โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) สายแรกของประเทศไทย ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ก่อสร้างครบ 5 ปีเต็มเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.65 เพิ่งได้ผลงานในภาพรวม 16% ขณะที่ รถไฟไฮสปีดสายที่สองภายใต้ชื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,500 ล้านบาท มีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า (66)

วันนี้จะพาไปทำความรู้จักและอัพเดท โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 688 กิโลเมตร (กม.) ไฮสปีดเทรนสายที่สามของไทย ที่เงียบหายไป ตั้งแต่ปี 61 หลังจากญี่ปุ่นปฏิเสธการเข้ามาร่วมลงทุนโครงการกับไทย

ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) Japan Railway Construction, Transport and Technology Agency (JRTT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

ทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมกันพิจารณารายงานฉบับกลางของการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการฯ มีรายละเอียดสาระสำคัญ ดังนี้

1. ฝ่ายญี่ปุ่นได้รายงานความเป็นมา วัตถุประสงค์ และการวิเคราะห์ทางการเงิน นับตั้งแต่JICA ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS) ในปี 60 เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ การลดต้นทุน และการประเมินความต้องการเดินทางอีกครั้ง โดยการวิเคราะห์ทางการเงิน จะจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย และใช้สมมุติฐานที่เปลี่ยนไป

2. ฝ่ายญี่ปุ่นได้รายงานความก้าวหน้าของการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางจราจรที่ใช้ในการศึกษาที่ผ่านมา และการทบทวนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.65 ซึ่งผลกระทบของการลดการปล่อย CO2 จะถูกนำมารวมอยู่ในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

3. ฝ่ายญี่ปุ่นนำเสนอกรอบระยะเวลาการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ และการเงิน จะแล้วเสร็จเดือน มี.ค.66

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ได้เสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาศึกษาการคาดการณ์ผลตอบแทนเศรษฐกิจเชิงกว้าง (Wider Economic Benefits) จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยนำกรณีศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีในประเทศญี่ปุ่นมาเป็นแนวทางดำเนินการ เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีมินาโตะมิไร เมืองโยโกฮามา รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว ที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองใหม่ มาใช้ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อเพิ่มความเหมาะสมของโครงการต่อไป

รถไฟไฮสปีดกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 688 กม. มีสถานีจอดทั้งสิ้น 12 แห่ง ได้แก่ สถานีบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีลพบุรี สถานีนครสวรรค์ สถานีพิจิตร สถานีพิษณุโลก สถานีสุโขทัย สถานีศรีสัชนาลัย สถานีลำปาง สถานีลำพูน และสถานีเชียงใหม่ แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะพัฒนาในเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. และระยะที่ 2 เส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม.

ผลการศึกษาของ JICA เมื่อปี 60 มูลค่าก่อสร้างโครงการช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีวงเงิน 276,226 ล้านบาท จากนั้นได้ศึกษาเพิ่มเติมเมื่อปี 64 มีวงเงิน 261,754 ล้านบาท ลดลง 14,472 ล้านบาท โดยต้องรอดูผลการศึกษาล่าสุดในเดือน มี.ค. 66

โครงการนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (กก.วล.) มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แล้ว โดยช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เห็นชอบเมื่อเดือน ก.ค.60 ขณะที่ ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ เห็นชอบเมื่อเดือน เม.ย.62 ปกติอีไอเอจะมีอายุประมาณ 5 ปี หากพ้น 5 ปี ต้องทบทวนมาตรการเสนอ กก.วล. พิจารณาอีกครั้ง

ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดบริการอยู่ที่ประมาณ 10,900 คน-เที่ยวต่อวัน ปีถัดไปอยู่ที่ 29,700 คน-เที่ยวต่อวัน และปีถัดไป 31,700 คน-เที่ยวต่อวัน ถัดไปอีก 10 ปี 40,300 คน-เที่ยวต่อวัน ถัดไปอีก 10 ปี อยู่ที่ 45,600 คน/เที่ยวต่อวัน และอีก 10 ปีถัดไปอยู่ที่ประมาณ 50,500 คน/เที่ยวต่อวัน ใช้อัตราค่าโดยสารเท่ากับ 80+1.8 บาทต่อ กม. หรือจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก อยู่ที่ประมาณ 764 บาท

ฝ่ายญี่ปุ่น เสนอโมเดลการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงชิงกันเซ็ง (Shinkansen) เป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

แม้วันสิ้นสุดการรอคอยที่จะได้ใช้บริการไฮสปีดเทรนทั้ง 3 เส้นทางยังอีกยาวไกล แต่เชื่อว่าคงไม่ไกลเกินรอที่คนไทยจะได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…