ทั้งนี้ นายสอนไซ วัย 56 ปี สำเร็จการศึกษาจากสหภาพโซเวียต เป็นบุตรชายของ พล.อ.คำไต สีพันดอน วัย 92 ปี อดีตประธานประเทศลาว ระหว่างปี 2541-2549 อนึ่ง รัฐธรรมนูญของลาวอนุญาตให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในวาระได้นานสูงสุดสองสมัย สมัยละ 5 ปี

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในลาวรอบนี้ เกิดขึ้นหลังรายงานโดยบริษัทมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ของสหรัฐ ระบุว่า ลาวกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ ภาระหนี้สาธารณะที่พอกพูน แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศกลับมีไม่เพียงพอ ที่จะใช้จัดการกับภาระหนี้ได้

นายสอนไซ สีพันดอน

ขณะที่รายงานโดยธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) ระบุว่า สถิติล่าสุดถึงเมื่อเดือนธ.ค. 2564 ปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศของลาว อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 44,023.85 ล้านบาท ) แต่มูลค่าหนี้ต่างประเทศซึ่งต้องชำระคืนในแต่ละปี กลับจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกันนี้ไปจนถึงปี 2568 “เป็นอย่างน้อย” ซึ่งเป็นมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( จีดีพี ) ของลาว

นอกจากนี้ 2565 เรียกได้ว่า เป็นปี “หนักหน่วง” ของลาว อัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือนพ.ย. พุ่งสูงถึง 38.4% เมื่อเทียบแบบรายปี สูงเป็นอันดับต้นของทวีปเอเชีย เงินกีบอ่อนค่ามากถึง 68% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามสถิติล่าสุดซึ่งมีการเปิดเผย เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว และเวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของลาวมีแนวโน้มเติบโตเพียง 2.5% ในปี 2565 ถือเป็นภาวะเลวร้ายมากทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ กับประเทศที่ประชากรมากกว่า 1 ใน 3 มีคุณภาพชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

ร้านขายของชำแห่งหนึ่ง ที่เมืองปากเซ เมืองเอกของแขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของลาว

พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งถือเป็นสถาบันสูงสุดทางการเมืองของลาว เผชิญกับแรงเสียดทานอย่างหนักหน่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สงครามอันยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน และวิกฤติการณ์ในศรีลังกา ซึ่งอย่างหลังน่าจะเป็น “กรณีน่าศึกษาชัดเจนที่สุด”

นายอเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้แทนเวิลด์แบงก์ประจำลาว กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของลาวตอนนี้ เป็นผลลัพธ์ชัดเจนของการบริหารจัดการหนี้ และการสร้างรายได้เข้าประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลลาวควรทบทวนแนวทางเพิ่มรายได้สาธารณะ ที่รวมถึงการปรับแก้มาตรการยกเว้นภาษี

นายพันคำ วิพาวัน

แม้อ้างเหตุผลว่า เป็นการลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพ อย่างไรก็ตาม รายงานหลายกระแสระบุว่า รัฐบาลนายพันคํา “ยินยอมอ่อนข้อมากเกินไป” ให้กับการแสวงหาผลกำไรของกลุ่มผู้ประกอบการเหมืองแร่ โดยเฉพาะในแขวงทางเหนือของประเทศ ทำให้การจัดเก็บภาษีจากกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้า สวนทางกับภาระหนี้สินของลาวซึ่งยังคงเป็นขาขึ้น

นอกจากนั้น มีการวิเคราะห์ว่า นายพันคำ “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง” ในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น รายงานของกระทรวงการคลังลาวระบุว่า เจ้าหน้าที่ในกระทรวงอย่างน้อย 53 คน “ถูกสอบสวนทางวินัย” หรือ “ถูกไล่ออก” เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าสงสัย เฉพาะเมื่อปี 2565

ชาวลาวจำนวนไม่น้อยตั้งความหวังว่า การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีกลางคัน แม้เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศขนาดเล็กแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุดในเวลานี้ คือการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมีศักยภาพเพียงพอ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อลดระดับอัตราเงินเฟ้อ และทำให้ค่าเงินกับแข็งขึ้น

กระนั้น บรรดาผู้ค้ารายย่อยรายหนึ่ง ที่แขวงสะหวันนะเขต ตั้งอยู่ทางตอนกลางของลาว กล่าวกับวิทยุเอเชียเสรี ( อาร์เอฟเอ ) ว่าสำหรับที่นี่ “ไม่ว่าใครเป็นผู้นำก็ไม่ต่างกัน”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES