ในวารดิถีขึ้น ปีใหม่คงต้องขออำนวยพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่าน รวมถึงประชาชนชาวไทยสุขภาพแข็งแรง มีความสุขทุก ๆ ด้าน เจริญรุ่งเรือง คิดสิ่งใดก็ให้สัมฤทธิผล ในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ

แม้จะผ่านพ้นปีเสือมาแล้ว แต่สารพันปัญหาต่าง ๆ ความวุ่นวายช่วงบั้นปลายของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้รับฉายาจากผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลว่า หน้ากากคนดี ช่างมาประจวบเหมาะกับปัญหาใหญ่หลายเรื่องที่เกิดขึ้นปลายปี 65 นอกจากยังไม่มีบทสรุปยังส่งผลกระทบข้ามมายังปีกระต่ายด้วย

โดยเฉพาะ คดีประวัติศาสตร์ ตำรวจ ปปป. และ ป.ป.ช. วางแผนบุกจับกุม นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คาโต๊ะทำงาน พร้อมของกลางเงินสดล่อซื้อเบื้องต้น แจ้งข้อหาฐานเรียกรับเงิน จากการโยกย้ายตำแหน่งนายรัชฎา ยังคงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกมาสู้คดี แต่ก่อนจะสิ้นปี 28 ธ.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจงัดใช้ มาตรา 11 พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ลงนามคำสั่งให้นายรัชฎา เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี นับเป็นคดีทุจริตที่ได้กลับมาสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาลหน้ากากคนดี

“ปัญหาการทุจริต” ถือเป็น 1 ใน 10 เหตุผลของ รัฐประหาร 22 พ.ค.57 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำกองทัพทำรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน พร้อมให้คำมั่นด้วยว่า จะกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง ลดความตึงเครียดทางการเมือง เปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจไทย แก้ไขปัญหาระบบการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานของไทย ฯลฯ

จากผู้นำรัฐประหารได้ก้าวต่อขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี นำรัฐนาวาประเทศไทย รวบอำนาจทั้งด้านความมั่นคง-เศรษฐกิจไปกำกับดูแลเอง ล่าสุดยังประกาศรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนเล่นทำเอาชาวบ้านก็อยากรอลุ้นดูว่า จะหยิบเอาผลงาน 8 ปีด้านใดบ้าง มาใช้เป็นทีเด็ดหาเสียง แต่ผลงาน เรื่องปราบโกง อาจจะเรียกคะแนนให้ไม่ได้

ลองย้อนกลับไปเดือน ม.ค. 65 ป.ป.ช. เผยแพร่ข้อมูล องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก และเขตปกครองทั่วโลก ประเทศไทยได้ 35 คะแนน อันดับร่วงลงไปที่ อันดับ 110 (ปี 2563 ได้ 36 คะแนน อันดับ 104) และเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน ส่วนอันดับ 1 ของอาเซียน คือ สิงคโปร์ (85 คะแนน)

ข้อมูลของคะแนนจาก CPI ที่ใช้ประเมินมี 9 แหล่งข้อมูล ลองจิ้มเข้าไปดูใน ข้อที่ 8. “เจ้าหน้าที่รัฐ” มีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด? น่าตกใจคะแนนก็ลดฮวบลง จากปี 2563 ไทยเคยได้ 38 คะแนน พอมาปี 2564 ได้ 35 คะแนน “ติดลบ 3” (คะแนน CPI ของไทยเริ่มลดลงมาตั้งแต่ ปี 2560) ทั้งที่ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตั้งเป้าประสงค์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ให้ได้คะแนน CPI ไม่น้อยกว่า 50 คะแนน

ยิ่งมาปี 2565 กลายเป็นเรื่องน่าหนักใจ เพราะนอกจากจะมีคดีจับกุมอธิบดีกรมอุทยานฯ แล้ว ยุทธจักรสีกากีที่ พล.อ.ประยุทธ์ กำกับดูแลด้วยตัวเองนั้น ยังโดน ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ “จัดเต็มยิ่งกว่าเมาทุกขวดเจ็บปวดทุกเพลง” ทั้งเด็ดปีกขอดเกล็ดลากไส้แก๊งมังกรข้ามชาติจนล่อนจ้อน ได้เห็นภาพชัดว่า เครือข่ายแก๊งจีนเทา ถ้าไม่มี ตำรวจ-เจ้าหน้าที่รัฐนอกรีต เข้าไปพัวพันด้วย แก๊งมังกรคงไม่สามารถแผ่อิทธิพลได้มากมาย ทั้งในเมืองหลวงและจังหวัดท่องเที่ยว นี่ขนาดยังไม่รวม คดีฉาวโฉ่โกงสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจก็ยังมี ตร.นอกรีต เข้าไปร่วมขบวนการทุจริตอีกเช่นกัน

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่สั่งเด้งฟ้าผ่าใคร? ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เหมือนเด้งอธิบดีกรมอุทยานฯ แต่ที่แน่ ๆ ถือเป็นบทสะท้อน ผลงาน 8 ปีภายใต้การนำรัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากปัญหาทุจริต-คอร์รัปชั่น ไม่ได้เบาบางลง หนำซ้ำคะแนนความโปร่งใสของไทยยังลดลงเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง.!!.

——————
เชิงผา