“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามข้อกฎหมายนี้กับ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะรองโฆษกฯ ให้ข้อแนะนำเมื่อเกิดการนอกใจของสามีภรรยา อันดับแรกคือ ผู้ฟ้องต้องผ่าน “การจดทะเบียนสมรส” หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือเป็นเพียง “คู่ชีวิต” ไม่สามารถฟ้องร้องได้ แม้รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นสามีภรรยา

การพบหรือรู้ว่าสามีหรือภรรยาตัวเองไปมีคนอื่น ถือว่าเป็นการนอกใจ อีกฝ่ายสามารถฟ้องหย่าได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ และสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายที่มาเป็นชู้กับคู่สมรส ตามมาตรา 1523

การฟ้องร้องค่าทดแทนจากชู้ กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่ากับสามีหรือภรรยาก่อน นั่นคือสามารถเลือกได้ว่าจะฟ้องหย่าคู่สมรส และฟ้องชู้ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากทั้งสองฝ่าย หรือจะไม่หย่า แต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคนที่มาเป็นชู้ฝ่ายเดียวก็ได้

อย่างไรก็ตาม การฟ้องหย่านั้น หากฝ่ายคู่สมรสมีการยินยอมก่อนแล้ว จะไม่สามารถเรียกค่าสินไหมได้ ยกตัวอย่าง กรณีภรรยาหลวงหาภรรยาน้อยให้สามี เป็นต้น

อีกประเด็นคือกรณีถูกผู้อื่นบังคับ หรือข่มขืนคู่สมรสเรา ตัวผู้เสียหายที่โดนกระทำสามารถยื่นฟ้องเองได้ตามกฎหมาย และตัวคู่สมรสก็สามารถฟ้องคู่กรณีฐานละเมิด ทำให้ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ตามสิทธิทางแพ่ง

การที่สามีหรือภรรยานอกใจ “ไม่มีโทษทางอาญา” แต่เป็นเรื่องของการเสื่อมเสีย เรื่องของศีลธรรมจริยธรรม “เป็นเรื่องทางแพ่ง” และศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีเหล่านี้คือ ศาลเยาวชนและครอบครัว ไม่ใช่ศาลทั่วไป

สำหรับการฟ้องร้อง ตามมาตรา 1529 สิทธิการฟ้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริง หรือหลักฐานการฟ้องเรื่องชู้สาวจะมีอายุความ 1 ปี หากเกินเวลาจะไม่สามารถใช้ฟ้องหย่าได้

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในครอบครัว หากสามีหรือภรรยาควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้ ไปทำร้ายร่างกาย ก็มีความผิดเรื่องทำร้ายร่างกาย ถ้าถึงแก่ชีวิตก็เป็นเรื่องการฆ่าคนตาย หากโดนทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส ก็จะมีโทษคือ ทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส เป็นความผิดทางอาญา ที่มีโทษหนักเบาลดหลั่นกันไป

ขณะที่หากไปทำร้ายชู้ ฝ่ายที่ถูกกระทำสามารถไปแจ้งความเรื่องทำร้ายร่างกายและเรียกร้องค่าเสียหายได้ เรื่องนี้ต้องแยกกัน เรื่องการนอกใจไปมีชู้เป็น “คดีความทางแพ่ง” แต่หากมีการทำร้ายร่างกาย ก็จะเป็น “คดีความทางอาญา” ไม่เกี่ยวพันกัน และเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ผู้ที่กระทำผิดจะอ้างเหตุว่าบันดาลโทสะ ป้องกันตัว ศาลก็คงไม่ปรานี เพราะกฎหมายไทยก็มีมาตรการให้ฟ้องบังคับทางแพ่งอยู่

ส่วนตัวฝากเตือนไว้ว่า ปัญหาภายในครอบครัว วิธีการแก้ไขต้องใช้วิธีการที่ดี ที่สำคัญต้องใช้สติ อย่าใช้อารมณ์ หรือความรุนแรง เพราะทำไปแล้วทุกอย่างก็แก้ไขยาก หากถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้ ต้องมาเสียใจภายหลัง และต้องรับผลที่ตามมาจากกระทำนั้นด้วย

“ตนคิดว่าปัญหาในครอบครัว อันดับแรกลองคิดเรื่องให้อภัยกันมากๆ เพราะคนเราบางครั้งผิดพลาดกันได้ เป็นเรื่องปกติชีวิตมนุษย์ ถึงจะมีบทบัญญัติของกฎหมาย หรือศีล 5 ข้อ แต่มนุษย์คือมนุษย์ ควรหาทางแก้ไขหรือเยียวยากันโดยสันติวิธี การใช้วิธีการรุนแรงไม่ได้เป็นผลดีกับใคร หากอยู่กันไม่ได้จริงๆ ก็เข้าสู่กระบวนการหย่าจะดีกว่า”

เรื่องราวลักษณะนี้ สภาทนายความฯ เคยให้การช่วยเหลือไปจำนวนมาก เพราะเข้าเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมฝากถึงผู้อาจเผชิญปัญหานี้ สามารถขอคำปรึกษาไปยังสภาทนายฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]