ซึ่งในรอบปี 2565 ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นอีกปีที่มี “เฟคนิวส์ป่วนสังคมไทย” ล้นหลาม และส่วนหนึ่งก็ข้ามปีมาป่วนถึงปีนี้ ซึ่งก็จำเป็นที่คนไทยจะต้อง “ตั้งสติ-ไตร่ตรอง” เพื่อที่จะ “คัดกรองข้อมูลข่าวสาร” ที่หลั่งไหลเข้ามา รวมถึงกับ “เฟคนิวส์ที่ต้องเท่าทัน” ที่ทาง โครงการโคแฟค ประเทศไทย (COFACT Thailand) รวบรวมเผยแพร่ไว้ ซึ่งไม่เพียง “ไม่มีมูลความจริง”…

“เฟคนิวส์” นั้น “ทำให้สังคมสับสน”…

รวมถึง “อาจทำให้เกิดอันตราย” ได้ด้วย

หาก “หลงเชื่อแล้วทำตามเฟคนิวส์” นั้น

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “เฟคนิวส์เด่น” เมื่อปีที่แล้ว ที่ปีนี้ก็ยังคงต้องระวัง จากที่ทางโครงการโคแฟคได้รวบรวมไว้นั้น มีอาทิ… “เข้าห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดฝีดาษลิง” ซึ่งปีที่ผ่านมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ลดความรุนแรงลง ก็มีข่าวลือเกี่ยวกับอีกหนึ่งโรคระบาดที่สร้างความตื่นตระหนก คือ “ฝีดาษลิง” โดยเกิดข่าวลวงว่า… สามารถติดเชื้อได้จากห้องน้ำสาธารณะ จนทำให้ผู้คนหวาดกลัว จนหน่วยงานสาธารณสุขต้องออกมาให้ข้อมูลว่าไม่ติดง่ายขนาดนั้น และสามารถป้องกันไม่ให้ติดได้

“กินกระเทียมป้องกันโควิด-19 ได้เหมือนวัคซีน” นี่เป็นอีกเฟคนิวส์ที่แพร่สะพัดตลอดช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ที่ถึงแม้จะมีการออกมาชี้แจงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้หลาย ๆ ครั้ง ทั้งโดยสื่อ ทั้งโดยหน่วยงานรัฐ ว่า… ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าการบริโภคกระเทียม การกินน้ำกระเทียม จะป้องกัน “โควิด-19” ได้ แต่ดูเหมือนก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งเฟคนิวส์นี้ได้

“ศาลโลกสั่งให้ทุกประเทศหยุดฉีดวัคซีนโควิด-19” เป็นอีกเฟคนิวส์ที่มีการแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยข่าวลวงดังกล่าวมีข้อสังเกตคือ มีการอ้างอิง-มีการยึดโยงแหล่งข้อมูลแบบผิด ๆ โดยข้อมูลที่ถูกต้องคือ ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกามีคำวินิจฉัยห้ามออกกฎบังคับให้ภาคธุรกิจต้องฉีดวัคซีนทุกคน เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจส่งผลกระทบให้คนจำนวนมากตกงาน แต่ไม่ได้มีการสั่งห้ามหรือยกเลิกการฉีด “วัคซีนโควิด” แต่อย่างใด

เฟคนิวส์ต่อมาได้แก่… “กินฟ้าทะลายโจร  3 แคปซูล ป้องกันโควิดได้ 12 ชั่วโมง” เป็นอีกข่าวที่มีการส่งต่อและแชร์กันล้นหลามนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด จนผู้เชี่ยวชาญต้องออกมาย้ำว่า…สารแอนโดรกราโฟไลด์ใน “ฟ้าทะลายโจร” ช่วยให้ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมีอาการดีขึ้นและป้องกันปอดอักเสบได้ แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง

“น้ำมันกัญชาชุบชีวิตจากโรคเอดส์” เรื่อง “กัญชา” นี่เป็นประเด็นร้อนตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา จนถึงปี 2566 นี้ จนมีเฟคนิวส์แพร่กระจายอยู่ตลอดเช่นกัน โดยที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเฟคนิวส์กัญชา เช่น กัญชารักษาได้ทุกโรค รวมถึงโรคเอดส์ …ที่สรุปแล้วเป็นเพียง “ข่าวลือเก่า” ที่เกิดตั้งแต่ปี 2562 และได้กลายมาเป็น “ข่าวลวงใหม่” เรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน…

“เฟคนิวส์กัญชา” นี่ “มีปัจจัยก่อเกิด”

มัก “มีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจน!!”

และ “ปีนี้ก็ต้องตามดูจะมีกรณีใดอีก??”

ถัดมา…“กินหมูระวังเป็นโรคหูดับ” กรณีนี้ก็ต้องเท่าทันข้อเท็จจริง ซึ่งการบริโภคเนื้อหมูที่ปรุงสุก ไม่ใช่บริโภคเนื้อหมูแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ไม่สามารถติดเชื้อ “ไข้หูดับ” ได้ โดยมีแพทย์ให้ข้อมูลว่า ไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในทางเดินหายใจของหมู และในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ซึ่งการบริโภคเนื้อหมูปรุงสุกที่ถูกสุขอนามัยไม่ได้เป็นสาเหตุของไข้หูดับ

“ทาปิโตรเลียมเจลลี่ในจมูกป้องกันฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย” นี่เป็น “เฟคนิวส์” ซึ่งมีการแพร่กระจายมากอีกหนึ่งเรื่อง หลังจากฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่น่ากังวล โดยมีการแชร์ข้อมูลว่า…การทาปิโตรเลียมเจลลี่ในรูจมูกช่วยป้องกันได้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต้องออกมาอธิบายว่า…ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าปิโตรเลียมเจลลี่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ โดยวิธีป้องกันฝุ่นที่ดีที่สุดยังคงเป็นการใส่หน้ากากอนามัยที่กรองได้อย่างน้อย 95% ขึ้นไป หรือหน้ากาก N95

“ถ่ายรูปติดคนอื่นมีโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 5 แสนบาท” เฟคนิวส์นี้เกิดในช่วงที่ “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” มีผลบังคับใช้ ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำให้เกิดความสับสนเป็นอย่างมาก จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงว่า…การถ่ายรูปหรือถ่ายคลิปที่ติดบุคคลอื่นมาโดยไม่ได้เจตนา และเป็นการใช้รูปถ่ายหรือคลิปภาพเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว โดยรูปหรือคลิปนั้น ๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่ถูกถ่าย กรณีนี้สามารถทำได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย

และอีก “เฟคนิวส์” ที่ทีมงานโคแฟคระบุไว้ว่าก็เป็นกรณีเด่นของปีที่ผ่านมาคือ… ข้อมูลที่ระบุว่า “หากกด *3370# เมื่อแบตเตอรี่มือถือใกล้หมดจะมีพลังสำรองเพิ่มขึ้นทันที 50%” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีที่มาที่ไป แต่กลับถูกแชร์มากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ โคแฟค ประเทศไทย เผยแพร่ไว้ กับกรณี “เฟคนิวส์เด่น” ในปีเก่าที่ผ่านไปหมาด ๆ…

“ข่าวลวงด้านสุขภาพ” ยังคง “ยืนหนึ่ง”

และ “แนวโน้มก็รวมถึงในปีใหม่” ปีนี้

ที่ “หากไม่เท่าทันก็อาจจะอันตราย!!”.