ศึกลูกหนัง เอเอฟเอ มิตซูบิชิ อิเล็คทริก คัพ เดินทางมาถึงเกมนัดชิงชนะเลิศ นัด 2 ซึ่งจะเป็นเกมชี้ชะตาแชมป์แล้วว่าระหว่าง ไทย กับ เวียดนาม ใครจะเป็นแชมป์

แต่วันนี้อยากชวนทุกท่านย้อนกลับไปมองภาพรวมของทัวร์นาเมนต์ชิงความเป็นหนึ่งของวงการลูกหนังอาเซียนรายการนี้ ซึ่งเซิ้งแข้งกันมาเกือบ ๆ 1 เดือนเต็ม

ที่ผ่านมามีคำถามมากมายถึง “มาตรฐาน” ของทัวร์นาเมนต์นี้ในหลาย ๆ เรื่อง

ถ้าให้นึกเร็ว ๆ อย่างแรกที่หลายคนพูดถึงคงเป็นเรื่อง วีเออาร์ ซึ่งอันที่จริงถ้าจำกันได้ ในทัวร์นาเมนต์เมื่อปีที่แล้ว เคยมีข่าวว่า เอเอฟเอฟ ยืนยันว่าในการแข่งขันปีนี้น่าจะมี มีเออาร์ แต่สุดท้ายก็ไม่มี

และด้วยรูปเกมของฟุตบอลในภูมิภาคนี้ที่ปกติเตะกันไม่ยั้ง แทนที่ วีเออาร์ จะทำให้นักเตะยับยั้งชั่งใจขึ้นบ้าง แต่พอไม่มีกลายเป็นเหมือนไฟเขียวให้เตะกันได้ตามสบายยังไงยังงั้น และที่ผ่านมาก็มีหลายเหตุการณ์ที่ถ้ามี วีเออาร์ สถานการณ์มันอาจเปลี่ยนไป

ทั้งประตู 2-0 ที่ มาเลเซีย ไม่ได้ในเกมรอบรองที่บูกิต จาลิล จังหวะที่ไทยไม่ได้จุดโทษจากเกมเดียวกัน แม้กระทั่งในเกมรอบชิงนัดแรกที่ฮานอย กับจังหวะที่ เก งอก ไฮ ดูคล้าย ๆ จะชกหน้า “โก๋อุ้ม” ธีราทร บุญมาทัน

จะว่าไป ถ้าจะมี วีเออาร์ จริง ๆ ผมว่ามันก็ไม่น่าใช่เรื่องยาก ถ้าบอกว่าสนามของหลายชาติไม่พร้อม งั้นก็เอาแค่รอบตัดเชือกกับรอบชิงชนะเลิศก็ได้ หรือจะบอกว่าชาติในอาเซียนยังไม่คุ้นเคยกับ วีเออาร์ เพราะมีไทยลีกแค่ลีกเดียวที่ใช้ แต่สุดท้ายคุณก็ใช้ผู้ตัดสินจากนอกอาเซียนอยู่แล้ว

อีกเรื่องที่ขัดใจคือการวางโปรแกรมแข่ง ที่เว้นระหว่างเกมแค่ 2 วัน โดยที่ทีมต้องเดินทางต่างประเทศอีกต่างหาก เพราะเท่าที่เคยเห็นมา ผมยังใม่เคยเห็นทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติวางโปรแกรมแข่งแบบนี้ซึ่งมันส่งผลต่อสภาพร่างกายนักฟุตบอลแน่นอน บางทีเตะที่เดิมยังเว้นอย่างน้อย 3 วันด้วยซ้ำ

นี่ยังไม่รวมถึงการจัดการต่าง ๆ ในวันแข่งขัน ซึ่งดูเป็นไปตามยถากรรมยังไงไม่ทราบ

เรื่องเหล่านี้บางคนอาจมองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถึงมาตรฐานไม่ได้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น มันก็ยังแข่งกันได้

แต่ถ้าตั้งเป้าจะยกระดับเกมในภูมิภาคนี้จริง ๆ เรื่องเหล่านี้ไม่ควรถูกมองข้ามด้วยประการทั้งปวง

ผยองเดช