อันมี “เหตุปัจจัยจากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า” หลาย ๆ กรณี… ซึ่งเรื่องนี้ในปีที่ผ่านมา “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้พยายามที่จะนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบด้านมากที่สุด ด้วยหวังช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้า รวมถึงคนใกล้ตัว-ครอบครัว เกิดความรู้ความเข้าใจ และรู้วิธีช่วยเหลือดูแลผู้ที่กำลังมีปัญหานี้ ทั้งนี้ กับบางคนที่กำลังป่วยด้วยโรคนี้นั้น ก็มีข้อมูลที่น่าตกใจว่า… มีคนไทยวัยทำงานจำนวนไม่น้อยที่ดูเผิน ๆ ไม่เป็นอะไร เพราะยังทำงานได้ปกติ…

แต่จริง ๆ “ป่วยโรคซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว”

มีหลาย ๆ คน “ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยโรคนี้”

กว่าจะรู้-กว่าจะรักษา…ก็อาจช้าเกินไป!!

เกี่ยวกับข้อมูลสำคัญดังกล่าวนี้ มาจากบทความโดย “คุณหมอมีฟ้า” ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องนี้ไว้ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจของ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ระบุไว้ถึงกรณี “โรคซึมเศร้าในคนที่ยังทำงานได้ดี” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนที่กำลังเผชิญกับการ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากคนกลุ่มนี้ดูเผิน ๆ ยังคงมีลักษณะภายนอกปกติดี เพราะยังคงทำงานและรับผิดชอบงานได้ดีไม่แตกต่างจากคนที่ไม่ได้ป่วยด้วยภาวะอาการนี้… จนมารู้ตัวอีกทีนั้น คน ๆ นั้นก็อาจจะกำลังป่วยด้วย “โรคซึมเศร้าเรื้อรัง” ไปแล้ว…แบบที่ไม่ทันได้สังเกต

ทั้งนี้ “คุณหมอมีฟ้า” ได้อธิบายถึงโรคซึมเศร้าในคนที่ไม่รู้ตัว หรือที่เรียกว่า “โรคซึมเศร้าในคนที่ยังทำงานได้ดี (High Functioning Depression)” ที่มีลักษณะเด่นสำคัญคือยังสามารถทำงานได้เหมือนผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้ โดยระบุไว้ว่า… โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ มักเป็นภาวะอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสุข การรับผิดชอบหน้าที่ หรือการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไปพบแพทย์เมื่อชีวิตเกิดผลกระทบหลายด้าน หรือเมื่อผู้ป่วยรู้ตัวว่าไม่ปกติ จึงทำให้ได้รับการบำบัดรักษาได้ทัน ก่อนที่อาการจะแย่มากขึ้น…

แต่…ก็ จะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกจำนวนหนึ่งที่ “ไม่รู้ว่าตนเองป่วย” เพราะยังทำงานได้ หรือยังสามารถเข้าสังคมเหมือนเดิมได้เป็นปกติ ซึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนที่มีความสามารถสูง หรือสมัยเรียนก็เป็นนักเรียนที่เรียนดี ทำให้แม้จะเกิดการป่วยโรคซึมเศร้า แต่ก็ยังสามารถทำงานได้ตามมาตรฐานเดิมเหมือนช่วงที่ยังไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้ อย่างไรก็ตาม แต่ก็มี “ข้อแตกต่างที่พบ” หลังจากคนกลุ่มนี้เริ่มมีอาการป่วยซึมเศร้า นั่นคือ… คนป่วยกลุ่มนี้มักจะเกิดความรู้สึกว่า “พลังชีวิตของตนเองลดน้อยลง” และก็มักจะรู้สึกว่า “หมดพลังเมื่อถึงเวลาเลิกงาน” …นี่เป็นข้อแตกต่างจากคนทั่วไป

“คนกลุ่มนี้ หากดูจากภายนอกจะไม่เห็นถึงความทรุดโทรมทางกายเลย เพราะยังพูดคุยยิ้มแย้ม หรือยังทำงานได้เหมือนอย่างที่เคยทำ จึงทำให้ไม่มีใครรู้ว่า…จริง ๆ แล้วคนนั้นอาจจะรู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา หรือมีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับทุกอย่าง ซึ่งกว่าที่อาการจะแสดงออกมาชัดเจน จิตใจก็อาจจะพังแล้ว” …เป็นข้อมูลที่ถูกชี้ไว้…

กับ “สิ่งที่อยู่ในใจ” ผู้ป่วยซึมเศร้ากลุ่มนี้…

กลุ่ม “ผู้ป่วยซึมเศร้าที่ป่วยโดยที่ไม่รู้ตัว”

ทั้งนี้ ในบทความโดย “คุณหมอมีฟ้า” ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผู้ป่วยซึมเศร้าที่ยังทำงานได้ดี” กลุ่มนี้ไว้อีกว่า… สำหรับลักษณะอาการที่อาจจะพอใช้เป็น “จุดสังเกต” ว่า คน ๆ นั้นกำลังป่วยด้วยโรคนี้แบบนี้อยู่ นั่นก็คือ… 1.ไม่เพลิดเพลินหรือสนุกกับกิจกรรมที่เคยชอบ 2.เหม่อลอยแบบไม่รู้ตัวบ่อยขึ้น 3.ลุกขึ้นมาทำงานเท่าที่จำเป็น 4.กลายเป็นคนไม่มีระเบียบ-ไม่รักความสะอาด 5.มีปัญหาการนอนหลับเพิ่มขึ้นจากเดิม …ซึ่งกับ “อาการเบื้องต้น” เหล่านี้ สามารถใช้ “บ่งบอก” ได้ว่า…คน ๆ นั้นเข้าข่ายหรือมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็น “โรคซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว” หรือไม่??

พร้อมกันนี้ก็มีการขยายความภาวะที่เกิดขึ้นนี้ไว้ว่า… “อันตราย” และหากไม่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูอาการป่วย กรณีนี้อาจจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้น เนื่องจากการที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวเองว่ากำลังเผชิญกับการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงพยายามทำตัวให้ดูเป็นปกติ แต่ ภายในจิตใจของตนเองนั้น ซุกซ่อนหรือเก็บความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้อย่างหนัก ซึ่งในบางคนนั้น การใช้ชีวิตประจำวันเป็นเหมือนกับการใส่หน้ากาก เพื่อที่จะแสร้งทำตัวให้ดูเป็นปกติ หรือเพื่อ เก็บซ่อนความรู้สึกขุ่นมัวหรือความหม่นเศร้าเอาไว้ เพราะไม่ต้องการให้คนรอบข้างสังเกตเห็นความผิดปกติ

“ความอันตรายอยู่ตรงที่เมื่อการงานไม่เสีย เมื่อไม่ได้มีปัญหากับใคร ผู้ป่วยก็มักเข้าใจไปว่าที่ตนเหนื่อยล้า และรู้สึกว่าต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา เป็นเพียงผลจากสิ่งที่ต้องเจอ หรือคิดว่าเป็นเพราะทำงานเหนื่อย จนทำให้ไม่ได้รับการบำบัด และเมื่อปล่อยให้เวลาผ่านไปนานขึ้น อาการและผลกระทบก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้ การรักษาจะยิ่งซับซ้อนและต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจควรรีบเข้ารับคำปรึกษาโดยเร็วจะดีที่สุด” …เป็นข้อมูลสำคัญอีกส่วน พร้อมคำแนะนำเพื่อป้องกัน “อันตรายจากการรู้ตัวช้าไป”

ก็บอกต่อไว้ ณ ที่นี้ว่า “คนไทยก็เสี่ยง!!”

เสี่ยง “ป่วยโรคซึมเศร้าแบบที่ไม่รู้ตัว!!”

ที่ “เหมือนมีระเบิดเวลาผูกติดตัว!!”.