และหนึ่งในนั้นก็รวมถึงรายงานที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ โดยเป็นรายงานที่จัดทำโดยความร่วมมือของ 3 องค์กร คือ… สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรายงาน “สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน” ในประเทศไทย ปี 2565 ที่มีทั้ง “เด่น-ด้อย”…

สิทธิมนุษยชนในไทยยังมีส่วนที่ ด้อย”

แต่ถึงกระนั้นก็มีส่วนที่ เด่น” น่าตามดู

ที่เด่นก็ตามดูกันไป-ที่ด้อยก็ดันกันต่อ!!

อนึ่ง รายงานดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ประจำปี 2565 (10 ก้าวหน้า 10 ถดถอย)” ซึ่งการจัดทำรายงานด้านนี้เป็นกิจกรรมที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนจัดทำขึ้นทุกปี เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยคณะผู้จัดทำระบุถึงการจัดทำรายงานนี้ว่า… ใช้กรอบแนวคิดสิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ตลอดจนกติการะหว่างประเทศ อนุสัญญาองค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยให้การรับรอง มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2565 โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ…

“ส่วนที่ถดถอย” กับ “ส่วนที่ก้าวหน้า”

แต่ละส่วนนั้นกำหนดจำนวนไว้ที่ “10”

ทั้งนี้ โฟกัสที่ “10 โดดเด่น” หรือ “10 ก้าวหน้า” ในรายงานดังกล่าวระบุไว้ว่าประกอบด้วยกรณีดังต่อไปนี้คือ… 1.พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อ “คุ้มครองประชาชน” จากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย 2.พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อ “ป้องกันไม่ให้คดีเกิดความล่าช้าเกินความจำเป็น” เพื่อลดผลกระทบ และให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการให้ชัดเจนขึ้น

3.พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 กฎหมายดังกล่าวนี้มีจุดมุ่งหมายคือเพื่อ “ขจัดการเลือกปฏิบัติ” โดยได้มีการปรับปรุงการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดเพิ่มขึ้น เพื่อมิให้ต้องรับโทษหนักเกินสมควร, 4.พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 นี่เป็น พ.ร.บ.ใหม่-กฎหมายใหม่ที่ออกมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า…ข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละคนจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการ “ดูแลมิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด”

5.สิทธิของผู้เสียหายที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย กรณีนี้มีเจตนารมณ์คือเพื่อ “ขจัดการเลือกปฏิบัติกับแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย” หลังจากที่เคยมีคำตัดสินที่มีผลทำให้แรงงานข้ามชาติหญิงที่เป็นแรงงานที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ตกเป็นเหยื่อถูกข่มขืน ไม่มีสิทธิรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายคดีอาญา จนนำสู่การยื่นคำร้อง และคืนสิทธิดังกล่าว 6.การตัดข้อความที่แบ่งแยกในกฎหมาย เพื่อ “ป้องกันการเลือกปฏิบัติ” ระหว่างลูกจ้างสัญชาติไทยและที่ไม่มีสัญชาติไทย 7.ปลดล็อกการผลิตเพื่อการค้าและเพื่อการบริโภค เพื่อ “ขจัดการกีดกันผูกขาดการค้า” ตามรัฐธรรมนูญ

8.สิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ หลังมีการยื่นวินิจฉัยกรณีการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เนื่องจากข้อบังคับสภาทนายความ พ.ศ. 2529 เพื่อ “รับรองสิทธิทนายความหญิง” เมื่อสวมครุยขณะว่าความจะสวมกระโปรงหรือสวมกางเกงก็ได้ 9.สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ที่มีการแก้ไข “ให้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งแก่หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์” ไว้ในมาตรา 301 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นหลังมีการเรียกร้องเรื่องนี้มานาน 10.สมรสเท่าเทียม กรณีนี้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังเกิดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มาตั้งแต่ปี 2556 นำมาสู่การรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อ “ให้สิทธิคู่รักทุกเพศสภาพจดทะเบียนสมรสกันได้” ในปี 2565

นี่คือ “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เด่น”

“น่าตามดูความก้าวหน้า” ในปีต่อ ๆ ไป

ทั้งนี้ สำหรับ สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนปี 2565 ในส่วน “ด้อย” หรือ “ถดถอย” ตามที่ในรายงานดังกล่าวข้างต้นได้ระบุไว้ โดยสังเขป อาทิ… การจำกัดเสรีภาพ-การคุกคามการใช้เสรีภาพของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ การใช้สปายแวร์คุกคามผู้ที่เห็นต่าง การดำเนินคดีผู้ร่วมชุมนุมประท้วง สิทธิในชีวิต สิทธิชุมชน สิทธิผู้ลี้ภัย สิทธิเด็ก และก็รวมถึง… สิทธิผู้หญิง เด็ก คนพิการ กับการล่วงละเมิดทางเพศ …ซึ่งกรณีหลังนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อนต่อแบบ เน้น ๆ ย้ำ ๆ ว่า… ล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะ “ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก!!” กรณีนี้ในไทยนั้นเป็นอีก ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก!! มานานหลายปีแล้ว รวมถึงในปี 2565 โดยที่…ที่ผ่าน ๆ มานั้น…

การ แก้ไขป้องกัน” โดย ผู้ที่มีหน้าที่”

แบบที่ แข็งขันจริงจังเชิงรุก” นั้น…

ถามประชาชน…“เคยเห็นกันมั้ย??”.