แป๊บๆ ก็จะผ่านปีเสือไปแล้ว ปีนี้ถึงเรื่องโควิดจะซาๆ ลงไปบ้าง แต่ก็ยังอาจเรียกได้ว่า “หนัก” กับหลายๆ คน มีข่าวใหญ่ๆ สะเทือนใจเกิดขึ้น มีโหมโรงชิมลางบรรยากาศการเลือกตั้ง ก่อนที่ครึ่งปีหน้าจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มระบบ คาดว่าจะหาเสียงกันหนักเพราะฝ่ายหนึ่งก็อยากมาเป็นรัฐบาล และค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองเป็นต่อเนื่องจากคิดว่า ประชาชนเองก็อยากเกิดความเปลี่ยนแปลง อีกฝ่ายหนึ่งก็คงต้องการพยายามรักษาอำนาจของตัวเองไว้

มีการประเมินว่า สัปดาห์แรกต้นเดือน มี.ค. บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมจะยุบสภา เพื่อให้นักการเมืองย้ายพรรคทัน คือสังกัดพรรค 30 วันก่อนเลือกตั้ง กรณียุบสภา แต่ถ้าเกิดปล่อยรัฐบาลหมดวาระต้องสังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้ง …นี่แค่คิดก็น่าสนใจแล้วว่าบิ๊กตู่จะหาเสียงอย่างไรให้ได้รับเลือกตั้ง เพราะเห็นข่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะให้บิ๊กตู่เป็นแกนนำหาเสียงด้วย …แนวๆ ว่าไม่ใช่นอนมารอขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายครั้งเดียวแบบตอนเลือกตั้งปี 62 แล้ว และตอนหาเสียงจะสาดโคลนกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่

รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-นายกฯ ประชุม คทช. เน้นย้ำใช้กลไกภาครัฐ  ขับเคลื่อนการจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและทำกิน  สนับสนุนการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการวางแผนเกษตรและจัดการที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ ใครว่าบิ๊กตู่จะกลับมาเป็นนายกฯ ไม่ได้ แม้ว่าพรรค รทสช. จะได้คะแนนน้อย เอาง่ายๆ คือ “เพราะปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งของพรรคอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นนายกฯ โดยอัตโนมัติ” ทำให้มีกระบวนการอะไรในการเล่นกลเยอะแยะ …เอาง่ายๆ ถ้าพรรค รทสช.ได้ ส.ส.เกิน 25 คน ก็มีสิทธิเสนอชื่อบิ๊กตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วทีนี้ก็วิ่งล็อบบี้กันสิ ให้ได้เสียง ส.ส.เกิน 250 เสียง เพราะทาง ส.ว.เขาก็ว่าเขาคงไม่ฝืนฉันทามติประชาชนไปโหวตเลือกรัฐบาลเสียงข้างน้อย ดังนั้น เบื้องต้นต้องให้ได้เสียงสนับสนุนมากกว่า 250 เสียง สักเกือบๆ 300 เสียงก็ดี เพราะเสียงปริ่มเกินมีปัญหามากอย่างที่เห็นมาตลอด สภาล่มง่าย หรือก็เป็นไปอย่างที่ “เขาว่า”คือ เวลาโหวตอะไรสำคัญๆ ต้องจ่ายค่างูเห่า… (ซึ่งจ่ายกันเท่าไร ใครจ่ายใครรับ เขาก็คงไม่เอามาพูดให้โดนฟ้องกันหรอก)

ถ้า รทสช. บังเอิญได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คน (ซึ่งมีคนมองว่ามีโอกาสอยู่ เพราะจุดขายตอนนี้ก็มีแค่บิ๊กตู่ นโยบายอะไรออกมายังไม่ค่อยโดนใจ ฐานเสียงก็มาจาก กปปส. กับฐานเสียงเดิมของประชาธิปัตย์ซะเยอะ) ก็เล่นกลได้อีก…แบบว่าต้องมีการลอบบี้ให้เสียง ส.ส.และ ส.ว. ไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีพรรคการเมืองได้ จากนั้น ก็ให้ ส.ส. และ ส.ว.ลงมติร่วมกันว่า “ให้ใช้นายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง” จากนั้น สภาผู้แทนราษฎรจะเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรค ซึ่งเผลอๆ ก็เสนอชื่อบิ๊กตู่กลับมา …ก็อย่างว่า การเมืองมันดิ้นได้ แล้วแต่นาทีนั้นเขาต่อรองผลประโยชน์กันอย่างไร …เผลอๆ เราอาจเห็นสภาพงูเห่ากันแบบสดๆ ตอนโหวตเลือกนายกฯ ก็ได้

จากนั้นก็รอดูภาคประชาชนเคลื่อนไหว ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลไม่ชอบธรรม ถ้ารุนแรงมาก ก็ไม่ทราบว่า ทหารจะออกมารัฐประหารอีกหรือไม่ โดยใช้ข้ออ้างหนึ่งคือ เรื่องเบื้องสูง (ซึ่งพวกอ้างสถาบันบ่อยๆ นี่แหละ เป็นตัวทำให้สถาบันบอบช้ำไม่ต้องไปชี้หน้าใครเยอะ หยุดอ้างเสียที) …ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นการคาดการณ์ แต่ก็ได้แค่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น

ในช่วงปีเสือที่ผ่านมา มีข่าวที่น่าจะพูดถึงว่า “เราต้องปรับวิธีคิดกันบ้าง” อยู่สองข่าว ข่าวแรกคือ เหตุสะเทือนขวัญกราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ซึ่งคนก่อเหตุเป็นข้าราชการตำรวจ ที่จะต้องขึ้นศาลวันต่อจากวันก่อเหตุนั่นแหละ เมื่อกราดยิงเสร็จ ก็กลับมายิงลูกเมียตัวเองและฆ่าตัวตายตาม

ข่าวนี้มีความคิดเรื่อง การถอดบทเรียนเกี่ยวกับการเข้าถึงอาวุธปืน ถอดบทเรียนเกี่ยวกับสภาวะทางจิตของฆาตกร ถอดบทเรียนเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในสถานดูแลเด็กเล็ก …และในอีกด้านหนึ่งก็ romanticize (เร้าอารมณ์) ในเรื่องผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็ก มีการวาดภาพ แต่งกลอนไว้อาลัยให้เด็กที่ตายมากมาย ส่วนตัวฆาตกรถือว่าตายแล้ว ตัดจบ ไปเผาที่อื่น ชาวบ้านแถวนั้นไม่ยอมรับให้เผาวัดเดียวกับเด็กๆ และคนก็รุมสาปแช่งคนก่อเหตุ

ดูเหมือนลืมทำไปอย่าง …คือ “การสอบสวนว่าผู้ก่อเหตุทำไปเพราะอะไร?” เนื่องจากคนตายไม่อาจเจรจาความแล้ว เลยไปถอดบทเรียนด้านอื่นดีกว่า หรือไม่ก็ไปสนใจมุมมองด้านอารมณ์ดีกว่า …คนตายแล้วแก้ข่าวไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งก็ให้ข่าวว่าเป็นตำรวจที่มีปัญหามาตลอด ติดยาบ้า (ซึ่งผลการชันสูตรศพไม่พบว่าเสพยามาก่อนก่อเหตุ) แต่อีกด้านหนึ่งก็บอกว่า เป็นตำรวจที่ตั้งใจและขยันทำงาน และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมานานแล้ว …ที่ต้องขึ้นศาลเพราะมีการตรวจพบยาบ้าในบ้าน 1 เม็ด ซึ่งอาจมีโทษถึงให้ออกจากราชการ

ถ้าพูดกันด้วยภาษาดัดจริตๆ หน่อยก็คือ “เราไม่ได้ถอดบทเรียนเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง” อันหมายถึงปัญหาของ “ระบบ” ในแต่ละวงการ วิธีคิดที่ฝังรากลึกอาจกลายเป็นตัวทำร้ายคนที่เข้ามาอยู่ในระบบ เช่น เรื่องอำนาจนิยม ที่ตัวนายจะต้องมีอำนาจที่สุดไม่มีการตรวจสอบคานอำนาจเพียงพอ วิธีคิดแบบอุปถัมภ์ที่ใครเด็กนายก็ได้รับความช่วยเหลือให้เลื่อนขั้นเร็วกว่าคนทำงาน หรือวิธีคิดแบบนับรุ่น ที่ผู้อาวุโสกว่าถือดีมากดขี่ข่มเหงคนที่ด้อยฐานะกว่า โดยที่เราไปมองเรื่องเหล่านั้นว่ามันเป็นเรื่องปกติ ก็ทำใจยอมรับหยวนๆ ไป

เมื่อเป็นเรื่องตำรวจชั้นผู้น้อย แถมตายไปแล้ว …วิธีคิดแบบอำนาจนิยม แบบอาวุโส อาจทำให้ไม่มีการสอบสวนเหตุที่แท้จริงที่เป็น “ฟางเส้นสุดท้ายให้ลาหลังหัก” ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเห็นว่ามันเป็นเรื่องสะเทือนใจ ก็ให้กระแสมันไหลไปในทางสะเทือนใจ ส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตบริสุทธิ์ขึ้นสวรรค์ไปแล้วกัน… เรื่องการกลั่นแกล้งรังแกใน สภ. มีหรือเปล่าไม่ต้องสอบหรอก ตายแล้วถือว่าปิดคดี …แต่ถามจริงว่า ถ้าเกิดเหตุผู้น้อยโดนผู้ใหญ่รังแก แล้วจิตหลุดก่อเหตุรุนแรงแนวๆ กราดยิงอีก ใครควรรับผิดชอบเพราะเราไม่สอบสวนจนได้ฐานของปัญหาและปรับวิธีคิดเพื่อแก้ปัญหา

ต่อมา ไม่นานมานี้ เกิดเหตุ เรือหลวงสุโขทัยล่ม มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจำนวนหนึ่ง ก็เห็นข่าวแนวๆ romanticize สถานการณ์อีก ประเภทเอาเรื่องเร้าอารมณ์ของผู้สูญหายผู้เสียชีวิต, ญาติ หรือการแสดงอารมณ์คร่ำครวญของผู้เกี่ยวข้องมานำเสนอ ประกอบกับข่าวการค้นหาผู้สูญหาย หรือไม่ก็ข่าวแนวๆ ปลุกใจทหารเรือ เป็นลูกผู้ชายต้องอดทนเสียสละ เสียชีพอย่างมีเกียรติ เฝ้ารอเพื่อน, ลูกน้องกลับมา..อะไรเทือกๆ นี้ มีการนำเสนอข่าวส่วนที่เป็นปัญหาบ้าง อย่างเช่น เรื่องชูชีพไม่พอ ทหารเรือบางคนว่ายน้ำไม่เป็น บางคนไม่เคยฝึกการใช้แพชูชีพ

เรือหลวงสุโขทัย" อับปางแล้ว ช่วงก่อนเที่ยงคืน - ลูกเรือทุกคนปลอดภัย

ปัญหาของเนื้อหาข่าวก็ดูจะคล้ายกับเรื่องกราดยิงหนองบัวลำภูนั่นแหละ คือ “เอาเร้าอารมณ์เข้ามาเป็นหลักหนักกว่าการหาสาเหตุที่แท้จริง” การค้นหาผู้สูญหายก็ยังทำต่อ ขณะเดียวกัน ก็สามารถสอบสวนคู่ขนานกันไปได้ว่า “การตัดสินใจผิดพลาดต่างๆ จนเรือล่มและมีผู้เสียชีวิต ใครต้องรับผิดชอบ” หรือจะสอบจะเอาผิดกันเองในหมู่ทหารเรือ ให้กองทัพยิ่งถูกครหาเป็นแดนสนธยาอีก นาทีนี้ สังคมและญาติผู้สูญเสียต้องการ ผู้รับผิดชอบ ที่เกิดจากกระบวนการสอบที่รวดเร็ว จริงจัง มีการคานอำนาจการตรวจสอบ ไม่ใช่ท่องคาถา ไม่ได้นิ่งนอนใจๆๆ ซึ่งหลังๆ แปลว่าผลัดให้คนลืม

เห็นตอนมีข่าวทหารเรือเมากร่าง ผบ.ทร.สมัยนั้น (พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย) ยังโกนหัวตัวเองธำรงวินัย แต่นี่เรื่องใหญ่กว่าเพราะถึงขั้นมีคนตาย “บิ๊กจอร์จ” พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.ปัจจุบัน จะแสดงสปิริตหรือท่าทีอะไรบ้าง? เขาว่ากันว่า ถ้าเป็นเมืองนอกนี่เรื่องใหญ่ขนาดนี้ต้องลาออกรับผิดชอบ …แต่ไม่รู้ว่า “แบบไทยๆ” เขาจะคิดว่า ถ้าแสดงความรับผิดชอบแสดงว่าตัวเองผิดจริง แล้วจะต้องถูกรุมเอาผิดหรือเปล่า? แบบไหนๆ ก็รับแล้ว ก็รับให้เละไปคนเดียวละกัน …แล้วบิ๊กตู่ในฐานะ รมว.กลาโหม จะเอาอย่างไร นอกจากการปลอบขวัญและกำลังใจกำลังพล

ที่กล่าวมาสองคดี คือตัวอย่างว่า ควรจะต้องปรับวิธีคิด ลด ละ เรื่องเร้าอารมณ์บ้าง มันมีได้แต่อย่าให้มันมากกว่าสาระสำคัญของเรื่อง คือการหาสาเหตุของปัญหา และหาคนรับผิดชอบ …สุดท้ายนี้ก็ขอสวัสดีปีใหม่กับผู้อ่านทุกท่าน ซึ่งยังมีเรื่องที่อยากให้สังคม, สื่อ เปลี่ยนวิธีคิด และคงมาเล่าสู่กันฟังเรื่อยๆ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”