ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารของเปรูไม่สามารถรักษาสมดุลอำนาจกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประธานาธิบดีดีนา โบลูอาร์เต รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตามการแต่งตั้งโดยสภาคองเกรส ซึ่งเธอสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้นำหญิงคนแรกของเปรูด้วย การขึ้นสู่อำนาจของเธอเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังสภาแห่งเดียวกันนี้ลงมติถอดถอนนายเปโดร กัสติโย พ้นจากตำแหน่ง แล้วพนักงานอสบสวนเข้าควบคุมตัวอดีตผู้นำ เพื่อดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชั่น และที่เกี่ยวข้องกับ “ความพยายามก่อกบฏ” จากการพยายามยุบสภา และจัดตั้งคณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2537 สมัยประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ
การร่วงลงจากอำนาจของกัสติโย “เป็นที่เข้าใจได้ในทางทฤษฎี” เนื่องจากตลอด 17 เดือนของการอยู่ในอำนาจ หรือนับตั้งแต่เดือนก.ค. ปีที่แล้ว รัฐบาลเปรูภายใต้การบริหารของกัสติโยเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยครั้ง และเผชิญกับอุปสรรคในการผ่านกฎหมายหลายฉบับ เนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และต่อจากนั้นไม่นาน ตัวของกัสติโยเองตกเป็นเป้าหมายการสอบสวนของอัยการ ในหลายข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น
แม้โบลูอาร์เต พยายามบรรเทาความตึงเครียดของสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง ด้วยการเสนอจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เร็วขึ้น จากในปี 2569 เป็นภายในเดือน เม.ย. 2567 และเรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสแล้ว แต่การประท้วงขับไล่เธอยังคงรุนแรงและนองเลือด มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 20 ราย การขาดเสถียรภาพทางการเมืองครั้งใหม่ มีแต่จะยิ่งเพิ่มความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ที่เป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่อันดับสองของโลก ทว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีฐานะยากจน ประสบกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร สวนทางกับการเป็นประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบต่อหัวประชากร
จริงอยู่ที่การถอดถอนกัสติโยเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้กลายเป็นการผลักดันให้เกิดการลุกฮือของกลุ่มคนรากหญ้า ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ และเป็นเสียงสนับสนุนหลักของกัสติโย ที่เป็นอดีตครูชนบท ในการออกมาเรียกร้อง “เพื่อซ่อมแซม” โครงสร้างทางสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยเปรูยังอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมสเปน ประชาชนกลุ่มนี้แทบไม่เคยเชื่อ หรือมีความเชื่อมั่นน้อยมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ว่าโครงสร้างประชาธิปไตยและกลไกเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะเอื้อประโยชน์มาถึงตัวเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนโดยสถาบันการศึกษาเปรู เมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เกือบ 90% ของกลุ่มตัวอย่างมองว่า หากการพ้นจากตำแหน่งของกัสติโย “เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะบังคับ” การเลือกตั้งทั่วไปควรเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางโครงสร้างระบอบการเลือกตั้งที่เปราะบาง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของเปรูยังไม่น่าช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว เนื่องจากยังคงมีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าจะยังคงไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากได้อย่างเด็ดขาดในสภาคองเกรส และหมายความว่า ประธานาธิบดีคนต่อไปจะยังคงต้องเป็นผู้นำรัฐบาลเสียงข้างน้อย
การพ้นจากตำแหน่งของกัสติโยเป็นเพียง “จุดเริ่มต้นครั้งใหม่” ของการเพิ่มความอ่อนแอให้กับโครงสร้างการบริหารของประธานาธิบดี และวงเวียนการงัดข้อทางการเมืองกับสภาคองเกรส ซึ่งจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่อจากแม้มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไปจนถึงรัฐมนตรี แต่บุคคลเหล่านี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อน ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังหาจุดสมดุลของการบริหารอำนาจร่วมกันไม่ได้ เปรูจะยังคงต้องเผชิญกับการขาดเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป และจะยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมต่อให้กับโครงสร้างสังคมที่อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้นด้วย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS