เพิ่งผ่านวันเด็กมาไม่กี่วัน ก็มีกิจกรรมวันเด็กอะไรต่างๆ หลากหลายมากมาย ที่เห็นจัดกันบ่อยๆ ก็ประเภทให้เด็กไปเต้นๆ ให้ “ผู้ใหญ่ในงาน” มานั่งดู แล้วก็พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กนั่นแหละ คอยเป็นกองเชียร์อยู่ข้างล่าง เสร็จแล้วก็ลงมาจับรางวี่รางวัลกัน พอได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน อาหาร ขนม ฟรี แต่ปีนี้ท่าทาง “ผู้ใหญ่” ที่มาร่วมงานอาจน้อยลงไปหน่อย เพราะเข้าช่วงประกาศใช้ พ.ร.ฎ.180 วันก่อนเลือกตั้งแล้ว ที่ห้าม ส.ส. แจกของ หรือจ่ายค่าช่วยจัดงาน เพราะจะถือเป็นการให้เงินได้หรือให้สิ่งจูงใจเพื่อแลกคะแนนเสียงเอาง่ายๆ ให้ กกต. สอยเอาทีหลัง

เด็กเดี๋ยวนี้กล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะพ่อแม่ยุคใหม่เข้าใจในเรื่องจิตวิทยาเด็ก ที่รู้เรื่อง “อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ” เพื่อให้ลูกเติบโตมามีความกล้า มีสุขภาพจิตที่ดี ..แต่ก็ยังมีคนไม่เข้าใจเรื่องนี้อีกมาก การพูดแค่หยอกล้ออะไรสักอย่างที่ผู้ใหญ่เห็นว่า “ก็แค่เรื่องขำๆ” บางทีมันกลายเป็นการฝังหัวเด็ก อารมณ์แบบผู้ใหญ่หลอกผีให้เด็กกลัวเอาสนุก มันก็มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กไม่น้อย คือไปสร้างความหวาดกลัว แล้วพอเด็กกลัวผี กลัวความมืด ก็ทำให้ผู้ใหญ่นั่นแหละรำคาญใจอีก เช่น ไปหลอกลูกหลานให้กลัวผี กลางคืนเด็กไม่กล้าไปห้องน้ำขึ้นมา ปลุกผู้ใหญ่ให้พาไปก็โกรธ ถามว่ากลัวอะไรนักหนา …ทั้งๆ ที่ตัวเองนั่นแหละไปหลอกเด็กให้กลัวผีเพื่อความสนุกแบบไม่คิดอะไร

มีผู้ใหญ่อยู่รายหนึ่ง ไม่ชอบไปดูเด็กเต้นๆๆ ตามเวทีงานวันเด็ก หรืองานไหนก็ตาม ที่มันเป็นกิจกรรมเข้าจังหวะ เนื่องจากสมัยเขาเรียนอยู่ชั้นอนุบาล เคยถูกจับทำกิจกรรมของห้อง ให้ไปเต้นเพลงฮิตสมัยนั้น ปรากฏว่า รายนี้ตอนเด็กๆ เป็นคนประเภทจังหวะนรก ..คือเต้นให้ตรงจังหวะไม่ค่อยจะทัน พอถ่ายรูปออกมา กลายเป็นว่าเต้นผิดอยู่คนเดียวในหมู่เพื่อนฝูงบนเวทีที่เต้นท่าเดียวกัน ..พ่อแม่ เพื่อน เด็กโตกว่าก็เอามาล้อแบบขำๆ แต่สำหรับเด็กมันไม่ขำ มันเริ่มจากความอับอายก่อน สักพักก็จะกลายเป็นความไม่มั่นใจในตัวเอง และปิดตัวออกจากการร่วมกิจกรรมอื่นๆ เพราะกลัวถูกล้ออีก

คนขี้อายเดี๋ยวนี้ขาดโอกาสอะไรหลายๆ อย่าง ยิ่งในโลกโซเชียลฯ “ใครๆ ก็เป็นดาวได้” ผ่านแพลตฟอร์มง่ายๆ อย่าง tiktok หรือ youtube แต่เมื่อมันฝังหัวมาแต่เด็ก จะให้ไปปรับบุคลิกภาพบางคนมันก็ยาก ..คำล้อเลียนสนุกปาก แบบที่เรียกว่า “แซว” มันก็มีผลต่อเด็ก ไม่ถึงกับเป็นการรังแก (bully) หรอก การดูแลเด็กสักคนให้โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ผู้ดูแลทั้งครอบครัว ครู ต้องใช้จิตวิทยาอย่างสูง คือการไม่ทำให้รู้สึกอับอาย โดยเฉพาะความอับอายต่อหน้าผู้คน ..และผู้ใหญ่รายเดียวกันนี้ ก็เกลียดวิชาเลขมาก เพราะเคยถูกครูเรียกไปทำโจทย์เลขหน้ากระดานดำ พอทำผิดครูเอาแปรงลบกระดานเคาะหัว เป็นที่หัวเราะของเพื่อนทั้งห้อง มันก็ฝังใจกลายเป็นคนไม่ชอบเลขไปอีกอย่าง

เขาเล่าให้ฟังว่า ผิดกับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ไม่เก่งเลขเลย สมัยประถมพ่อแม่ต้องส่งไปเรียนพิเศษ เพราะคณิตศาสตร์เป็นวิชาบังคับ แต่ครูที่สอนพิเศษกลับมีจิตวิทยาดี ทำผิดก็ค่อยๆ อธิบายที่โต๊ะ จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาบังเอิญทำโจทย์เลขข้อหนึ่งถูกก่อนใครเพื่อน แล้วครูก็ชมใหญ่ เด็กคนนี้ก็เริ่มที่จะชื่นชอบวิชาคณิตศาสตร์ขึ้นมา แล้วก็ตามต่อมาด้วยการชอบเรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ..การแสดงออกของผู้ใหญ่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กมาก อย่าคิดว่า “การแซว” เป็นเรื่องเล่นๆ เพราะเด็กแต่ละคน ความอดทนทางอารมณ์หรือภูมิคุ้มกันทางใจไม่เท่ากัน เมื่อโดนแซวไม่ได้ขำหรือสนุกไปด้วย แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองโดนกลั่นแกล้งรังแก หรือประจานให้อับอาย จนขาดความมั่นใจ

ก่อนวันเด็กแป๊บเดียว ก็เกิด โศกนาฏกรรม เมื่อเด็กผู้หญิงคนหนึ่งฆ่าตัวตาย เพราะถูกล้อเลียนตลอดเรื่องพ่อแม่แยกทางกัน เด็กพยายามฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งแต่ถูกช่วยไว้ได้ และในที่สุดก็ฆ่าตัวตายสำเร็จ เด็กคนนี้โพสต์สั้นๆ แค่ว่า ถูกล้อเลียนและถูกทำอนาจาร (ไม่รู้รูปแบบไหน) และคนกระทำไม่เคยถูกลงโทษ ..อารมณ์ประมาณว่า สองเรื่องนี้ทำให้ชีวิตเขารู้สึกไม่มีคุณค่า เมื่อถูกล้อ ถูกรังแก ถูกทำอนาจาร ก็ตอบโต้ไม่ได้ บอกใครไม่ได้

ที่น่าสงสารคือ เด็กคนนี้เคยต้องไปจ้างคนนอกมาทำทีเป็นแม่ ในกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ ที่หลายโรงเรียนชอบจัดให้มาแสดงความซึ้งอกซึ้งใจแบบหมู่คณะกัน ซึ่งหลังๆ ก็ชักจะมีกระแสต่อต้านขึ้นมาว่า “ไม่ควรจัด เพราะต้องคิดถึงเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ด้วย” เด็กบางคนพ่อแม่หาเช้ากินค่ำ หรือทำงานหนักในบริษัทที่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมแบบนี้ (กิจกรรมพวกนี้ไม่จัดตรงวันที่ 12 สิงหาคมหรอก เพราะมันเป็นวันหยุดราชการ ครูก็ไม่ได้อยากจะมาโรงเรียน) เปิดเพลง “ค่าน้ำนม” ให้ซึ้งใจร้องไห้เป็นอุปทานหมู่กัน ทั้งที่บางครอบครัวพอหลังวันแม่ปุ๊บ แม่ลูกก็มีเรื่องไม่ลงรอยกันซะแล้ว หรือแม่เองก็มีปัญหากับลูก ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม แต่ ก็ต้องมาอย่างเสียไม่ได้ เพราะลูกกลัวอายเพื่อน

คือ กระทรวงศึกษาธิการ หรือโรงเรียนควรจะเรียนรู้เรื่อง “ครอบครัวสมัยใหม่” ให้มากขึ้น ปัจจุบันคนหย่าร้างกันมาก ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เยอะ บางทีพ่อแม่ก็แตกหักกันแบบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เอาลูกเลย และยังมีครอบครัวแบบกลุ่มหลากหลายทางเพศอีก คือครอบครัวที่เป็นคู่รักชาย-ชาย, หญิง-หญิง, ชาย-หญิงข้ามเพศ, ชายข้ามเพศ-หญิง ถ้าเด็กภูมิคุ้มกันทางใจไม่ดี ก็โดนล้อเรื่องครอบครัวหลากหลายทางเพศอีก ..อย่าคิดว่าสังคมสมัยนี้เปิดกว้างขนาดนั้น ในต่างจังหวัดบางพื้นที่เขาก็ยังไม่ได้เห็นดีเห็นงาม ยอมรับว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน, ไม่ได้คิดว่า ครอบครัวมันมีลักษณะรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่พ่อเป็นชาย แม่เป็นหญิง มีทายาทจากสายเลือด

เพราะฉะนั้นก็อยากให้เลิกๆ จัดไปเถอะ การแสดงความรักกันในครอบครัวไม่ต้องทำเป็นพิธีการโชว์ใครหรอก เชื่อสิว่าผู้ใหญ่ก็ลำบากใจ เคยคุยกับเพื่อนมนุษย์เงินเดือนเขาก็บอกว่า การแสดงความรักมันเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างกัน จะให้ลางานมาวันแม่ บางทีเจ้านายก็ไม่ได้จะเข้าใจ ขนาดลาไปด้วยสาเหตุที่จำเป็นกว่านั้น บางบริษัทก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจเลย ถึงขนาดเคยมีคนเอาเรื่องมาประจานในโซเชียลว่าไปงานศพ กลับถูกหัวหน้าแล้งน้ำใจบอกว่า ไม่ไปเขาก็เผากันได้

ย้อนกลับมาที่เรื่องการล้อเลียน หรือการทำให้เด็กอับอายแล้วมีผลต่อพัฒนาการทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออก สิ่งที่ตามมาคือ “เด็กจะไม่กล้าตอบโต้เวลาถูกล้อเลียน” และขั้นกว่าของการล้อเลียน คือการกลั่นแกล้งรังแก ตกเป็นเหยื่อของเด็กเกเร มันเริ่มจากการที่พอล้อเลียนแล้ว เด็กไม่กล้าไปบอกครูเพราะกลัวเพื่อนว่าเป็นพวกเยอะเรื่อง แตะนิดแตะหน่อยไม่ได้ ต่อไปไม่คบแล้ว, หรือครูว่า มันเป็นแค่เรื่องเล่นๆ กันไม่เห็นต้องซีเรียส ไม่ชอบให้ล้อก็บอกเขาไป ไม่ต้องถึงมือครู

การกลั่นแกล้งรังแกก็เริ่มจากคำพูดก่อน สักพักจะไปถึงการประทุษร้ายร่างกาย เพราะพวกที่ทำคิดว่า “เหยื่อไม่กล้าไปบอกใคร” หรืออาจมีกรณีเรื่องอำนาจแฝงอยู่ในการล้อเลียนกลั่นแกล้งรังแกนั้น ประเภทที่ผู้ถูกกระทำต่ำต้อยกว่าผู้กระทำในด้านต่างๆ อย่างฐานะแย่กว่า หรือพ่อแม่ผู้กระทำเป็นพวกคนใหญ่คนโต บริจาคเงินโรงเรียนประเภทครูเกรงใจ หรืออาจเป็นพวกเด็กเก่งสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ..เมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแกมากๆ เข้า มันก็เหมือนฟางเส้นสุดท้ายให้ลาหลังหัก เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหน คือเหยื่อใช้ความรุนแรงกลับคืน เช่นหนังไทย “303 กลัวกล้าอาฆาต” เด็กอ้วนถูกรุ่นพี่ แกล้งเอาปืนมาไล่กราดยิงทั่วโรงเรียน หรือไม่ก็เหยื่อเลือกจะจบชีวิตของตัวเอง

การจะปั้นเยาวชนสักคนให้เป็น “บุคคลที่มีคุณภาพ” มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เราต้องรู้ว่า เด็กเหมือนเมล็ดกล้าไม้ที่ยังอ่อนแอ ปกป้องตัวเองได้ไม่ดีพอ และกระทบกระเทือนได้ง่าย “ผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาการ” อย่างพ่อแม่ ครู ญาติพี่น้อง เองก็ต้องระวังในเรื่องการรักษาและถนอมน้ำใจ ไปจนถึงการเฝ้าสังเกตหากเด็กมีอาการผิดปกติอะไรบางอย่าง เช่น ปฏิเสธการไปโรงเรียน แสดงท่าทีไม่พอใจหรือเสียใจเมื่อถูกล้อเลียนหรือพูดอะไรบางอย่างด้วย แสดงความกลัวใครให้เห็น แล้วต้องช่วยแก้ปัญหา เด็กตั้งแต่อนุบาล อาจไปถึง ม.ต้นด้วยซ้ำ อาจยังไม่รู้วิธีปกป้องตัวเองหรือแก้ปัญหาที่เหมาะสม ที่ไม่ทำให้เกิดความคิดหรือพฤติกรรมร้ายๆ ฝังหัวมา

การล้อเลียน (หรือลงโทษ) จากคนใกล้ตัวนี่แหละ ที่ต้องปรับวิธีคิด ต้องแก้ไข ก่อนมันจะขยายเป็นปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก และกลายเป็นเรื่องใหญ่ตามมาเป็นลูกโซ่ไม่จบ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”