ความเครียดสะสมที่ขาดวิธีการจัดการล้วนส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ นำไปสู่ความวิตกกังวล อารมณ์ไม่มั่นคง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การเรียนและสัมพันธภาพต่อครอบครัวและบุคคลแวดล้อม…

การทำงาน การเรียน ความเครียด ความกดดัน การทำกิจวัตรเดิมซ้ำ ๆ ขาดแรงจูงใจยังส่งผลอาจทำให้หมดไฟ หมดพลังสร้างสรรค์ เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ ชวนเติมความสุข ค้นแรงบันดาลใจ ปลุกไฟในการทำงาน การเรียน ปลดล็อกพร้อมลุยกับสิ่งที่จะเป็นอุปสรรค ชวนสำรวจ สังเกตภาวะหมดไฟ โดย แพทย์หญิงอชิรญา สุวรรณหงส์ หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวช ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความรู้ในประเด็นนี้ว่า ภาวะหมดไฟ มักพบในคนวัยทำงานที่พบกับ ความเครียดสะสม เรื้อรัง จากการงานมายาวนานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง

ความเครียดเหล่านั้นทำให้เกิดเป็นความเหนื่อยล้า ท้อแท้ โดยภาวะนี้ที่ผ่านมามีการกล่าวถึงมาโดยตลอด เป็นภาวะหนึ่งที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคซึมเศร้าต่อไปในอนาคตได้ หากปล่อยปละละเลย

“ในทางร่างกาย บางคนอาจมีความรู้สึกเหนื่อยล้าง่าย นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือส่งผลต่อความคิด ทำให้มองโลกในแง่ลบถ้ามองถึงอาการภาวะหมดไฟ จากที่กล่าวผู้ที่มีภาวะหมดไฟ จะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า หมดเรี่ยวแรง ท้อถอย ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่มีสมาธิ ฯลฯ 

ต่อมาอาจมีความคิด มีความรู้สึกล้มเหลว มองบรรยากาศการทำงานเปลี่ยนไป คิดว่าตนเองไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเพียงพอ ความเชื่อมั่น ประสิทธิภาพในการทำงานของตนเองลดลง สุดท้ายเมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ มีเรื่องความคิด การพักผ่อนไม่เพียงพอที่ไม่สมดุล ฯลฯ ก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างแท้จริง”

หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวช แพทย์หญิงอชิรญา อธิบายเพิ่มขยายความอีกว่า อาการเหล่านี้อาจมีความคล้าย คาบเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า แต่อย่างไรแล้วจะมีความต่างกัน โดยผู้ที่มีภาวะหมดไฟอาจ มีเรื่องของอารมณ์เศร้า เครียดง่ายหรือหงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ หรืออาจจะมีเรื่องของการนอนไม่หลับ สมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง หรือมองตนเองในแง่ลบ ฯลฯ

อาการในลักษณะนี้จะพบคล้ายกับโรคซึมเศร้า แต่จะต่างกันตรงที่ คนที่มีภาวะหมดไฟจะมีอาการเหล่านี้เฉพาะบริบทของการทำงาน แต่หากป่วยซึมเศร้า อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นทุกบริบทของการใช้ชีวิต  การสังเกตตนเองจึงมีความสำคัญ โดยสิ่งสำคัญหากเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง มีอาการของภาวะหมดไฟเกิดขึ้น ควรหาวิธีดูแลตนเอง ปลุกไฟ เติมพลังให้กับตนเอง

แพทย์หญิงอชิรญา ให้มุมมองให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ภาวะหมดไฟตามที่องค์การอนามัยโลกกล่าวถึง ใช้ในบริบทการทำงาน แต่จริง ๆแล้วก็เริ่มมีงานวิจัยกล่าวถึงภาวะนี้ เกิดขึ้นกับ วัยเรียน เช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นจะคล้าย ๆ กัน มีความเครียดจากแรงกดดันทางด้านการเรียนที่สะสม เรื้อรัง โดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เหมาะสม

การปลดล็อก เติมพลังสร้างสรรค์ ความมีชีวิตชีวา ในที่นี้มองในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน หรือการเรียน โดยคุณหมอให้มุมมองว่า ในที่นี้ควรมีความพร้อมไปด้วยกันทั้งหมด เตรียมพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และทำสังคมให้ดี  โดยในเรื่องของ กายพร้อม เบื้องต้น พื้นฐาน อย่างแรกรักษาสุขอนามัย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยหกถึงแปดชั่วโมงต่อวัน รับประทานอาหารที่หลากหลายมีประโยชน์ครบห้าหมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย ๆ มีความต่อเนื่อง สามสิบนาทีต่อครั้ง สามถึงห้าวันต่อสัปดาห์ ฯลฯ

ความกดดันในการทำงาน และการเรียน มีความคล้ายกันโดยในกลุ่มวัยเรียน อาจสังเกตจากอารมณ์ ถ้ามีความเครียดง่าย หงุดหงิดง่าย ขาดเรียนบ่อย ไม่อยากไปโรงเรียน หรือผลการเรียนแย่ลงอาจต้องสงสัย และค้นหาสาเหตุ โดยอาจมีภาวะนี้หรือไม่อย่างไร หรือมีปัจจัยอื่น ไม่ควรละเลย แต่ควรแก้ไข”

ใจพร้อม เมื่อการพักผ่อนเพียงพอ ประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิด ตัดสินใจจะดีขึ้น การจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ทำได้ดีขึ้นตามมา อีกทั้งจัดการ จัดระเบียบความคิดของตนเอง อย่างกรณีได้รับมอบหมายงาน  ทำงานที่เร่งด่วน ในส่วนนี้ ต้องฝึกจัดระดับความสำคัญของงาน วางแผนงาน โดยถ้าจำเป็นต้องทำงานให้เสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด วางแผนงาน จะนำงานจุดไหนมาทำก่อน ฯลฯ ที่สำคัญไม่ควรนำงานไปทำในช่วงใกล้ถึงเดดไลน์ โดยถ้าทำไม่ทัน จะยิ่งมีความเครียด กดดัน ฯลฯ ควรฝึกจัดระเบียบความคิด จัดลำดับความสำคัญการทำงานนั้น ๆ 

แต่หากมีความรู้สึกว่าเหนื่อย เหนื่อยจนเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหว อาจต้องหาเวลาหยุดพักให้กับตัวเองบ้าง อย่างในระหว่างวัน ถ้าวันนั้นงานหนักจนคิดอะไรไม่ออก อาจพักเบรกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เปลี่ยนอิริยาบถลุกเดินจากโต๊ะทำงานบ้างก็ช่วยให้มีความผ่อนคลายขึ้น หรือถ้าพอมีเวลาลาพักร้อนก็เป็นเรื่องที่ดี เพื่อเติมพลังใจให้กับตัวเราเอง ฯลฯ” 

อีกส่วนสำคัญปรับทัศนคติตนเอง คิดบวก เมื่อเวลาที่พบเจอปัญหา การคิดบวกเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันให้เราไม่เครียดไปกับสิ่งนั้น อย่างเช่น การที่เราได้รับงานใหม่เพิ่มขึ้น มองเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาตนเอง โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นพื้นฐานชีวิตให้กับตัวเราเอง ทั้งเป็นโอกาสดี เริ่มต้น ทดลองทำสิ่งใหม่ ส่วนผลผลัพธ์ ไม่ควรกดดันตนเอง มองตามความเป็นจริง โดยถ้าทำด้วยความตั้งใจ เต็มที่ ทำดีที่สุดในจุดนั้น ๆ แล้ว ควรชื่นชมตนเองกับสิ่งที่ได้พยายามทำ และหากยังไม่ดีที่สุดก็พยายามแก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป เป็นต้น

นอกจากนี้เวลาเครียด รู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้า การพูดคุยกับคนรอบข้าง กับคนในครอบครัว เพื่อนสนิทก็ช่วยได้ คุณหมออชิรญา อธิบายเพิ่มอีกว่า ในที่ทำงาน การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ยิ้มแย้มแจ่มใส มีนํ้าใจต่อกันเป็นเรื่องที่ดี โดยเมื่อบรรยากาศในที่ทำงานดีก็ส่งผลต่อการทำงานที่ดี

“สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นอีกส่วนหนึ่ง หากจัดแต่งมีพื้นที่ธรรมชาติ มีงานศิลปะบ้าง หรือจัดระเบียบโต๊ะทำงาน โต๊ะ สร้างบรรยากาศจูงใจทำงาน เป็นอีกส่วนเสริมสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกไฟการทำงาน แต่ทั้งนี้ถ้าปรับแก้ไข แต่ยังมีความเครียดอยู่ไม่ควรมองข้าม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญพาก้าวข้ามความท้อถอย เติมพลังสร้างสรรค์คือ การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านวิชาการที่สัมพันธ์กับการงานหรือการเรียน หรือทักษะการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการเรียนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยถ้าสื่อสารความต้องการของเราให้กับคนอื่นเข้าใจ หรือรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่นได้ เวลาที่เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ก็จะจัดการแก้ไขได้ง่ายขึ้น

ความเครียดทั้งจากเรื่องงานและการเรียนในปัจจุบันพบได้บ่อย มีภาวะหมดไฟ ดังนั้นเมื่อพบความผิดปรกติควรรีบแก้ไขนับแต่เบื้องต้น อย่างเช่น ความเครียด ความรู้สึกที่ทำให้ตนเองไม่มีความสุข หรือมีความวิตกกังวล คิดไปก่อนล่วงหน้าว่าจะเกิดแง่ร้ายในด้านต่าง ๆ ทั้งที่จริงแล้วอาจไม่เป็นไปอย่างที่คิดก็ได้ แก้ปัญหาไปทีละเรื่องอย่างมีเหตุผล

อีกทั้ง การให้กำลังใจกับตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับ การไม่กดดันตนเองในเรื่องต่าง ๆ มากจนเกินไป ทั้งให้เวลากับตนเอง ได้พักผ่อน ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี โดยหัวหน้าสาขาวิชาจิตเวช คุณหมออชิรญาให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า การที่เราทำอะไรสำเร็จ แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยก็ควรต้องฝึกชื่นชมตนเอง ให้รางวัลกับตัวเองบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยส่วนหนึ่งนี้หากนำมาปรับแก้ไข เตรียมความพร้อมจะทำให้กลับมามีพลังสร้างสรรค์ ไม่หมดไฟ

จัดการกับความเครียดกับภาวะหมดไฟ มีกำลังกาย กำลังใจและมีแรงบันดาลใจ เดินไปถึงจุดมุ่งหมาย “ปลดล็อก” จากความท้อถอย ปลุกพลังบวกทำสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราและสังคมโดยรวม.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ