ยื้อยุดฉุดกระชากมาพักใหญ่ แต่ในที่สุดความถูกต้องก็ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด  หวังว่าจากนี้ไปโครงการระบบขนส่งในบ้านเราบางเส้นทางที่เดินหน้าไม่ได้ จะได้เร่งดำเนินการไปสู่ขั้นตอนที่ควรจะทำสักที เพราะการผลักดันให้เกิดรถไฟฟ้าให้ครบตามเครือข่ายที่กำหนดไว้ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้ เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

และให้คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบ ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวน การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับ ยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชน เพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในครั้งนี้ไปแล้ว

โดยมติของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ที่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมิน ดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เอกสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งจึงไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่ง ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีการกระทำที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาต่อไป อันเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหานี้ได้

ขั้นตอนต่อจากนี้ “นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. ได้ออกมาอธิบายว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีที่ บีทีเอสฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การประมูล หลังจากบีทีเอสอุทธรณ์ไปตามขั้นตอน แต่ยังมีคดีที่บีทีเอสฟ้องเพิกถอนยกเลิกการคัดเลือกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และขอให้คุ้มครอง ไม่ให้คัดเลือกใหม่ ซึ่งศาลไม่คุ้มครอง แต่รับคดีไว้พิจารณา

นอกจากนี้ บีทีเอสยังยื่นศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางฟ้องผู้บริหาร รฟม. และพวก จำนวน 7 คน ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในคดีหมายเลขดำที่ อท 30/64 ฐานความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ซึ่งศาลยังไม่รับฟ้อง

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทนั้น รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร สำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา

และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังมีความรุนแรง ประกอบกับ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่บังคับใช้กับกรณีการคัดเลือกเอกชน

อีกทั้งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการด้วย รฟม.จึงทำหนังสือขอบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนรอรายชื่อผู้ร่วมสังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม จากนี้ต้องจับตาดูว่า บทสรุปจะออกมาอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือการเมือง การยึดมั่นในคำพูด และรักษาสัญญาเป็นสิ่งสำคัญสุด.

———–
เขื่อนขันธ์