จับมือกับแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง Tiktok แคมเปญใหม่เชิงสร้างสรรค์ “เที่ยวแบบใหม่…สไตล์คุณ” จัดทำแคมเปญพิเศษร่วมกับแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ลาซาด้า เปิดพื้นที่ให้บริษัททัวร์นำแพ็กเกจมาขาย ไปจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลกับเป้าหมายนำองค์กรสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล “Smart TAT” ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยสู่การแข่งขันระดับโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

               เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติแต่ยังรวมถึงคนไทย ที่ไม่เพียงหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการหาข้อมูล รวมถึงการวางแผนเดินทางด้วยการจองด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมดจึงต้องปรับตามให้ทัน

               “ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ที่มากกว่า 10 ล้านคนเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยไม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ททท.มีการทำวิจัยติดตามเทรนด์ของนักท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อลงลึกในรายละเอียดเราพบว่า มีนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยมีเทรนด์ที่น่าสนใจอยู่ 4-5 เรื่องซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ” นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา กล่าว

นายนิธี สีแพร

               การท่องเที่ยวที่มีความหมาย เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ว่า เป็นการเดินทางเข้าไปสัมผัสวิถีชุมชนแบบที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่มีความสุข สนุก และประทับใจ แต่ชุมชนเองก็ต้องรับกลับไปในแนวทางเดียวกัน ลักษณะเดียวกับการทำโครงการ Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่งจะเชื่อมโยงไปกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง

               “การท่องเที่ยวที่มีความหมายหรือ Meaningful Travel จะเกี่ยวโยงไปกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วย เพราะอาหารคือสื่อกลางที่จะสะท้อนถึงวัฒนธรรมชุมชนผ่านเมนูอาหาร ตั้งแต่เรื่องของวัตถุดิบ การถนอมอาหาร การปรุงอาหาร ไปจนถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พิธีกรรม งานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ด้วย อาหารแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นก็จะสะท้อนถึงสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และวิถีชีวิตของพื้นที่นั้น ๆ ด้วยเช่นกัน ขณะที่คนก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องของความยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ นอกจากจะมีเรื่องของการบริหารจัดการเข้ามา มี BCG โมเดลที่ทำให้เกิดความสมดุลไม่ส่งผลกระทบด้านลบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม คน สังคม ขณะที่รายได้กลายเป็นเรื่องรอง วันนี้ทุกคนคือพลเมืองของโลก จึงไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิของคนในท้องถิ่นอย่างเดียว แต่เป็นการเคารพซึ่งกันและกัน”

               จากรายงาน Global Culinary Tourism Market 2020-2027 แสดงให้เห็นได้ว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกกำลังเติบโตที่เฉลี่ยปีละ 16.8% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 5.4 พันล้านคนต่อปี ที่เดินทางแบบ ‘บินไปกิน’ ทำให้คาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงราว 1,796.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ขณะที่ความยั่งยืนกลายเป็นทั้งเทรนด์และ ‘ไฟต์บังคับ’ สิ่งแวดล้อมกลายเป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่องราวสำคัญในทุกมิติบนโลกใบนี้ จากข้อมูลของ Wunderman Thompson ชี้ว่าผู้บริโภคกว่า 70% พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

               อีกเทรนด์ที่เกิดขึ้นในยุคโควิดแพร่ระบาดและมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นคือ Work from Anywhere การทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ Google Trends ระบุว่า ผลการค้นหาคำว่า “Digital Nomad” เพิ่มสูงขึ้นถึง 376% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าในปัจจุบันน่าจะมีกลุ่มคนทำงานรูปแบบ Remote worker มากถึง 35 ล้านคน ทั่วโลก ซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

               “ตอนนี้หลายคนเริ่มทำงานหนักเก็บเงินเพื่อจะทำให้ตัวเองเกษียณได้เร็วขึ้น หลายประเทศเริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น หลายประเทศเริ่มให้ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1-2 วั น บางคนจึงถือโอกาสเดินทางท่องเที่ยวและทำงานไปด้วยระหว่างนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ Work, Life, Balance ได้เป็นอย่างดี และจะเชื่อมโยงกับอีกเทรนด์ที่มาพร้อมกับโควิดอย่างการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการพักรักษาตัว แต่ยังรวมถึงเรื่องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งอาหาร อากาศ และอารมณ์ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมในหลายเรื่อง ทั้งอาหารแบบออร์แกนิก การผ่อนคลายด้วยการนวด หรือสปา และการใช้สมุนไพรทั้งเป็นส่วนผสมของอาหารและเพื่อบำบัด”

               ผู้บริโภคร้อยละ 79 เชื่อว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และร้อยละ 42 จัดลำดับความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นอันดับที่ 1 ในการใช้ชีวิต ขณะที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก สำหรับจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปถึงการดูแลรักษาโลกให้น่าอยู่ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตอบโจทย์ ศูนย์พัฒนาวิชาการด้านตลาดการท่องเที่ยว ฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ททท. ระบุว่า ปี 2023 คือปีแห่งการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ถูกนำมาทดลองใช้เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รถไฟพลังงานไฟฟ้า รถบัสพลังงานไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเที่ยวบินความเร็วเหนือเสียง (Supersonic) ที่ไร้มลพิษ

               “วันนี้นักท่องเที่ยวจะมองหาแรงบันดาลใจในการเดินทางจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก่อนจะหาข้อมูลเพิ่มเดิมผ่าน Search Engine ต่าง ๆ แล้วใช้ช่องทางออนไลน์ในการจองการเดินทาง นอกจากนี้ยังสนใจนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ประยุกต์ใช้ อาทิ Metaverse, NFT, Blockchain รวมถึงกลุมเป้าหมายใหม่ เช่น กลุ่ม Gen Z และ Gen AIpha กลุ่ม Gamers ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี ททท.จึงวางแผนที่จะนำเสนอ Content ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ในโลกของเกมที่เป็นโลกเสมือนจริงของกลุ่มนี้ อาทิ การเป็นส่วนหนึ่งของไอเทม สกิน และฉากต่าง ๆ ในเกมต่างๆ อาทิ Free Fire, My Craf  Building Fun Game หรือ Home Sweet Home ในส่วนของโลก Metaverse ที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้น ในอนาคต ททท.เองก็กำลังมีแผนที่จะเข้าไปส่งมอบประสบการณ์เสมือนจริง ผ่านสำนักงาน ททท. เสมือนจริง พร้อมกับมีกิจกรรมอย่างการต่อยมวยกับบัวขาว ทำกับข้าวกับเจ๊ไฝ หรือเชฟชุมพล โดยอาจจะมีการมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านการทำกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้นำบัตรของขวัญดิจิตอลที่ได้รับ นำมาใช้ในการเดินทางจริง”

               นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนา NFT ให้กับทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว คาดว่าจะเริ่มต้นที่จังหวัดนำร่องอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ระยอง

               “ล่าสุดเราทำ NFT BUAKAW 1 X Amazing Thailand กับบัวขาว บัญชาเมฆ แจก NFT Exclusive Collection สำหรับผู้ถือครอง เพียงเปลี่ยนฉากหลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในโครงการก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งในอนาคตนักท่องเที่ยวสามารถ่ายภาพกับแหล่งท่องเที่ยวแล้วให้ภาพนั้นเป็น NFT ใหม่ เพื่อรับผชสิทธิประโยชน์ได้เช่นกัน เป็นการเชื่อมโยงได้จริง ซึ่งหวังว่าจะมีผู้ประกอบการตอบรับมากขึ้น”  ไม่เพียงแค่โครงการนี้แต่ ททท.ยังมีแนวทางในการยกระดับผู้ประกอบการเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคท่องเที่ยวดิจิตอล ทั้งการจัดอบรมและทำโปรเจคท์นำร่อง ดึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และดึงนักลงทุนมาร่วมสนับสนุนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งหมดก็เพื่อให้อุตสากรรมท่องเที่ยวไทยมีความพร้อมก้าวเข้าสู่ Digital Tourism อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป.