แม้นักโบราณคดีจะได้ชื่อว่าศึกษาเรื่องโบราณ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องใช้วิธีการโบราณตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม กระบวนการหลายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และใช้วิทยาการทันสมัย

เมื่อไม่นานมานี้ ได้เห็นข่าวคราวของการใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์ที่เรียกว่า LiDAR ในการช่วยค้นหาเมืองโบราณที่หลงรอดสายตามนุษย์มาเป็นเวลานานได้อย่างไม่น่าเชื่อ ชวนให้น่าสงสัยว่า เทคโนโลยีคืออะไรและทำงานอย่างไร จึงให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งเช่นนี้

ตามผลงานที่อวดอ้างกันล่าสุด เทคโนโลยี LiDAR ที่ใช้นี้ จัดอยู่ในระดับ state-of-the-art ซึ่งหมายความว่า มีความทันสมัยอย่างที่สุดและมีประสิทธิภาพอย่างที่สุด 

LiDAR นั้นย่อมาจาก Light detection and Ranging ตามปกติแล้ว จะถูกนำมาใช้งานเพื่อวัดระยะหรือความสูงของพื้นผิว โดยอาศัยข้อมูลด้านระยะเวลาของการตกกระทบของลำแสงเลเซอร์กับพื้นผิวต่าง ๆ และนำมาคำนวณตามสูตร เพื่อสร้างแผนที่ขึ้นมา ในการทำงานจริงนั้น มีความซับซ้อนและต้องมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง แต่อาจเทียบเคียงให้พอเข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า LiDAR ทำงานในลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบโซนาร์ที่ตรวจจับวัตถุด้วยคลื่นเสียง แต่ LiDAR ใช้วิธีตรวจจับด้วยคลื่นแสง

ในการสำรวจพื้นที่ทางโบราณคดี ทีมงานจะต้องขึ้นเครื่องบินไปเพื่อยิงลำแสงเลเซอร์แบบพัลซ์ (กล่าวคือไม่ใช่การยิงลำแสงเป็นคลื่นต่อเนื่อง) จากท้องฟ้ามายังพื้นเบื้องล่าง ทะลุผ่านต้นไม้และกลุ่มพืชพรรณที่รกทึบในบริเวณป่าลึก จากนั้นนำผลลัพธ์ที่ได้มาสร้างเป็นแผนที่สามมิติ เพื่อค้นหารูปแบบที่คล้ายคลึงกับการก่อสร้างอาคารของมนุษย์

ภาพจากการใช้ LiDAR แสดงโครงสร้างของแหล่งอารยธรรมโบราณอายุ 2,000 ปี

ผลงานอันโดดเด่นของการใช้ LiDAR นั้น มีมากมายดังที่ปรากฏในผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารและเว็บไซต์โบราณคดีต่าง ๆ ยกตัวอย่างในพื้นที่ตอนเหนือของกัวเตมาลา ทีมนักโบราณคดีใช้เทคโนโลยีการตรวจจับด้วยคลื่นแสงนี้ ตรวจพบแหล่งอารยธรรมอายุ 2,000 ปีของชาวมายา เป็นจำนวนมากเกือบ 1,000 แห่ง 

จากแผนที่ที่ประกอบขึ้นมาด้วยข้อมูลของ LiDAR ระบุว่า แหล่งอารยธรรมเหล่านี้ มีทั้งระดับที่เป็นเมืองใหญ่ เมืองทั่วไปและหมู่บ้านมากกว่า 417 แห่ง ในพื้นที่เกือบ 1,700 ตาราง กม. ผลงานการค้นพบครั้งนี้ มีการเผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ในวารสาร Ancient Mesoamerica

ก่อนหน้านั้นในปี 2561 ก็มีการใช้ LiDAR เพื่อทำแผนที่ในจังหวัดเปเตนของกัวเตมาลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวมายา ทำให้ทีมงานค้นพบถนนหรือเส้นทางสัญจรของคนโบราณ รวมถึงซากอาคารบ้านเรือน ค่ายทหาร อ่างเก็บน้ำ ลำคลอง ทางยกระดับเหนือผืนน้ำเป็นจำนวนมากถึง 61,480 แห่ง ซึ่งสันนิษฐานว่า มีความเก่าแก่ย้อนไปถึงยุค ค.ศ. 650-800 

LiDAR ช่วยให้ตรวจพบโครงสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างโบราณของชาวมายาในกัวเตมาลา มากกว่า 60,000 แห่ง

ทีมนักโบราณคดีต่างตกตะลึงที่ค้นพบว่า ชาวมายาโบราณสามารถดัดแปลงพื้นที่และภูมิประเทศที่อยู่อาศัยได้อย่างไม่น่าเชื่อว่า นี่คือวิทยาการจากยุคโบราณ

ข้ามไปยังโบลิเวีย เทคโนโลยี LiDAR ช่วยให้นักสำรวจค้นพบซากปรักหักพังของอารยธรรมชนพื้นเมือง 26 แห่ง ซึ่ง 9 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นแหล่งศึกษาใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน ซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของป่าแอมะซอนมากว่า 600 ปี กินพื้นที่ราว 440 ตาราง กม. คาดว่ามีอายุระหว่าง ค.ศ. 500-1400 

ภาพการตรวจพบโครงข่ายของชุมชนพื้นเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าแอมะซอน

นอกจากนี้ LiDAR ยังช่วยให้ตรวจพบลักษณะการก่อสร้างคล้ายขั้นบันไดและพีระมิดทรงกรวยหลายแห่ง โดยแห่งที่มีความสูงสุด ประเมินได้ราว 21 เมตร 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงน้อยนิดจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่กลายเป็นทั้งความตื่นเต้นและความหวังใหม่ของการค้นหา “เมืองลับแล” ในตำนานของเหล่านักโบราณคดี ซึ่งคาดว่า จะช่วยให้โลกได้เห็นการประกาศการค้นพบแหล่งอารยธรรมใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง. 

แหล่งข้อมูล : businessinsider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, German Archeological Institute