สหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่เกาหลีเหนือถือเป็น “ปรปักษ์ตัวฉกาจตลอดกาล” มีกฎหมายคว่ำบาตรรัฐเปียงยางฝ่ายเดียวอย่างเจาะจง ย้อนหลังไปได้ถึงปี 2493 โดยจนถึงปัจจุบัน สภาคองเกรสบัญญัติกฎหมายใหม่มาแทนที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกฎหมายคว่ำบาตรเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันใช้อยู่ในเวลานี้ มีชื่อว่า “การต่อต้านปรปักษ์ของอเมริกาด้วยการคว่ำบาตร” ( ซีเอเอทีเอสเอ ) ( Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act – CAATSA )
สภาคองเกรสของสหรัฐบัญญัติกฎหมายดังกล่าว เมื่อเดือนก.ค. 2560 ในสมัยรัฐบาลวอชิงตันของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะเกาหลีเหนือ โดยยังรวมถึงอิหร่าน รัสเซีย และจีนด้วย อย่างไรก็ตาม เฉพาะในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือนั้น มีสาระสำคัญเกี่ยวกับ การขยายขอบเขตอำนาจให้กับประธานาธิบดี ในการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อ “บุคคลใดก็ตาม” ซึ่งละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ ซีเอเอทีเอสเอยังระบุ “การเสนอแนะ” ไปยังสถาบันการเงินทุกแห่งของสหรัฐ ไม่ควรจัดตั้งหรือรักษาสถานะของบัญชีสำหรับธนาคารหรือสถาบันการเงินของต่างประเทศ ที่ต้องสงสัยมอบความสนับสนุนทางการเงินให้แก่เกาหลีเหนือ แม้เป็นทางอ้อมก็ตาม นอกจากนั้น รัฐบาลของประเทศแห่งใดก็ตาม ที่สนับสนุนหรือรับความช่วยเหลือในบริบทกลาโหมจากเกาหลีเหนือ อาจไม่ได้รับความสนับสนุนแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันจากสหรัฐ
ทั้งนี้ ซีเอเอทีเอสเอเน้นไปที่การคว่ำบาตร เรือบรรทุกสินค้าของเกาหลีเหนือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยแรงงานเกาหลีเหนือซึ่งอยู่ภายใต้สถานการณ์ของการกดขี่ข่มเหง หรือเป็นการบังคับใช้แรงงาน ไม่ว่าสินค้าชนิดนั้นจะเกี่ยวข้องกับแรงงานชาวเกาหลีเหนือเพียงส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด และชาวต่างชาติซึ่งว่าจ้างแรงงานชาวเกาหลีเหนือ ให้ปฏิบัติงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เป็นที่ทราบกันดีว่า เกาหลีเหนือคือ “ประเทศสนธยา” เป็น “ดินแดนลึกลับ” ซึ่งผู้คนภายนอกต้องวิเคราะห์อย่างละเอียด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้ และเป็นที่เปิดเผยมาสู่โลกภายนอกนั้น “เป็นความจริงและมีการแต่งเติม” มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลซึ่งมีการยืนยันพร้อม “หลักฐาน” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และหน่วยงานสิทธิมนุษยชนอีกหลายแห่ง เป็นไปในทางเดียวกัน ว่าพลเมืองเกาหลีเหนือดำเนินชีวิต ท่ามกลางบรรยากาศ “การอยู่ภายใต้โอวาทอย่างหวาดกลัว” จากบทลงโทษของภาครัฐ ซึ่งมีทั้งการประหารชีวิต การคุมขัง การบังคับให้สูญหาย และการบังคับใช้แรงงาน
การที่รัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือระบุว่า “การใช้แรงงานหนัก” ถือเป็น “การแสดงความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อรัฐและพรรค” จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่จะมีข้อมูลออกมาเป็นระยะ ว่าชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ต้องเคยอยู่ในสถานะของการเป็น “อาสาสมัครใช้แรงงาน” อย่างน้อยในช่วงหนึ่งของชีวิต ด้วยเหตุผลจากรัฐบาลว่า เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อท่านผู้นำ การใช้แรงงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพไปจนถึงการขัดขืน แน่นอนว่าบุคคลนั้นต้องเผชิญกับบทลงโทษ
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญเกาหลีเหนือระบุว่า พลเมืองทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากรัฐ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลเปียงยางจัดทำบรรทัดฐานทางสังคมในประเทศ ที่เรียกว่า “ซองบุน” ( Songbun )
ซองบุนในสังคมของเกาหลีเหนือแบ่งเป็น 3 กลุ่ม นำโดย “กลุ่มหลัก” ( Key Group ) ถือเป็นชนชั้นสูง มีสัดส่วนประมาณ 27-28% แน่นอนว่า คือ นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน พร้อมสมาชิกในตระกูลคิม ผู้สืบสายโลหิตจากทหารผ่านศึก และทายาทของทหารหรือนักรบซึ่งร่วมต่อสู้ในสมัยจักรวรรดิญี่ปุ่นรุกรานคาบสมุทรเกาหลี
ระดับรองลงมาเรียกว่า “กลุ่มที่ทำให้ไม่สบายใจ” ( Agitated Group ) หรือยังไม่อาจไว้วางใจได้เต็มร้อย โดยเฉพาะในช่วงเวลาคับขันหรือยากลำบาก มีสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 45-50% ส่วนใหญ่คือประชาชนทั่วไป
ส่วนชนชั้นในลำดับสุดท้ายเรียกว่า “กลุ่มศัตรู” ( Hostile Group ) มีสัดส่วนประมาณ 27% โดยรัฐบาลเปียงยางถือว่า ประชาชนกลุ่มนี้มีจุดยืนทางการเมืองต่อต้านรัฐ หรือมีแนวคิดสนับสนุนระบอบทุนนิยม
อนึ่ง สถานะซองบุนได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตของคนในตระกูลนั้น ที่ต่อให้แท้จริงมีความสามารถมากแค่ไหน แต่หากบรรพบุรุษไม่ได้สร้างสถานะซองบุนได้อย่างดีพอ ทายาทย่อมไม่มีสิทธิได้ลืมตาอ้าปากทางสังคม ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี และไม่มีเสรีภาพในการเลือกอาชีพการงาน
นอกจากนี้ เกาหลีเหนือเป็นเพียง 1 ใน 7 ประเทศบนโลก ซึ่งยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( ไอแอลโอ ) นอกเหนือจาก อันดอร์รา ภูฏาน ลิกเตนสไตน์ ไมโครนีเซีย โมนาโก และนาอูรู แม้รัฐบาลเปียงยางร่วมให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา 5 ฉบับ ที่ถือเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
จนถึงปัจจุบัน เกาหลีเหนือยังคงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน แต่สวนทางกับประชาคมโลกในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แม้ยังไม่มีปัจจัยใดสามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจน ว่ารัฐบาลเปียงยางจะอดทนต่อแรงเสียดทานที่เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็น และโลกตะวันตกได้อีกนานแค่ไหน แล้วกลุ่มประเทศผู้อุปถัมภ์เกาหลีเหนือจะสามารถดูแลประเทศแห่งนี้ไปได้อีกนานเพียงใด จริงอยู่ที่การปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลันย่อมเป็นไปได้ยาก แต่หากบรรดาผู้มีอำนาจในกรุงเปียงยาง “เห็นแก่ประชาชนอย่างแท้จริง” ชาวเกาหลีเหนือจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่านี้แน่นอน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES