ท่ามกลางบรรยากาศทั่วโลก ที่กำลังย่างเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความสุขและความหวังจากเทศกาลคริสต์มาสและต่อเนื่องไปยังเทศกาลส่งปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ก็มีรายงานที่น่าสะเทือนใจเผยแพร่ออกมาจากเกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสาธารณะของเกาหลีใต้ เผยแพร่รายงานและสถิติที่น่าตกใจของ ‘การตายอย่างโดดเดี่ยว’ ที่มีจำนวนมากถึง 3,378 ราย ในปี 2564 

การตายอย่างโดดเดี่ยวหรือ ‘โกดกซา’ ในภาษาเกาหลี ก็มีความหมายในทำนองเดียวกับ ‘โคโดคุชิ’ ของญี่ปุ่น ซึ่งก็คือผู้ที่เสียชีวิตไปแบบเงียบ ๆ ในบ้านหรือที่พักโดยที่ไม่มีใครรับรู้หรือสังเกตเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนในหลายกรณี เนื่องจากผู้เสียชีวิตเหล่านี้ แยกตัวออกจากครอบครัวและขาดการติดต่อกับญาติมิตรเป็นเวลานาน 

สำหรับคนที่ชอบดูซีรีส์ อาจคุ้นชินกับลักษณะการเสียชีวิตแบบนี้ผ่านทางบางตอนของซีรีส์เกาหลีชื่อดัง ‘Move to Heaven’ มาบ้างแล้ว แต่เมื่อคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เฉพาะในเกาหลีใต้ประเทศเดียว ก็มีผู้ที่จากโลกนี้ไปอย่างเงียบ ๆ แบบไม่มีใครรู้เห็นเป็นจำนวนกว่าสามพันราย นับว่าน่าตกใจไม่น้อย

ตามรายงานของเกาหลีใต้ กลุ่มคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยวส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 50-60 ปี โดยคิดเป็น 60% ของผู้เสียชีวิตในลักษณะนี้ทั้งหมด ขณะที่ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้ในช่วงวัย 20-30 ปี มีจำนวนราว 6-8% 

อีกข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับ ‘โกดกซา’ ก็คือ ในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตเพศชายมากกว่าเพศหญิง 5.3 เท่า ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่เคยมีผู้เสียชีวิตเพศชายมากกว่าเพศหญิง 4 เท่า

แน่นอนว่า ปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคมมีส่วนทำให้ผู้คนในเกาหลีใต้ต้องประสบกับการตายอย่างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับสถานภาพทางการเงินและอาชีพ โดยในรายงานจากองค์กรสวัสดิภาพสังคมแห่งกรุงโซลในปี 2562 ระบุว่า จำนวน 52% ของกลุ่มโกดกซาที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ จะพบในที่พักที่เป็นห้องเช่าหรืออาคารที่พักให้เช่าราคาถูก นอกจากนี้ยังระบุว่า 95% ของผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวตกอยู่ในสถานะคนว่างงาน 

นอกจากเกาหลีใต้ ประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่แพ้กันก็คือญี่ปุ่น อันที่จริง ‘โคโดคุชิ’ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง “การตายโดยลำพัง” นั้น มีมานานแล้ว นานจนเกิดธุรกิจรับจ้างทำความสะอาดที่พักที่มีผู้เสียชีวิตประเภทนี้ รวมถึงการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยในกรณีที่พบ ‘โคโดคุชิ’ สำหรับผู้ที่มีอาคารอพาร์ตเมนต์ให้เช่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องจากการทำความสะอาดเพื่อขจัดร่องรอยต่าง ๆ เมื่อมีผู้เสียชีวิตในที่พักค้างคาอยู่เป็นเวลานานนั้น ต้องเสียค่าบริการที่แพงมาก 

อีกเขตการปกครองที่ตามญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาติด ๆ ในเรื่องนี้ก็คือฮ่องกง ซึ่งพบว่าเริ่มมีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีผู้สูงอายุที่แยกตัวออกมาใช้ชีวิตตามลำพังเพิ่มมากขึ้น

ในเกาหลีใต้นั้น มีความพยายามที่จะลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว โดยอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ระบบตรวจการใช้ไฟฟ้าที่จะแจ้งเตือน เมื่อพบว่าไม่มีการใช้ไฟฟ้าในที่พักติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือในกรณีตรงข้าม กล่าวคือมีการเปิดไฟในจุดใดจุดหนึ่งทิ้งไว้เป็นเวลานานเกินไป 

อย่างไรก็ตาม การที่ได้เห็นเกาหลีใต้พยายามผลักดันอีกหลายมาตรการเพื่อรับมือการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวของประชากร โดยมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับในญี่ปุ่น อังกฤษ และอีกหลายประเทศ ล้วนให้ภาพสะท้อนที่ย้อนแย้งว่า ขณะที่โลกเหมือนจะเชื่อมโยงถึงกันหมดด้วยเทคโนโลยี แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกับเอื้อมไม่ถึงกัน ขาดคนใส่ใจและต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น.

แหล่งข้อมูล : edition.cnn.com, nextshark.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES