หนึ่งในภาพข่าวสำคัญที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกเมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา คือการที่นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรมว.กระทรวงการต่างประเทศจีน ให้การต้อนรับและพบหารือกับมุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายการเมืองของกลุ่มตาลีบัน โดยทั้งสองคนถ่ายรูปใกล้ชิดกันแบบ “เคียงบ่าเคียงไหล่” ในการพบกันที่เทศบาลนครเทียนจิน อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

นายหวัง อี้ รมว.การต่างประเทศจีน ถ่ายภาพคู่กับมุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน ที่เมืองเทียนจิน

แม้รัฐบาลปักกิ่งยังสงวนท่าทีอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับท่าทีในอนาคตที่จะมีต่อ “ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ในอัฟกานิสถาน จากการที่กลุ่มตาลีบันกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในรอบ 20 ปี หลังยกพลเข้าสู่กรุงคาบูลได้สำเร็จเมื่อช่วงกลางเดือนนี้ ส่งผลให้รัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถาน “ล่มสลายภายในพริบตา” อย่างไรก็ตาม บรรดาสื่อกระบอกเสียงของจีนเริ่ม “ส่งสัญญาณอย่างไม่เป็นทางการ” ว่าไม่ช้าก็เร็ว จะต้องถึงจุดที่รัฐบาลปักกิ่งต้องให้การยอมรับกลุ่มตาลีบัน ในฐานะรัฐบาลอันชอบธรรมของอัฟกานิสถาน

การกลับมาเรืองอำนาจอย่างเป็นทางการของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งชัดเจนว่าได้อานิสงส์จากการถอนทหารของสหรัฐด้วย ถือเป็นภาวะที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยให้แก่จีน ซึ่งยังคงมีปัญหายืดเยื้อเรื้อรังกับขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก ( อีทีไอเอ็ม ) ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และแม้กลุ่มตาลีบันให้คำมั่นสัญญา “สันติภาพ” แต่ไม่ว่าใครก็ตามในส่วนลึกย่อมยังไม่มั่นใจ ว่าคำมั่นสัญญานั้นจะมีผลในระยะยาวแค่ไหน

CGTN

ขณะที่การพบกันระหว่างหวังกับบาราดาร์ได้รับการวิเคราะห์ไปในทางเดียวกันจากทุกฝ่าย ว่ามีเรื่องทางเศรษฐกิจและความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่แน่นอนว่า จีนต้องเดินบนเส้นทางนี้ด้วยความระมัดระวังสูงสุด มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงต้องประสบกับชะตากรรมเดียวกับที่สหรัฐและพันธมิตรเผชิญตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

การที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์ลักษณะที่ว่า “ความสัมพันธ์ฉันมิตรและร่วมมือพึ่งพากัน” ตราบใดที่สถานการณ์ในอัฟกานิสถานมีเสถียรภาพ และกลุ่มตาลีบันรักษาคำพูดของตัวเอง โดยเฉพาะการรักษาสิทธิมนุษยชนของเด็กและสตรี ที่ต้องยอมรับว่า กลุ่มประเทศตะวันตกสร้างพื้นฐานไว้ให้เป็นอย่างดี และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ “ที่ทุกกลุ่มต้องมีส่วนร่วม” มีความหมายระหว่างบรรทัดว่า หากกลุ่มตาลีบันทำได้จริง จีนพร้อม “ยกระดับการลงทุนครั้งใหญ่” ด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มตาลีบันคาดหวังจากจีน ในเวลาเดียวกับที่จีนมุ่งหวังการสำรวจทรัพยากรแร่ในอัฟกานิสถาน “ที่อาจเป็นข้อแลกเปลี่ยน”

ในเวลาเดียวกัน นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมอสโก “ไม่รีบร้อน” ในการให้การยอมรับคณะผู้ปกครองและรัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถาน แต่ให้ความเห็นว่า “มีสัญญาณแห่งความหวัง” ในการที่กลุ่มตาลีบันเปิดกว้างให้กลุ่มการเมืองอื่นเข้าร่วมการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล และการที่เด็กและผู้หญิงยังสามารถออกจากบ้าน เพื่อไปเรียน ไปทำงาน และทำธุระในสถานที่สาธารณะได้เอง

นายซาเมียร์ คาบูลอฟ ทูตพิเศษของรัสเซีย สนทนากับแกนนำของกลุ่มตาลีบัน ระหว่างการประชุมที่กรุงมอสโก เมื่อปี 2562

นอกจากนี้ รัสเซียเป็นเพียงไม่กี่ประเทศ ที่ยังไม่มีแผนลดระดับการทำงานของสถานเอกอัครราชทูต และอพยพเจ้าหน้าที่การทูตกลับประเทศ ขณะที่แม้กลุ่มตาลีบันอยู่ในบัญชีดำการเป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งรัฐบาลมอสโกบัญญัติไว้เมื่อปี 2546 หมายความว่า บุคคลใดในรัสเซียติดต่อกับกลุ่มตาลีบันย่อมมีความผิดตามกฎหมาย แต่ลาฟรอฟกล่าวว่า “มีข้อยกเว้นได้ในบางกรณี” ในเมื่อตอนนี้ กลุ่มตาลีบันคือกลไกสำคัญ สำหรับความพยายามของประชาคมโลก ในการสร้างสันติภาพและฟื้นฟูอัฟกานิสถาน

Hindustan Times

จริงอยู่ที่รัสเซียและกลุ่มตาลีบันมีความหลังต่อกันไม่ดีเท่าไหร่ โดยย้อนกลับไปในยุคสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันนาน 10 ปี และสงครามยุติด้วยการที่กองทัพสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายถอนกำลังออกไป เมื่อปี 2532 ตามด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น แต่ในที่สุดรัฐบาลมอสโกกลับมามีบทบาทสำคัญหลายเรื่องบนเวทีโลก รวมถึงกระบวนการเจรจาในอัฟกานิสถาน ซึ่งรัสเซียเป็นเจ้าภาพหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง สหภาพโซเวียตเข้ามาปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนธ.ค. 2522 ด้วยความวิตกกังวล ว่าสหรัฐจะเข้ามา “ปักหลัก” ที่นี่ หลังเกิดการปฏิวัติอิหร่านในปีเดียวกัน ขณะที่นายซาเมียร์ คาบูลอฟ ผู้แทนพิเศษด้านกิจการอัฟกานิสถานของรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานที่สหรัฐหนุนหลัง ล่มสลายก่อนที่ทหารอเมริกันจะถอนทัพกลับไปภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้เสียอีก ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถานของประธานาธิบดีโมฮัมหมัด นาจิบุลเลาะห์ ซึ่งยังคง “ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง” อีก 3 ปีหลังกองทัพสหภาพโซเวียตถอนกำลังออกไป

ทั้งนี้ ในการพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน กลุ่มตาลีบันไม่ปิดบังว่า คาดหวัง “การเพิ่มบทบาท” ของจีนในด้านเศรษฐกิจ ส่วนท่าทีต่อรัสเซียนั้น กลุ่มตาลีบันประกาศชัดเจน ว่าจะไม่ปล่อยให้ “กองกำลังก่อการร้ายจากภายนอก” ใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานโจมตีประเทศใดก็ตาม “รวมถึงรัสเซีย” น่าจะชัดเจนพอสมควรแล้วว่า กลุ่มตาลีบันคาดหวังความช่วยเหลือจากใคร แต่ท่ามกลางความซับซ้อนด้านภูมิศาสตร์การเมือง แน่นอนว่าทั้งสองประเทศต้องชั่งน้ำหนักให้มาก และ “มีแผนสำรอง” รออยู่แล้ว.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AP