อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีหลายคน กล่าวว่า ความสำเร็จเช่นนี้เกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ โดยให้เหตุผลว่า การใช้ความรุนแรงของรัฐเป็นเพียงแค่การกันผู้เห็นต่างให้ออกจากความสนใจ ในขณะที่ชาวอิหร่านทั่วไปมีความโกรธเคืองอย่างลึกซึ้งต่อสถาบันที่ปกครองประเทศมานานราว 40 ปี

อิหร่านไม่สนใจความโกรธของสาธารณชนและการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และตัดสินโทษประหารชีวิตหลายสิบครั้ง เพื่อข่มขู่ชาวอิหร่านที่โกรธแค้นต่อการเสียชีวิตของ น.ส.มาห์ซา อมินี วัย 22 ปี ระหว่างอยู่ในการควบคุมของตำรวจศีลธรรม เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งปลดปล่อยความโกรธที่สะสมมานานหลายปีเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในสังคม

DW News

อนึ่ง ตามการระบุของศาล มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 4 คนถูกแขวนคอ นับตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้น รวมถึงผู้ประท้วง 2 คน ที่ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันสังหารเจ้าหน้าที่ของ “บาซิจ” ซึ่งเป็นกองกำลังอาสาสมัครกึ่งติดอาวุธ

ด้าน องค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล” กล่าวว่า อิหร่านกำลังหาทางตัดสินโทษประหารชีวิตประชาชนอีกอย่างน้อย 26 คน ในสิ่งที่องค์การเรียกว่าเป็น “การพิจารณาคดีแบบอำพรางที่ออกแบบมาเพื่อข่มขู่ผู้ประท้วง”

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการประหารชีวิตสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้เชียวชาญเรียกว่าเป็น แนวทางที่สอดคล้องกันของผู้นำศาสนาที่มีต่อรัฐบาล นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 2522 ที่ทำให้รัฐบาลมีอำนาจ หรือความพร้อมที่จะใช้กำลังใด ๆ ก็ตามที่จำเป็น เพื่อบดขยี้ผู้เห็นต่าง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคน ระบุว่า จิตวิญญาณการปฏิวัติที่หยั่งรากได้ทั่วประเทศ ในระหว่างการประท้วงนานหลายเดือน อาจรอดพ้นจากการปราบปรามด้านความมั่นคงได้ เพราะความไม่พอใจของกลุ่มผู้ประท้วงยังไม่ได้รับการจัดการ

เนื่องด้วยความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าเดิม โดยมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ที่เป็นข้อพิพาทของรัฐบาลเตหะราน ชาวอิหร่านจำนวนมากกำลังรู้สึกถึงความเจ็บปวดของภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มันไม่สัญญาณใด ๆ ที่บ่งบอกว่า ประธานาธิบดีอีบราฮิม ไรซี ผู้นำอิหร่าน หรือผู้นำคนอื่น กำลังพยายามออกนโยบายใหม่ ๆ เพื่อชนะใจประชาชน แต่กลับกัน ดูเหมือนว่าความสนใจของพวกเขาจะจับจ้องไปที่ความมั่นคงแทน

แม้หน่วยงานหลักซึ่งผลักดันให้มีการประหารชีวิตในวันนี้ จะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับการสังหารนักโทษ เมื่อทศวรรษที่ 1980 แต่สำหรับปัจจุบัน อาชญากรรมเหล่านั้นไม่สามารถถูกเก็บไว้ในความมืดได้อีกต่อไป เพราะทุกสิ่งที่พวกเขาทำอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ และดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS