ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับ “เทศกาลปีใหม่” ที่กำลังจะมาถึง โดยเป็นชุดข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง “ไฟฟ้า” ที่เป็นการ “เตือน” เป็นการ “แนะนำ” มาโดยนักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

“ภัยไฟฟ้า” นี่ “ช่วงปีใหม่ก็จะต้องระวัง”

ทั้ง “ผู้ประกอบการ” ทั้ง “ผู้ฉลองปีใหม่”

เทศกาลปีใหม่ “ระวังภัยไฟรั่ว-ไฟดูด!!”

ทั้งนี้ ทาง ดร.สุพรรณ ระบุว่า… มีผู้คาดคะเนว่าในประเทศไทยมีจำนวน “เสาไฟฟ้า” ตามถนนหนทางมากกว่า 17 ล้านต้น ซึ่งตามหลักความปลอดภัยของเสาไฟฟ้า เพื่อมิให้เกิดปัญหา “ไฟรั่ว-ไฟดูด” ก็ต้องมีวิธีบริหารจัดการ มีการตรวจสอบไฟรั่วเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งเสาไฟที่ได้มาตรฐานต้องมีระบบสายดิน (Grounding System) โดยหากกระแสไฟรั่วจะไหลลงดินโดยไม่ไหลเข้าคน เพราะความต้านทานไฟฟ้าของดินจะน้อยกว่าความต้านทานไฟฟ้าของคน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน อันตรายมักมาจากคุณภาพการเดินสายไฟและเชื่อมต่อสายไฟ

“อาจจะเป็นเทปพันสายไฟที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา อากาศ และความร้อน หรือมีการต่อสายไม่แน่น ทำให้ตัวนำทองแดงภายในสายไฟสัมผัสกับเสาโลหะ จึง เกิดไฟรั่ว  (Stray Voltage) หากฝนตกน้ำท่วม จะยิ่งช่วยเป็นสื่อให้ไปยังตัวเสาไฟ เสมือนเป็นมฤตยูที่รอให้ผู้เคราะห์ร้ายมาแตะ นอกจากนี้ความต้านทานกระแสไฟฟ้าของคนจะลดลงมากถ้าร่างกายเราเปียกเหงื่อหรือน้ำ จะยิ่งทำให้กระแสไฟรั่วเข้าร่างกายได้ง่ายขึ้นอีก” …หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าระบุ

พร้อมกันนี้ยัง “เตือน” มาว่า… ในช่วง “เทศกาลปีใหม่” ที่มีการ “จัดกิจกรรม” กัน ทางผู้จัด ทางเจ้าของสถานที่ หรือทางผู้ประกอบการ ต้องตระหนักว่า “ไฟรั่วไฟดูด” เป็น “ภัยที่มองไม่เห็น” ซึ่งหากเกิดเหตุขึ้นผู้เกี่ยวข้องก็จะทั้งเสื่อมเสียชื่อเสียงและอาจถูกดำเนินคดี ดังนั้น ในส่วนของไฟฟ้า การจัดกิจกรรมใด ๆ ก็จะต้องควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมและมีมาตรการด้านความปลอดภัยเสมอ… การตกแต่งด้วยระบบไฟ แสงเสียง และสิ่งประดับ เช่น อุโมงค์ไฟ อุโมงค์น้ำ ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และดำเนินการตามมาตรฐานวิศวกรรมและความปลอดภัยโดยช่างที่มีใบอนุญาต มีระบบป้องกันและแจ้งเตือน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้คอยตรวจสอบและสแตนด์บายตลอด ระหว่างจัดงาน

ผู้ประกอบการควรปฏิบัติตามข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ. 2564 มีการ วางระบบสายดินให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางวิศวกรรม หรือ ติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว Ground Fault Circuit Interrupt (GFCI) โดยเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ-อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน

“โดยเฉพาะ พื้นที่ที่มีผู้คนสัญจรมาก ควรติดตั้งอุปกรณ์ที่มีการกันไฟรั่วสองชั้น (Double Insulated) เป็นไปตามมาตรฐาน IEC Class II หากมีการใช้ไฟฟ้านอกอาคาร การเดินสายไฟต้องใช้ประเภทนอกอาคารเท่านั้น เพราะสายในอาคารจะมีความคงทนน้อยกว่า และต้องสำรวจความชำรุด สนิมเก่า ของอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ อุปกรณ์เครื่องเล่น โดยเฉพาะที่ต้องมีส่วนเปียกน้ำ เช่น ไฟส่องสว่างในสระน้ำ หมั่นสังเกตสายไฟ ท่อสายไฟ หากชำรุดควรเร่งซ่อม ไม่ปล่อยปละละเลย หมั่นตรวจสอบไฟรั่ว ทั้งอุปกรณ์ เสาไฟฟ้า โดยระยะสั้นอาจให้พนักงานใช้ปากกาดิจิทัลวัดไฟรั่วแบบไร้สัมผัส”

ทั้งนี้ นอกจากผู้จัดกิจกรรม เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ กับประชาชนเรา ๆ ท่าน ๆ ที่จะท่องเที่ยวฉลองเทศกาลปีใหม่ตามสถานที่ต่าง ๆ ดร.สุพรรณ ก็ได้แนะนำมา เช่น… ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใกล้เสาไฟหรือเสาหม้อแปลงไฟฟ้า ไม่ควรสัมผัสหรือเดินเข้าใกล้เสาไฟถนน รั้วโลหะ ป้ายโฆษณา ฝาท่อ service ไฟฟ้า ควรนึกเสมอว่าอาจมีกระแสไฟฟ้าที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ใส่รองเท้าหรือร่างกายเปียกน้ำหรือเหงื่อ ซึ่งก็ควรใส่รองเท้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างรัดกุมไว้ตลอด ไม่เดินเท้าเปล่าซึ่งจะเป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้าที่รั่วไปยังดินได้ รวมถึง ควรอยู่ห่างจากสายไฟที่พาดในระดับต่ำ หากพบสายไฟขาดตกอยู่ที่พื้นให้อยู่ห่างออกมาอย่างน้อย 10 เมตร และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ควรมีปากกาดิจิทัลวัดไฟรั่วแบบไม่ต้องสัมผัสพกติดตัวไปด้วย ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์นี้ก็มีขนาดกะทัดรัดและราคาถูก หากตรวจเช็กที่บริเวณใดแล้วไฟกะพริบก็แสดงว่ามีไฟรั่วในบริเวณนั้น ก็ต้องออกห่างแล้วแจ้งผู้เกี่ยวข้อง กับการจะอาบน้ำก็ ต้องระมัดระวังการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่เก่า หรือติดตั้งสายไฟไม่ปลอดภัย หรือไม่มีสายดิน หากจะลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่มีท่าเรือ ไม่ควรว่ายน้ำในบริเวณที่ใกล้ท่าเรือ ซึ่งเคยมีเหตุผู้เสียชีวิตเพราะไฟรั่วจากระบบไฟที่จ่ายให้กับเรือ นอกจากนี้ หากมีพายุฝนฟ้าคะนองไม่ควรลงว่ายน้ำ ไม่ว่าจะในสระ…ไปจนถึงในทะเล เพราะอาจเกิดฟ้าผ่าแล้วมีน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้ามายังร่างกายเราได้ …เหล่านี้ก็เป็น “คำเตือน-คำแนะนำโดยนักวิชาการวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อ “ป้องกันไฟรั่ว-ไฟดูด” …

ผู้จัดงาน-ผู้ฉลองปีใหม่ “ระวังไว้ใช่ว่า”

“เทศกาลปีใหม่” จะได้เป็นเทศกาลสุข

“ไม่สู่คุก-ไม่สู่ขิต” เพราะไฟรั่ว-ไฟดูด!!.