“ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” วิเคราะห์สถานการณ์การการเมืองในปีนี้ว่า จะมีความร้อนแรงขนาดไหนอย่างไร

โดย “รศ.ยุทธพร” เปิดประเด็นว่า ในปี 2566 การเมืองไทยยังคงความร้อนแรง เพราะมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง ดังนั้น การเลือกตั้งจึงไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่สะสมได้ กลับกันจะเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาอีก จากกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างสภาวะการเมือง หรือประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมกำกับ ด้วยกลไก ส.ว. 250 เสียง ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีก็ยังคงอยู่ ทำให้ไม่สามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ 

เพราะฉะนั้นหลังเลือกตั้งก็เป็นไปได้ว่า ท้ายที่สุด สิ่งที่ประชาชนเลือกกับผลการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะไม่สอดคล้องกัน เหมือนเมื่อปี 2562 แต่อย่าลืมว่า การเมืองวันนี้ไม่เหมือนเมื่อปี 62 เวลานี้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง และมีการปรับประเด็นมาตลอด เช่น นายกฯ 8 ปี เรื่องความชอบธรรม เรื่องประสิทธิภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สะสมมา ยังไม่รวมถึงคนอื่นๆ ในรัฐบาลอีก เช่น เครือข่าย 3 ป. อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์เยอะ เมื่อเป็นเช่นนี้ หากหลังเลือกตั้งแล้ว เครือข่าย 3 ป. เข้าสู่อำนาจโดยที่ไม่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกจริง และโลกไซเบอร์ และถ้าความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเห็นวิธีการพิเศษเกิดขึ้นอีก เช่น การรัฐประหาร การใช้ตุลาการภิวัฒน์ อภินิหารกฎหมายต่างๆ เพราะฉะนั้นในปี 2566 สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงตลอดเกือบทั้งปี

“จริงอยู่ว่าการเลือกตั้ง เขาอาจจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่กลไกในรัฐธรรมนูญปี 2560 และตัวช่วยต่างๆ โดยเฉพาะ ส.ว. 250 คน จะเป็นคนชี้ทิศทางว่า รัฐบาลจัดตั้งนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร ดังนั้นคนจะเป็นนายกฯ ต้องได้รับการยอมรับจาก ส.ว. หรือไม่ก็ทำลายกำแพง ปิดสวิตช์ ส.ว. ไปเลย”    

@ ความเป็นไปได้ในการเกิดแลนด์สไลด์ โดยไม่ต้องพึ่ง ส.ว. เป็นไปได้หรือไม่

วันนี้ถึงภาพใหญ่มีฝ่ายการเมือง 2 ขั้วก็จริง แต่ในแต่ละขั้วยังมีค่ายต่างๆ ที่จะสนับสนุนคะแนนกัน หรือตัดคะแนนกันเอง เพราะแต่ละคน ความหลากหลายทั้งในเชิงของที่มา อุดมการณ์ ความคิด และผลประโยชน์ทางการเมือง โอกาสแลนด์สไลด์ก็น้อยลง ประกอบกับกติกาการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ คนละเบอร์ ทำให้มุมมองของผู้ลงคะแนนเสียง จะมองในลักษณะที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจ หรือแคนดิเดตนายกฯ ลดลง แล้วตัดสินใจเลือก ส.ส. ในเขตมากขึ้น และสุดท้ายภูมิทัศน์ทางการเมืองของทุกคนเปลี่ยนไป คนมีทางเลือกเยอะขึ้น มีการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ มากกว่าเรื่องของนโยบายที่นำเสนอ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะมีดีเบตใหญ่ๆ ให้เห็นแทบทุกเวที เช่น คำถามว่าจะเอาหรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ หรือ จะเอาเผด็จการหรือเอาประชาธิปไตย

@ มองว่า ณ เวลานี้ ใครคือตัวเต็งมีโอกาสที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี   

ในรายชื่อตามโพลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร” ที่มาเป็นอันดับ 1 หรือระยะหลังเป็น อนุทิน ชาญวีรกูล แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ต้องฝ่าด่าน ส.ว. 250 คนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ได้รับการยอมรับ หรือจะทลายกำแพง แต่บุคคลทั้งหมดตอนนี้ ส่วนตัวคิดว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะเป็นคนที่สามารถฝ่าด่าน ส.ว. ได้มากที่สุด รองลงไปคือ “อนุทิน” ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีโอกาสที่จะเป็น “อนุทิน” ได้ ที่จะสามารถฝ่าด่าน ส.ว. ได้ ส่วน “อุ๊งอิ๊ง” ส่วนตัวยังมองว่า 50:50 การฝ่าด่าน ส.ว. เป็นงานหนัก และโดยส่วนตัวเชื่อว่าในการเลือกตั้ง เพื่อไทยจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่สำคัญคือ การจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ส.ว. ซึ่งเชื่อว่า ส.ว. จะไม่มีความเคอะเขินทางการเมือง และไม่ได้แคร์มติมหาชนจากการกระทำที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่ ส.ว. พิจารณาอย่างเดียว คือ ลงมติไปแล้วคุมสถานการณ์อยู่หรือไม่ ถ้าเอาอยู่ เชื่อว่าเขาไม่แคร์ ถึงประชาชนจะมีการแลนด์สไลด์อะไรตาม

@ แนวโน้มการจับขั้วการเมืองเป็นอย่างไรหลังเลือกตั้ง 

เวลานี้ถ้ามองในภาพใหญ่ การแบ่งขั้วทางการเมืองยังคงหน้าตาคล้ายๆ เดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังจับมือกันอยู่ ทั้งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ส่วนพรรคเล็กอาจจะย้ายค่ายบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในพรรคที่เป็นขั้วรัฐบาล ขณะการจับมือขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิม เช่น เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ก็จะเหมือนเดิม แต่ทั้งหมดจับมือกันแค่หลวมๆ หลังเลือกตั้งเห็นตัวเลขปรากฏ ถึงจะมาคุยสมการการเมืองกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ที่ เพื่อไทย จับมือกับ พลังประชารัฐ โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค เพราะยุทธศาสตร์ย้าย พล.อ.ประยุทธ์ ไปรวมไทยสร้างชาติ เปิดทางเอาไว้แล้ว หรือ เพื่อไทย จะจับมือกับ ภูมิใจไทย ก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะภูมิใจไทยก็เป็นพรรคที่แตกหน่อมาจากเพื่อไทย ในสมัยที่เป็นพรรคพลังประชาชน ดังนั้นต่อสู้กันเข้มข้นแน่นอน และฝ่ายรัฐบาลอาจจะมีความได้เปรียบ

@ แปลว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองทีเกิดขึ้นเวลานี้ได้หรือไม่

ไม่ได้แก้อะไรเท่าไหร่ เพราะปัญหาใหญ่ของไทยวันนี้ คือ ปัญหาโครงสร้างรัฐศูนย์อำนาจ ปัญหาการปฏิรูปการเมืองที่ไม่ได้ปฏิรูปอะไรจริงจัง การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่ได้แก้อะไรได้เลยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ การต่อสู้ทางความคิดทางการเมือง ซึ่งขยายไปทุกวงการ และสะสมร้าวลึกมานานกว่า17 ปี ไม่ถูกแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ แม้มีความพยายามปรองดองก็ล้มเหลว  

“เราเลือกตั้งท่ามกลางการแบ่งขั้วทางการเมือง และกติกาไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคม ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่การยอมรับร่วมกัน ดังนั้นวันนี้ เราต้องมาทบทวนกันใหม่ เริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มาจากประชาชน ผ่านการประชามติที่ปลอดภัย แม้จะบอกไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหาได้ไหม แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ในระยะยาว” 

วันนี้ แม้ประชาธิปไตยจะถูกควบคุมกำกับ ประชาชนเลือกตั้งแล้ว ถึงเวลาอาจจะไม่ได้ตามที่ประชาชนเลือก แต่อย่างน้อยประชาชนเองก็ควรจะสะท้อนถึงเจตจำนองของตัวเองผ่านการเลือกตั้งให้มากที่สุด เป็นพลังที่จะไปผลักดันให้เกิดความเขินอายของ ส.ว. ได้บ้าง และยิ่งต้องตรวจสอบให้มาก ทั้งโลกจริง และโลกไซเบอร์.