ในช่วงเริ่มต้นปีในบรรยากาศนี้ยังคงเป็นฤกษ์ดีสำหรับการเริ่มต้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ ชวนมองการออกแบบพื้นที่ทำงานหลังสถานการณ์โควิด ชวนค้นไอเดียจัดโต๊ะทำงาน ปรับเปลี่ยนมุมเดิม ๆ ไม่จำเจ โดย อาจารย์ปวรพชร บุญเรืองขาว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองในประเด็นนี้ว่า ถ้าพูดถึง พื้นที่ทำงาน โต๊ะทำงานการจัดเก็บจัดระเบียบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความรู้สึกใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้เวลาส่วนใหญ่จะใช้ไปก็กับพื้นที่นี้ค่อนข้างมาก

จากช่วงสถานการณ์โควิด พื้นที่ทำงานมีการปรับเปลี่ยนไปมากพอสมควร จากเดิมทำงานที่ออฟฟิศเป็นการทำงานที่บ้าน และในปัจจุบันกลับมาทำงานที่ทำงาน โดยในรอยต่อนี้บางคนมีความคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน พื้นที่ทำงานในปัจจุบันจึงมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด

“การปรับเปลี่ยนในที่นี้คงมองถึงเรื่อง การใช้เวลา พื้นที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดจะใช้เวลาอยู่ค่อนข้างมากกับพื้นที่เหล่านี้ พื้นที่ทำงานจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ การคิดงานอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ มีผลวิจัยกล่าวถึงการทำงานโดยเราจะทำงานได้ดีในพื้นที่ที่รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ พื้นที่ที่สามารถแสดงออก บ่งบอกความเป็นตัวตน สร้างอัตลักษณ์ตัวตนของเราในพื้นที่นั้นได้”

อีกประเด็นคือ สภาพแวดล้อม มีความสำคัญต่อการทำงานและการสร้างสรรค์งานเช่นกัน โดยมากจะมองว่าไม่เกี่ยวข้องกัน สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญโน้มน้าวนำให้เราเริ่มต้นคิดและสร้างสรรค์ เป็นจุดเริ่มหรือช่วยเปลี่ยนอิริยาบถทำให้กระตุ้นกระบวนการทำงาน คิดและลงมือทำไปพร้อม ๆ กัน

การออกแบบพื้นที่ทำงาน สร้างพื้นที่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำงานจึงมีความสำคัญ มีอิทธิพลต่อการคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน

ภาพจาก www.thewonderforest.com

ส่วนการจัดพื้นที่ทำงาน เปลี่ยนบรรยากาศให้สดใสชวนนั่งทำงาน อาจารย์ปวรพชร ให้มุมมองว่า การเริ่มต้นอยากให้เริ่มจากที่ตัวเรา จากความต้องการว่าต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบใด พฤติกรรมการทำงานของเราเป็นแบบไหน อย่างเช่น ปีที่ผ่านมามีหลายงานที่จะต้องติดต่อ หลงลืมสิ่งที่จะต้องทำ ฯลฯ ก็อาจจัดหาบอร์ดสำหรับเขียน แปะโน้ตเตือนความจำ นำมาเป็นตัวช่วย หรือใช้ระนาบผนัง ใช้พื้นที่โดยรอบให้เกิดประโยชน์ เชื่อมโยงไปกับการทำงาน ฯลฯ เป็นหนึ่งในตัวอย่างปรับพื้นที่ทำงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม

“ไอเดียการจัดพื้นที่ทำงานจัดโต๊ะทำงาน ในภาพกว้าง ๆ มีเทคนิคประมาณสองถึงสามประเด็นที่สามารถจะนำไปเป็นแนวทาง โดยอย่างแรก จัดพื้นที่ทำงานตอบรับกับธรรมชาติ หรือนำธรรมชาติเข้ามาให้มาก ทั้งนี้ การนำธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ทำงานจะช่วยให้มีความสดชื่น สบายใจ ทั้งช่วยให้เป็นมุมพักผ่อนสายตา กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ”

ภาพจาก onekindesign.com

การใช้สี วัสดุที่มองเห็นหรือสัมผัสกับสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แสงธรรมชาติ นำต้นไม้มาจัดวาง ตกแต่ง ทั้งนี้ ต้นไม้ยังคงเป็นที่นิยม แต่อย่างไรแล้ว ถ้าจะนำต้นไม้ใด ๆ มาจัดวาง ตกแต่ง ควรคำนึงถึงพื้นที่โดยรวม คำนึงถึงมุมที่จะนำมาวางไว้ เพื่อเป็นจุดพักสายตา อีกทั้งเลือกต้นไม้ที่จะเติบโตอยู่ได้ในที่ร่ม ในอาคาร ซึ่งก็มีความหลากหลาย เลือกนำมาจัดวาง นำมาตกแต่ง

ขนาดของต้นไม้ก็ต้องพิจารณา อย่างเช่น ถ้ามีพื้นที่ทำงานไม่มาก เลือกต้นไม้ขนาดใหญ่นำมาจัดวางก็คงไม่เหมาะ ที่สำคัญในเรื่องของการดูแล ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย ทั้งนี้จากที่กล่าวความเป็นธรรมชาติจะช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ให้ความรู้สึกเป็นบวกเมื่อใกล้ชิดธรรมชาติ

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์ปวรพชรให้มุมมองจัดพื้นที่ทำงาน จัดโต๊ะทำงานเพิ่มอีกว่า นอกจากนี้ จัดพื้นที่ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ และแสดงคุณค่าในสิ่งที่เราทำแต่อย่างไรแล้วการจัดวาง ต้องคำนึงถึงการไม่รบกวนภาพรวมของพื้นที่ทำงาน อย่างเช่น การนำสิ่งของหรือรูปภาพที่แสดงถึงไลฟ์สไตล์ ของสะสม รูปภาพที่สร้างกำลังใจ รางวัลที่ได้รับ หรือนำข้อความคำคมนำมาตกแต่งจัดวางบนโต๊ะทำงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเป็นของตกแต่ง แต่มีความสำคัญที่จะบอกถึงความเป็นพื้นที่ของเรา สร้างพลังใจ กำลังใจ สร้างแรงจูงใจในการทำงาน ฯลฯ

ภาพจาก www.thegreenmadhouse.com

นอกจากนี้สามารถ จัดพื้นที่ที่แสดงออกถึงการทำงานของเราออกมาในเชิงจับต้องได้ โดยส่วนนี้บางออฟฟิศอาจใช้พื้นที่ ทำงานร่วมกัน การจัดในรูปแบบนี้จะช่วยให้แชร์ความคิด มุมมองร่วมกันได้ หรือจัดมุมทำงานที่ยืดหยุ่น สามารถโฟกัสการทำงานของตัวเรา ขณะเดียวกันสามารถพูดคุย ขอความเห็นจากเพื่อนร่วมงานได้ มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นอย่างเช่น ออกแบบพื้นที่ทางเดินโดยแทรกด้วยพื้นที่นั่งเล่น หรือนั่งทำงานเป็นกลุ่มได้ เป็นต้น

อีกทั้ง การจัดพื้นที่ที่หลากหลาย ที่มาจากความต้องการของรูปแบบการใช้งานและกิจกรรมที่ต่างกัน เป็นอีกรูปแบบจัดพื้นที่ทำงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะปัจจุบัน จากที่กล่าวสถานการณ์โควิดในเรื่องของพื้นที่ทำงานจะเห็นการปรับเปลี่ยนได้ชัดเจน โดยถึงเวลานี้และหลังจากสถานการณ์โควิด ในเรื่องนี้ยังคงน่าศึกษา หน่วยงานองค์กรจะออกแบบพื้นที่ทำงาน สร้างแรงจูงใจการทำงานอย่างไร จะกลับไปในรูปแบบหรือไม่ หรือพัฒนาไปอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ภาพจาก www.lukearthurwells.com

“พื้นที่ทำงานสมัยใหม่จะเห็นว่า มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมาก โดยความหลากหลาย ในที่นี้หมายถึงตอบจุดประสงค์ได้หลายอย่าง ขณะที่ความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยพร้อมที่จะเป็นพื้นที่ทำงานและสามารถจะปรับไปเป็นอย่างอื่น โดยสองคำนี้ จะเห็นเด่นชัดขึ้นโดยปรากฏในพื้นที่ทำงานส่วนตัวของเรา และปรากฏในออฟฟิศ

อาจารย์ปวรพชร ให้มุมมองการออกแบบตกแต่งพื้นที่เล็ก ให้ดูกว้างเพิ่มอีกว่า การจัดพื้นที่เล็ก ๆ ให้ดูกว้าง ให้มีความยืดหยุ่น ทำงานได้มีประสิทธิภาพ มีหลายเทคนิค อย่างแรก ไม่รก ในที่นี้มีความหมายทั้งการจัดพื้นที่ได้ดี หรือมีพื้นที่ว่างในการทำงาน โดยไม่ว่าจะมีพื้นที่น้อยอย่างไรก็ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพได้ ในทางกลับกันถ้ามีสิ่งของวางระเกะระกะ มีความรกในพื้นที่เล็กยิ่งทำให้ใช้งานยากขึ้น ไม่เชิญชวนให้นั่งทำงานเมื่อมีความรก

พื้นที่เล็กต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ว่าง เก็บของให้เป็นระเบียบ อีกทั้งการใช้พื้นที่ผนังใช้พื้นที่ระนาบด้านข้างให้เป็นประโยชน์ จะช่วยให้ใช้พื้นที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยดีไซน์ให้มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้มีฟังก์ชันมากขึ้นกว่าการเป็นระนาบด้านข้างอย่างเช่น การแขวน จะช่วยให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นในพื้นที่เล็ก ๆ”

ขณะที่ สี ก็มีส่วนช่วยหลอกตาให้กว้างขึ้น โดยเลือกใช้สีให้กลืนกันไปทั้งระนาบ ใช้สีไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ในเรื่องของสีที่นำมาเชื่อมโยงนำมาใช้กับพื้นที่ทำงาน ยังมองต่อไปได้อีกหลายประเด็น โดยถ้าต้องการให้มีความสงบ ใช้สมาธิ โฟกัสกับการทำงาน ฯลฯ เลือกเป็น โทนสีฟ้า สีนํ้าเงิน หรือโทนสีเขียว เป็นต้น

ภาพจาก www.thegreenmadhouse.com

ขณะที่ การทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานเขียน งานครีเอทีฟ ฯลฯ โทนสีเหลือง โทนส้ม เป็นสีที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในเชิงจิตวิทยา ทั้งนี้ การเลือกใช้ หากให้แนะนำคงกลับไปที่จุดเริ่มต้น เริ่มจากความชอบ ความสนใจเลือกใช้สีโดยนำมาจัดองค์ประกอบบาลานซ์กับลักษณะของงานของเราผสมผสานกันไป

“สีที่เราชอบอาจจะเป็นสีสดใสมาก ๆ หากเป็นโต๊ะทำงานที่บ้านคงไม่มีปัญหาใด ๆ แต่หากเป็นที่ทำงานคงต้องดูภาพรวม แต่ในหลักการอาจนำสีที่เราชอบ ใช้ประมาณยี่สิบเปอร์เซ็นต์ โดยอาจมีอยู่ในสิ่งของสะสม รูปภาพ หรือเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก ๆ กระถางต้นไม้ ฯลฯ อีกทั้งในการทำงานควรต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ลุกเดิน หรือละสายตาจากหน้าจอก็ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ มีพลังสร้างสรรค์ เสริมไปกับบรรยากาศของโต๊ะทำงาน”

อาจารย์ปวรพชร ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่ทำงานยังมีประเด็นที่น่าศึกษา น่าสนใจ ทั้งถูกนำมาตั้งคำถามโดยเฉพาะการใช้พื้นที่ทำงานหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะสร้างความท้าทายต่อพื้นที่สำนักงานในรูปแบบใหม่ ๆ เป็นส่วนหนึ่งบอกเล่าการออกแบบพื้นที่ทำงานสร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ให้กับการทำงาน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ