควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ รับรองว่า รสชาติมันเพราะจะคล้ายการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติแน่นอน และเชื่อว่ามีเคสต่างๆ ที่ทุกคนอยากฟัง รับรองว่าไม่ผิดหวัง”

@เนื้อหาอภิปรายเด็ดๆ ที่เตรียมไว้มีอะไรบ้าง จะดุเดือดเข้มข้นหรือไม่

มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ 4-5 เรื่อง แต่ยังบอกไม่ได้ รับรองว่าถึงตัวนายกฯ กับคนสำคัญของนายกฯ คนออกรัฐธรรมนูญนี้ บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง คนที่ชอบพูดถึงข้อกฎหมายและเป็นมือรักษากฎหมายของพรรค เพื่อให้รู้ว่าคนๆ นี้ ใส่หน้ากากมา 4 ปี เมื่อถอดหน้ากากก็รู้ว่า คนนี้ไม่ได้มาปราบโกง ดังนั้นจึงเกี่ยวข้องตัวนายกฯ โดยตรง ทั้งลูกคุณหลานคุณ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ พรรคฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นว่า ที่ประเทศไทยฟื้นเศรษฐกิจยาก หรือฟื้นเศรษฐกิจช้ากว่าทั่วโลกนั้น ความจริงแล้วคือคุณติดกับดักความเหลื่อมล้ำ แล้วเราจะชี้ให้เห็นอีกว่า รัฐบาลนี้เกรงใจนายทุนและเอื้อนายทุนใหญ่ จนต้องทิ้งชาวบ้านและคนตัวเล็ก รวมถึงสินค้าเกษตรมีราคาแพงด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนเนื้อหาจะรวบยอดมา 4 ปี ไม่ได้เอาเรื่องเก่ามาพูดทั้งหมด แต่เป็นเรื่องเก่าที่ยังมีปัญหาตามมา ฝ่ายค้านบอกแล้วแต่ไม่ทำ มีการรับปากไว้กับสภา แต่ไม่ทำ แล้วปัญหากลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นมาอีก ที่สำคัญที่สุด ฝ่ายการเมืองที่กำลังจะลงเลือกตั้ง จะได้พึงสังวรว่า หากคิดจะพูด หรือคิดจะเสนออะไร เมื่อเข้ามาแล้วทำไม่ได้ การเลือกตั้งคราวต่อไปต้องระมัดระวัง เอาเฉพาะในเรื่องที่ทำได้เท่านั้นมาพูด ไม่ต้องไปหลอกชาวบ้านไปวันๆ อีก

@คาดหวังในการอภิปรายครั้งสุดท้ายอย่างไร

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพื่อหวังให้สังคมรู้ว่า 4 ปีที่ผ่านมา คือ 4 ปีที่เสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย พยายามสร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นคนดี คนสุจริตเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ความจริงแล้วไม่ใช่ แม้ว่าจะล้มรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่มีการลงคะแนน แต่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าของพวกเรา ชาวบ้านจะรู้เช่นเห็นชาติว่า คนที่มาลงแข่งขันคราวนี้ เมื่อก่อนพูดอย่างนั้นทำไม่ได้ วันนี้พอมาพูดอย่างนี้ ควรจะเชื่อคุณดีหรือไม่ดี นี่จะทำให้การเลือกตั้งมีคุณภาพขึ้น ฉะนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ม.152 จะเป็นการเตือนสติฝ่ายการเมือง ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง และเตือนชาวบ้านก่อนจะเลือกตั้ง ก่อนจะเชื่อ เพื่อจะได้การเมืองที่ดี

@ฝ่ายค้านได้มีการวางตัวขุนศึกและวางกรอบเวลาอภิปรายฯ ไว้อย่างไร

พรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการวางตัวผู้อภิปรายฯ ครบแล้ว เหลือเพียงมาขัดเกลาข้อมูลและซักซ้อมการอภิปรายเท่านั้น ซึ่งพรรค พท. หรือพรรคอื่นๆ เองก็ไม่วางตัวผู้อภิปรายเยอะ เอาเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ พูดแล้วมีน้ำหนัก เดิมอภิปรายไม่ไว้วางใจใช้คน 40 กว่าคน แต่ครั้งนี้ใช้เพียง 10 กว่าคนเท่านั้น นี่เฉพาะพรรค พท. เท่านั้น ส่วนเวลาในการอภิปรายฯ ต้องคุยกันในวันที่ 25 ม.ค. นี้ ว่ารัฐบาลจะให้เท่าไร แต่เวลาอย่างน้อยที่สุดคือ 25 ชั่วโมง โดยเฉพาะพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ส่วนที่มีการมองว่า รัฐบาลจะดึงเกมยื้อเวลาอภิปรายฯ ลากยาวไปกลางเดือน ก.พ. ฝ่ายค้านไม่ติดใจอะไร แต่อย่ายุบสภาหนีก็แล้วกัน เพราะโดยปกติเมื่อยื่นอภิปรายฯ จะได้อภิปรายฯ หลังจากนั้น 1 เดือน เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นวันที่ 28 ธ.ค. 65 กว่าจะได้อภิปรายฯ คราวนี้ก็ยาวไป 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือน ถ้าเราเป็นรัฐบาลก็ไม่อยากให้อภิปรายฯ ก่อนการเลือกตั้ง แปลว่าครั้งนี้ลากยาวไปใกล้เลือกตั้งเพราะอะไร หรือจะไม่ให้อภิปรายฯ

@ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะแก้เกมอย่างไร แล้วเนื้อหาอภิปรายฯ เด็ดๆ ที่เตรียมไว้มีอะไรบ้าง

เตรียมเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ 4-5 เรื่อง รับรองว่าถึงตัวนายกฯ และคนสำคัญของนายกฯ

เราต้องหาวิธีนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การเผยแพร่ในช่องทางโซเชียลมีเดีย หรืออภิปรายฯ นอกสภา ยอมรับว่า แม้ไม่ได้ดุเดือดเหมือนในสภา แต่ข้างนอกสภาอาจะมีสมาธิฟังได้ดีกว่าเดิม หรือเปิดข้อมูลให้เห็นแบบชัดๆ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงนี้สภาล่มบ่อยครั้ง อาจจะเป็นเหตุให้ไม่ได้อภิปรายฯ ได้ เมื่อสภาทำงานไม่ได้ คนเป็นผู้นำประเทศก็ต้องคิด ก็มีเหตุผลปัจจัยที่จะยุบสภาได้ ขณะเดียวกันช่วงนี้ รัฐบาลกลับเร่งตีปี๊บโชว์ผลงานว่าตัวเองทำสำเร็จแล้วหลายเรื่อง เพราะมันใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อกลบเกลื่อน แต่เชื่อว่าชาวบ้านดูออก บอกได้เลย

@ ฝ่ายค้านจะเสียท่ารัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่สามารถเปิดอภิปรายฯ เปิดแผลรัฐบาลปิดประตู “บิ๊กตู่” พาเพื่อไทยให้ไปสู่แลนด์สไลด์ได้อย่างไร

ก็ต้องชวนประชาชนพิพากษาในการเลือกตั้ง หากอยู่กับ “บิ๊กตู่” ต่ออีก 2 ปี หรือ 4 ปีข้างหน้า ชีวิตก็จะหมดความหวังและหมดรสชาติ แล้วที่ผ่านมาพรรค พท. ก็เคยแลนด์สไลด์มาแล้วเมื่อปี 48 ได้ 377 ที่นั่ง และเมื่อปี 62 เราก็ส่งแค่ 250 เขต ก็ได้มาเยอะ วันนั้นกับวันนี้ มันมีสิ่งเหมือนกันเยอะ เลือกตั้งคราวนี้คงไม่เห็นแก่หน้าใครมากกว่าชีวิตปากท้องตัวเอง ซึ่งพรรค พท. คือ ทางออก เชื่อมั่นว่า ประชาชนจะเลือกเรา ฉะนั้นคำว่าแลนด์สไลด์ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง.