มาถึงปี 2566 ตอนนี้ “ไฟใต้” นั้นก็ผ่าน 19 ปี “ลามเข้าสู่ปีที่ 20” แล้ว ซึ่งถึงวันนี้แม้สถานการณ์ดูจะแรงไม่มากในการรับรู้ของคนทั่วไป แต่ทว่า…

“ไฟใต้ยังไม่มอดดับ” ดังที่หลายคนหวัง

กรณีไฟใต้ “ยังมีเชื้อไฟที่อาจปะทุแรง!!”

“ยังเป็นอีกปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ”

ทั้งนี้ “สถานการณ์ไฟใต้” นั้น ที่ผ่านมาก็มีความพยายามจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะค้นหา “ทางออก-วิธีดับไฟ” อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้สถานการณ์ก็ยังคงเป็นดังที่ระบุข้างต้น และวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาสะท้อนต่อให้พิจารณา ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ก็มี “มุมสะท้อนทางวิชาการ” จากทาง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และอาจารย์ประจำ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ และ “ชวนคนไทยร่วมคิด” เรื่องนี้ เพื่อจะให้“เข้าใจสถานการณ์ของไฟใต้” เพื่อที่จะได้ “ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างตรงจุด”

มุมสะท้อนทางวิชาการมุมนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ สะท้อนไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ผ่านบทวิเคราะห์ภายใต้ชื่อ “ชายแดนใต้/ปาตานี 2547-2564 : ก้าวเข้าปีที่สิบเก้า…สันติภาพจะเดินหน้าไปถึงไหนในปี 2565?” ซึ่งก็มีประเด็นน่าสนใจที่ยังคงร่วมสมัยในปี 2566 นี้ โดยนักวิชาการท่านนี้ระบุไว้ว่า… แม้หลัง ๆ ดูเหมือนข่าวเหตุกาณ์ภาคใต้จะเบาลง ซึ่งที่จริงเหตุการณ์ก็ดูเหมือนจะลดลงจริง ๆ แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้หายไป โดยเมื่อพิจารณาจากจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2564 กรณีนี้แสดงว่า “ยังคงมีสิ่งผิดปกติที่ซ่อนเร้นอยู่” ซึ่งถ้าหากสังคมไม่ทำความเข้าใจให้ดี ก็ “อาจปะทุกลับมารุนแรงใหม่อีก”

เป็น “คำเตือน” จากนักวิชาการท่านนี้

ที่ชี้ว่า “อย่าประมาทสถานการณ์ไฟใต้”

นอกจากนั้น นักวิชาการท่านนี้ยังระบุถึง “ตัวเลขไฟใต้” ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2547-2564 ที่นำมา “ถอดรหัส” ด้วย โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ สะท้อนไว้ว่า…นับตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นเมื่อปี 2547 จนถึงปี 2564 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเกิดขึ้น 21,328 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 7,314 ราย มีผู้บาดเจ็บ 13,584 ราย ซึ่งเมื่อรวมผู้บาดเจ็บล้มตายทั้งหมดก็อยู่ที่ 20,898 ราย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปก็ถือว่า แนวโน้มสถานการณ์ลดลงอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการพูดคุยสันติภาพ โดยจำนวนเหตุการณ์ได้ลดลงต่อเนื่องมาถึงปี 2563 ก่อนที่ กราฟได้ดีดขึ้นในปี 2564 อีกครั้ง

สำหรับสถานการณ์ไฟใต้ที่กลับมาปะทุอีกในปี 2564 นั้น ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สะท้อนไว้ว่า…เป็นที่น่าสังเกต เมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบกลับสูงขึ้นในปี 2564 มีเหตุการณ์เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2563 คือจาก 335 เหตุการณ์ เป็น 481 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 ที่เหตุการณ์ทั้งปีสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า อีกทั้งพบว่า…ปี 2564 มีผู้บาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงร้อยละ 9 โดย “ความแปรปรวนที่เกิดขึ้น” นี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ตั้ง “ข้อสังเกต” ไว้ว่า…ที่จู่ ๆ ก็มีจำนวนเหตุการณ์เพิ่มขึ้นนี้ อาจบ่งชี้ว่า อาจเกิดจากสภาพอะไรบางอย่าง?? หรือ มีปัญหาทางนโยบายที่ยังแก้ไม่ตก??

ทั้งนี้ ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สะท้อนไว้อีกว่า… ความแปรปรวนของเหตุการณ์ที่ปี 2564 มีมากขึ้นกว่าปี 2563 ชัดเจน หลังจากที่ค่อย ๆ ลดลงตั้งแต่ปี 2556 ที่เป็นปีเริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพ ยิ่งสะท้อนว่า… แม้เหตุการณ์ทั่วไปจะลดลง แต่ความแปรปรวนของสถานการณ์ความไม่สงบยังคงมีอยู่ ด้วยเหตุนี้ทำให้สถานการณ์จึงยังคงไม่แน่นอน ยังคงมีความซับซ้อน ซึ่งสถานการณ์ที่กลับมาไม่สงบซ้ำ ย่อมส่งผลในทางจิตวิทยาการเมือง ดังสะท้อนจากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่เมื่อปี 2564 ที่ร้อยละ 60.8 มองสถานการณ์ “ไฟใต้” ว่า “ยังคงเหมือนเดิม…และอาจจะแย่ลง”

อย่างไรก็ตาม ใน “สถานการณ์ความไม่สงบ” ที่เกิดขึ้น ก็ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ ที่สะท้อนถึง “พลวัตที่เกิดขึ้น” ในปี 2564 ได้เช่นกัน โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุไว้ว่า…แม้จำนวนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจะเพิ่มสูงขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เป้าหมายต่อพลเรือนลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่าแม้เหตุการณ์จะเพิ่มขึ้น แต่การก่อเหตุที่มีต่อพลเรือนลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งในทางกลับกัน…สัดส่วนของเป้าหมายในส่วนของผู้ที่ถืออาวุธนั้นเพิ่มสูงขึ้น …ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวนี้ก็ยังมีประเด็นที่น่าคิดว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับสถานการณ์ไฟใต้?? ซึ่งนักวิชาการท่านเดิมระบุไว้ด้วยว่า…

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ การวางแผนงบประมาณและทรัพยากรที่ทุ่มลงไปจำนวนมากเพื่อสร้างภาวะสงบสันติ แต่ประเด็นที่ชวนคิดก็คือตกลงแล้วสันติภาพที่ว่านี้คืออะไรกันแน่? และนโยบายกับทรัพยากรที่ทุ่มลงไปมากมายนั้น…ทำเพื่อความมั่นคง เพื่อการพัฒนา หรือเพื่อสันติภาพ ซึ่งประเด็นนี้คือสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องการคำตอบ” …นี่ก็ถือเป็น “ประเด็นชวนคิดกรณีไฟใต้” ซึ่งถึงปี 2566 แล้วก็ “ยังร่วมสมัย”

“สถานการณ์ไฟใต้” วันนี้ “ลามสู่ปีที่ 20”

“สันติภาพ” นั้น “ยังมีประเด็นชวนคิด?”

“อะไร?…ที่ทำให้ชวนคิดไม่จบไม่สิ้น?”.