เพราะมองว่าเป็น “ความหวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจ” ได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการที่ออกมา “เตือน” ตั้งคำถามถึง “ภาพจริง?-ภาพลวง?” ของ “ภาวะเศรษฐกิจ??” และชี้ไว้ว่า… บรรยากาศเศรษฐกิจไทยโดยรวมตอนนี้ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่นิ่งนอนใจได้ เพราะ “ยังมีปัจจัยมากมาย” ที่อาจ “ทำให้เศรษฐกิจไทยไปไม่ถึงฝัน” ก็ได้…

ทั้งจาก “สถานการณ์โลกที่ตึงเครียด”

และ “พิษโควิดที่ทำให้เกิดบาดแผล”

ที่ในวันนี้ยังคงมี “แผลเป็นเศรษฐกิจ”

เกี่ยวกับ “คำเตือน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ เรื่องนี้สะท้อนไว้โดย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านบทความในเว็บไซต์ ธปท. เรื่อง “แผลเป็นทางเศรษฐกิจจากโควิด-19” ซึ่งได้มีการระบุไว้ว่า… หลังต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 มายาวนานเกือบ 3 ปี…ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่จีดีพีของเศรษฐกิจไทยทั้งปีสูงกว่าจีดีพีของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งแน่นอนว่า การฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนนั้นจะมีไม่เท่ากัน เช่น มูลค่าการส่งออกอาจจะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนที่จะมีโควิด-19 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวกลับมาเพียง 1 ใน 4 ของช่วงก่อนมีโควิด-19 ระบาด อย่างไรก็ดี แต่โดยเฉลี่ยหรือในภาพรวมแล้วก็ถือว่า…

เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นจากวิกฤติโควิด

นี่เป็นการ “วิเคราะห์” โดยผู้เชี่ยวชาญ ธปท.

อย่างไรก็ตาม แต่ทาง ดร.ดอน ผอ.อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ก็ได้มี “ปุจฉา” ผ่านบทความไว้ว่า… สิ่งที่อยากรู้ที่สุดในเวลานี้คือ เศรษฐกิจไทยที่หายป่วยจากวิกฤติโควิด-19 ยังคงแข็งแรงเหมือนเดิมหรือไม่?? ทั้งนี้เพราะถึงแม้ว่าแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2566 นี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่คำถามคือ… หลังจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ จากกรณีนี้ เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน?? เนื่องจากข้อมูลในอดีต หลังประเทศไทยเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ทุกครั้ง พบว่า…

“ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”…

มัก “ปรับตัวลดลงทุกครั้งหลังวิกฤติ!!”

จากปัจจัยที่น่ากังวลใจนี้…โดยเฉพาะเมื่อย้อนดูจาก “ประวัติศาสตร์เก่า ๆ” แล้ว…นี่ก็จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่พื้นตัวในระดับที่คาดหวังไว้นั้น กรณีนี้ส่วนหนึ่งก็มาจาก “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่เกิดขึ้นทุกครั้งหลังผ่านช่วงเวลาวิกฤติ ซึ่งทาง ดร.ดอน ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า… วิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้งนั้นมักจะฝากแผลเป็นทางเศรษฐกิจเอาไว้ ซึ่ง บาดแผลดังกล่าวจะฉุดรั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ไว้ เช่น “แผลเป็นจากวิกฤติต้มยำกุ้ง” คือ การลงทุนของเอกชนที่ลดลงไป

…นี่เป็นกรณีตัวอย่างแผลเป็นทางเศรษฐกิจ

ที่แม้พ้นวิกฤติแล้วก็ยังมีร่องรอยเหลืออยู่…

ส่วน “แผลเป็นเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19” นั้น เรื่องนี้ทาง ดร.ดอน ได้ระบุไว้ในบทความว่า… ส่วนตัวมองเห็นบาดแผลอยู่ 2 ประการ… แผลแรกคือพิษจาก “หนี้ครัวเรือนของไทย” และ แผลที่สองคือ “คุณภาพของแรงงานหลังยุคโควิด-19” ซึ่งทั้ง 2 บาดแผลนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม ทางผู้เชี่ยวชาญคนเดิมก็ได้แนะนำ “เทคโนโลยีที่จะช่วยลบแผลเป็นเศรษฐกิจ” ให้กับประเทศไทย โดยได้ชี้ไว้ว่า… “มาตรการที่ตรงจุด-ทำครบวงจร-ทำถูกหลักการ-สร้างสมดุลที่ดี” จะช่วยให้ไทยจัดการแผลเป็นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้…

แต่จะให้ดี “ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน”

เพื่อ… “ลบแผลเป็นเศรษฐกิจจากโควิด”

ทั้งนี้ กับเรื่อง “แผลเป็นเศรษฐกิจ” ที่เป็น “ผลพวงจากพิษวิกฤติโควิด” นั้น ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการออกมาระบุถึงผลกระทบจากกรณีนี้ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยมีการหยิบยกมานำเสนอเพื่อร่วมฉายภาพให้ทุกคนได้เห็น โดยคำว่า “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic Scar)” นั้นหมายถึง ผลกระทบเชิงลบซึ่งอาจจะไม่จางหายไป ถึงแม้วิกฤติใหญ่ที่เกิดขึ้นจะผ่านไปแล้วก็ตาม ซึ่งนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจก็เคยอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นไว้ว่า… “แผลเป็นเศรษฐกิจ” จะเป็นผลกระทบเชิงลบที่ไม่จางหายไป โดย ผลกระทบจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปกับกลุ่มคนช่วงวัยต่าง ๆ… 

มีทั้ง “ยกระดับสถานะทางสังคมยิ่งยาก”

ทั้ง “ช่องว่างเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างขึ้น”

ยิ่งถ้า “มาตรการด้อย-ร่วมมือกันไม่ดี”

“จะเป็นบาดแผลเศรษฐกิจระยะยาว”.