ย้อนกลับไปเมื่อปี 2522 กองทัพสหภาพโซเวียตปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถาน ภารกิจครั้งนั้นสิ้นสุดด้วยการที่กองทัพสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายถอนทหาร แม้มีสันธิสัญญาสันติภาพ แต่บทบาทของรัสเซียเป็นชนวนเหตุให้สงครามกลางเมืองอัฟกันปะทุ
อีก 4 ทศวรรษต่อมา กองทัพรัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ระยะเวลาล่วงเลยมาแล้วเกือบ 1 ปีเต็ม ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า “ผลลัพธ์สุดท้าย” ของสงครามครั้งนี้จะเป็นไปในรูปแบบใด กองทัพรัสเซียไม่ยึดกครองกรุงเคียฟอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งที่สามารถรุกคืบพื้นที่ได้ตั้งแต่ช่วงต้นของการสู้รบ ขณะที่กองทัพยูเครนกระชับพื้นที่คืนได้ทีละน้อย ในส่วนที่กองทัพรัสเซียถอนกำลังพลและเคลื่อนย้ายสรรพาวุธออกไป
สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเผชิญกับสภาวะหมิ่นเหม่หลายครั้ง ว่าพื้นที่ของสมรภูมิจะขยายวงกว้างออกจากยูเครน อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้ ขอบเขตของการสู้รบยังคงจำกัดอยู่เฉพาะภายในยูเครน เนื่องจากยังไม่มีฝ่ายใดสามารถรุกคืบพื้นที่เพิ่มเติมได้อย่างจริงจังในระยะเวลาอันใกล้
เป้าหมายของรัสเซียกับการรบครั้งนี้ยังคงชัดเจน นั่นคือต้องการให้มี “รัฐกันชน” กั้นขวางระหว่างรัสเซียกับยุโรป เพื่อป้องปรามองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) จากการขยายอิทธิพลทางทหาร ไม่ให้ประชิดพรมแดนทางตะวันตกไปมากกว่านี้ เรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญ ที่รัฐบาลมอสโกแสดงจุดยืนชัดเจนมาตลอด แม้นาโตแสดงออกอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ให้ไม่ได้” แต่รัสเซียตัดสินใจแล้วว่า ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจาก “การต้องสร้างแนวกันชนขึ้นมาเอง” นั่นคือภูมิภาคดอนบาส ในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งรัสเซียยังคงแสดงเจตจำนงเรื่องดินแดนไว้เพียงเท่านี้
ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ นาโตซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ ไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสู้รบในสมรภูมิ ในรูปแบบของ “สงครามตัวแทน” ผ่านการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง แม้ยังคงพยายามบ่ายเบี่ยงกันมาตลอด หนึ่งในข้ออ้างชัดเจนที่สุด คือการยืนกรานปฏิเสธเป็นผู้ประกาศเขตห้ามบิน ที่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ถือว่า นาโตและประเทศใดก็ตามมีอำนาจชอบธรรมในเรื่องนี้อยู่แล้ว เนื่องจากผู้ที่มีอำนาจโดยตรง มีเพียงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) เท่านั้น
ทั้งนี้ คู่กรณีโดยตรงและบรรดาผู้ที่คอยสนับสนุนแต่ละฝ่าย ยืนกรานไปในทางเดียวกัน ว่าการสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ ต้องเป็นการเจรจาสันติภาพ และต้องเกิดขึ้นบนหลักการทางการทูตระหว่างประเทศเท่านั้น โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เสนอแนวทางที่เรียกว่า “แผนสันติภาพ 10 ข้อ” เป็นครั้งแรก เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ระหว่างการพบหารือในเดือนต่อมา กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน โดยเซเลนสกีเรียกร้องการจัดประชุมระหว่างประเทศเพื่อการนี้ด้วย สำหรับแผนการทั้ง 10 ข้อนั้น ประกอบด้วย 1. ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และกัมมันตรังสี 2. ความมั่นคงทางอาหาร ที่รวมถึงการระบายธัญพืชตกค้างออกจากทะเลดำ 3. ความมั่นคงพลังงาน 4. การแลกเปลี่ยนเชลยศึก 5. การคืนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน “ซึ่งต่อรองไม่ได้”
6. รัสเซียต้องถอนทหารและสรรพาวุธทั้งหมดกลับไปยังฐานที่ตั้งเดิม แบบเดียวกับก่อนวันที่ 24 ก.พ. 2565 7. การจัดตั้งคณะตุลาการพิเศษเพื่อไต่สวนคดีอาชญากรรมสงครามที่ก่อโดยรัสเซีย 8. การปกป้องและยับยั้ง “การทำลายสิ่งแวดล้อมแบบล้างผลาญ” จากสงคราม 9. การจัดตั้งกลไกโครงสร้างความมั่นคง ที่รวมถึงการรับประกันความปลอดภัยให้แก่ยูเครน และ 10. การลงนามในสนธิสัญญาเพื่อยุติสงคราม “โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”
อย่างไรก็ตาม รัสเซียวิจารณ์แผนการทั้ง 10 ข้อที่ผู้นำยูเครนเสนอมา เป็นเพียง “แผนสันติภาพแบบสูตรสำเร็จ” ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลเคียฟ “ยังคงไม่พร้อมเจรจา” เพื่อ “สันติภาพที่แท้จริง” และย้ำว่า การที่ยูเครนคาดหวังการให้รัฐบาลมอสโกถอนทหารออกจากภูมิภาคดอนบาส หรือพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออก และภูมิภาคไครเมีย โดยอาศัยความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศตะวันตกนั้น “เป็นเพียงภาพลวงตา” พร้อมทั้งย้ำว่า ยูเครนต้อง “ยอมรับความเป็นจริงในเวลานี้” ว่า ภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคียร์ซอน และซาโปริชเชีย “เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว”
วิกฤติการณ์ครั้งนี้แน่นอนว่าจะยืดเยื้อต่อไปในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพ “อย่างแท้จริง” มากกว่า “การสัญญาปากเปล่า” หรือ “การตบหัวแล้วลูบหลัง” อีกทั้งการที่ต่างฝ่ายต่างยังคงไม่หยุดสร้างวาทกรรม ซึ่งเรื่องนี้มีแต่จะยิ่งเป็นการสุมไฟของความขัดแย้งให้ลุกลามมากยิ่งขึ้นไปอีก.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS