ซึ่งพระรูปดังกล่าวนั้นมีบรรดาคนดัง เน็ตไอดอลชื่อดัง ให้ความเคารพนับถือเป็นลูกศิษย์ลูกหา และถึงขั้นยกย่องพระรูปนี้เป็น “ครูบา” ซึ่งเรื่องนี้กรณีนี้ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร?? นั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสกันที่คำว่า “ครูบา” ระยะหลัง ๆ คำนี้ดูจะ “คุ้นหูคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” และหลาย ๆ คนก็มี “ข้อสังเกต??” หรือเกิด “ปุจฉา” เกี่ยวกับคำ ๆ นี้ว่า…

ศัพท์ทางพระคำนี้ “มีที่มาเป็นเช่นไร?”

แล้วคำ ๆ นี้ “มีเกณฑ์การใช้หรือไม่?”

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มี “วิสัชนา”…

เกี่ยวกับ “คำศัพท์ทางพระ” อย่างคำว่า “ครูบา” ที่ระยะหลัง ๆ สังคมไทยดูจะ “คุ้นเคย-คุ้นหู” กับคำ ๆ นี้มากขึ้นนั้น สำหรับ “นิยาม-คำจำกัดความ” ของคำ ๆ นี้ ในหนังสือชื่อ “เถราภิเษก : พิธียกยอสมณศักดิ์พระสงฆ์ในล้านนา” ที่จัดทำขึ้นโดย โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาประเทศเพื่อนบ้าน สำนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้ให้คำอธิบายถึงคำ ๆ นี้เอาไว้น่าสนใจ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้หยิบยกข้อมูลบางส่วนมาสะท้อนต่อ ณ ที่นี้โดยสังเขป ด้วยหวังให้สังคมไทย “เข้าใจ” รวมถึง “รู้หลักการใช้” เกี่ยวกับศัพท์พระคำว่า “ครูบา”

เพื่อจะได้ “เข้าใจคำ ๆ นี้อย่างถูกต้อง”

หรือจะเป็นแบบ “รู้ไว้ใช่ว่า” ก็สุดแท้แต่

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้มีการอธิบายคำว่า “ครูบา” ไว้ ผ่านทางบทความชื่อ “ครูบา : เนื้อนาบุญของล้านนา” โดย พระมหาง่า ธีรสํวโร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ซึ่งมีการระบุไว้ว่า… “คำเรียกขานพระสงฆ์” ว่า “ครูบา” นั้น “มีที่มาจากคำภาษาบาลี” คำว่า “ครุปิ อาจาริโย” ที่แปลว่า “เป็นทั้งครูและอาจารย์” ซึ่งในส่วนของคำว่า “ครุปิ” ภายหลังได้เพี้ยนมาเป็นคำว่า “ครูบา” …นี่เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับ “ที่มาของคำว่าครูบา”

สำหรับ “การใช้คำเรียก” คำนี้ พบว่า… นิยมใช้กันในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนา โดยคำเรียกนี้ เป็นตำแหน่งของพระสงฆ์ผู้ที่ได้รับการพิจารณาเลือกสรรว่ามีศีลาจารวัตรเรียบร้อย มั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย เป็นที่ยอมรับ ทั้งจากคณะสงฆ์และฆราวาสทั่วไป หรือ มีผลงานปรากฏแก่ชุมชน อาทิ การก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ หรือสร้างวัดวาอาราม เป็นต้น หรือ มีคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ ในการทำงานเพื่อพระศาสนา หรือ เป็นที่พึ่งของประชาชนหมู่มาก ดังนั้นครูบาจึงเป็นคำนำหน้าเฉพาะพระสงฆ์บางรูปเท่านั้น และที่สำคัญ พระภิกษุทั่วไปไม่มีสิทธิ์ใช้หรือแต่งตั้งตัวเองเป็นครูบา

นี่เป็น “ข้อมูลจำเพาะ” คำว่า “ครูบา”

คำเรียกขานพระในวัฒนธรรมล้านนา

อย่างไรก็ตาม ในบทความยังได้มีการฉายภาพ “กระแสนิยมในยุคหลัง ๆ” ที่พบว่า… มักมีการนำคำว่า “ครูบา” มาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ ใช้แบบไม่รู้ที่มาความหมายเพิ่มขึ้น โดยในระยะไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า…มีพระภิกษุหนุ่ม ๆ ที่บางรูปพรรษายังไม่พ้นนิสัยมุตตกะ (3 พรรษา) ได้ สถาปนาตนเองเป็นครูบากันแพร่หลาย จนนำมาซึ่งความสับสนของสังคมไม่น้อย ซึ่งถ้าไม่สามารถหยุดกระแสศรัทธาเรื่องครูบาได้ คณะสงฆ์ก็จำเป็นต้องมีการทบทวนพิธีสถาปนาครูบา ว่า… มีธรรมเนียม มีหลักปฏิบัติ มีเกณฑ์คัดเลือก อย่างไร? พระสงฆ์รูปนั้น ๆ จึงจะสามารถนำคำว่าครูบามาใช้ได้

นี่เป็น “ข้อเสนอ” เกี่ยวกับคำว่า “ครูบา”

เพื่อจะ “ป้องกันไม่ให้ใช้กันแบบผิด ๆ”

ทั้งนี้ “กระแสนิยม” ที่นิยม “นำคำว่าครูบามาใช้นำหน้าชื่อพระสงฆ์” ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ก็มีประเด็นน่าสนใจที่ถอดความได้จากการแสดงปาฐกถาเนื่องในพิธีเปิดสัมมนาทางวิชาการ โดย พระราชปริยัติเมธี กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ที่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ประมาณว่า… เกิดกระแสนิยมในการนำคำ ๆ นี้มาใช้อย่างเกลื่อนกลาดมากมายในปัจจุบัน และได้ ถูกนำมาใช้ยกย่องกันด้วยผลประโยชน์ ซึ่งคนที่ยกย่องก็มีผลประโยชน์ร่วม ส่งผลให้ศรัทธาพุทธศาสนิกชนถดถอยลง ทั้ง ๆ ที่ “ครูบา” เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์ …เป็นการระบุถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

และ พระราชปริยัติเมธี ยังสะท้อนกรณีนี้ไว้อีกว่า… มีพระที่ถูกเรียกเป็นครูบาที่มักเสียด้วยเรื่องผลประโยชน์ อีกทั้งเมื่อเชียร์ไปเชียร์มากลับพบว่า… “ไม่ใช่ครูบาจริง ๆ” แต่เป็น “ครูบาบ่มแก๊ส” ซึ่งก็เหมือนกับผลไม้ ผลไม้ที่ไม่ถูกบ่ม ผลไม้ที่สุกเอง ย่อมหวานหอมอร่อย แต่ผลไม้ที่เอาไปอบแก๊ส ย่อมทำให้รสชาติหายไปครึ่งหนึ่ง …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากปาฐกถาจากเวทีวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ที่ทางพระราชปริยัติเมธีได้เคยสะท้อนไว้ พร้อมทั้งได้ให้ “ข้อคิด” เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วย

เหล่านี้เป็น“วิสัชนา” กรณี “ปุจฉาครูบา”

สะท้อนภาพ “ปรากฏการณ์คำว่าครูบา”

บ่งชี้ให้ชาวพุธ “ไม่หลงกระแส-ฉุกคิด”

“ไม่ติดกับดักศรัทธา…ครูบาบ่มแก๊ส”.