ถ้าทลายข้อจำกัดที่มีอยู่ได้…ประเทศไทยจะมีโอกาสอย่างมากในตลาดน้ำผึ้งโลก!!!” …เป็นการระบุจากทาง รศ.ดร.อรวรรณ  ดวงภักดี ประธานภูมิภาคเอเชียคนล่าสุดที่เป็นคนไทย ของ สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานา ชาติ (International Federation of Beekeepers’ Association) หรือ “Apimondia” ที่ให้ข้อมูลนี้ไว้เพื่อชี้ให้เห็นถึง “โอกาสของประเทศไทย”…

ที่สามารถ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ”

ด้วยการ ลดข้อจำกัดกำจัดอุปสรรค”

“อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งผลิตน้ำผึ้ง”

ทั้งนี้ กรณี “โอกาสไทยจากอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้ง” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ ได้มีการจุดประกายขึ้นมาในฐานะที่อาจเป็นอีกความหวัง “ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย” ได้อีกส่วน โดย รศ.ดร.อรวรรณ ประธานภูมิภาคเอเชีย สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติ ให้ข้อมูลไว้ว่า… ประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และอากาศที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้ง โดยในการจัดอันดับปี 2563 พบว่า… ไทยเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงผึ้งผลิตน้ำผึ้งอยู่อันดับที่ 36 ของโลก แต่ในแง่มูลค่าเศรษฐกิจแล้ว รายได้ส่งออกน้ำผึ้งของไทยกลับน้อยมาก โดยแต่ละปีมีมูลค่าส่งออกแค่ราว 600 ล้านบาท

ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอันดับโลก!!

สำหรับ “ปัจจัย” ที่ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำผึ้งของประเทศไทยสวนทางกับศักยภาพและอันดับโลกนั้น ประเด็นนี้ทาง รศ.ดร.อรวรรณ ได้ชี้ไว้ว่า… เกิดจากการที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งและผลิตน้ำผึ้งของไทยยังคงมี “ข้อจำกัด” ใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.มาตรฐานน้ำผึ้งระดับสากล และ 2.การสื่อสารเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งถ้าปลดล็อกได้ไทยจะได้ประโยชน์มากขึ้นจากตลาดน้ำผึ้งโลก เพราะ ตลาดน้ำผึ้งโลกในขณะนี้มีมูลค่ารวมกันสูงถึงราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี!!

ตลาดนี้ไทยได้โอกาสน้อยก็น่าเสียดาย!!

ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมยังสะท้อนถึง “มาตรฐานสากล” ที่เป็นหนึ่งใน “ข้อจำกัด” ไว้ว่า… เนื่องจากมาตรฐานน้ำผึ้งระดับสากลที่ใช้ในปัจจุบัน หรือ Codex standard for honey เกิดจากการผลักดันของกลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งของผู้ผลิตและส่งออกในยุโรปและแอฟริกาเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นน้ำผึ้งจากการเลี้ยงผึ้งพันธุ์หรือผึ้งฝรั่ง ขณะที่การเลี้ยงผึ้งของฝั่งเอเชียและไทยจะมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ผึ้งที่เลี้ยงมากกว่า เช่น ผู้เลี้ยงผึ้งไทยมีการใช้ผึ้งอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 สายพันธุ์ เพื่อผลิตน้ำผึ้ง ซึ่ง พันธุ์ผึ้งที่เลี้ยงเพื่อผลิตน้ำผึ้งที่แตกต่างกันมีผลกับเรื่องของการตรวจวัดมาตรฐานน้ำผึ้ง เช่นกัน…

นอกจากนี้ กับปัจจัย สภาพพื้นที่ภูมิอากาศปริมาณแสง และ อาหารของผึ้ง หรือ พันธุ์ดอกไม้ นั้นก็ มีผลต่อคุณภาพน้ำผึ้ง ด้วย ซึ่งเพราะแหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงผึ้งฝั่งยุโรปและแอฟริกากับฝั่งเอเชียและไทยนั้นต่างกัน นี่ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนของน้ำผึ้งเขตร้อน ที่อาจจะไม่ตรงตามมาตรฐานที่กลุ่มอุตสาหกรรมในฝั่งยุโรปและแอฟริกาเป็นผู้กำหนด เช่น สี ความเจือจาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แต่ข้อจำกัดนี้ผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคเอเชียและไทยสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการช่วยกัน “สร้างกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาค” เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับน้ำผึ้งเขตร้อน” ให้เกิดการยอมรับระดับสากล

ขณะที่อีกหนึ่ง “จุดด้อย” อย่าง “การสื่อสารคุณค่าทางโภชนาการ” นั้น ทาง รศ.ดร.อรวรรณ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) ของ มจธ. ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า… เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ “ต้องแก้ไขให้ได้” เพราะแม้จะมีงานวิชาการยืนยันคุณสมบัติอันโดดเด่นของ “น้ำผึ้งเขตร้อน” ในการเป็น อาหารทางเลือก (functional food) หรือ อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) แต่ผู้เลี้ยงผึ้งกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากจุดเด่นนี้ได้ โดยยังติดขัดด้านการสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้ว่า “น้ำผึ้งเขตร้อนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง” ซึ่งข้อมูลจุดเด่นดังกล่าวนี้…

จำเป็นที่ ผู้เลี้ยงผึ้งในเอเชียในไทย”

“ต้องช่วยกันสื่อสาร” ให้เกิดการยอมรับ

“หนึ่งในการวัดคุณภาพน้ำผึ้งที่ใช้กันนั้น ก็จะมีหน่วยวัดที่เรียกว่าค่า UMFHA (Unique Manuka Factor Honey Association) ที่เป็นการวัดคุณภาพในการออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียตามธรรมชาติ ซึ่งจะแปรออกมาเป็นตัวเลข 5-10-15-20 ตามลำดับ หากมีค่า UMFHA 20 ถือเป็นน้ำผึ้งคุณภาพดี มีราคาซื้อขายสูงถึงกิโลกรัมละ 18,000 บาท ซึ่งจากตัวอย่างน้ำผึ้งจากฟาร์มเลี้ยงในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน พบน้ำผึ้งเขตร้อนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับค่านี้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้เลี้ยงผึ้งแถบนี้”…นักวิชาการท่านเดิมระบุไว้ ซึ่งในแง่ “คุณค่า” นั้น น้ำผึ้งเขตร้อนไม่ได้เสียเปรียบ

แต่กลับไม่สามารถสร้างการรับรู้ได้!!

“จุดเด่นน้ำผึ้งเขตร้อนนั้น มีงานวิจัยรองรับว่า…ให้คุณค่าในแง่การเป็นอาหารสุขภาพหรืออาหารทางเลือก แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคคือ ทัศนคติกับการรับรู้ของผู้บริโภค ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก ซึ่ง ผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคนี้ รวมถึงไทย จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการยอมรับมาตรฐานน้ำผึ้งเขตร้อน ให้ได้” …ประธานภูมิภาคเอเชีย  Apimondia ระบุไว้ถึงการแก้จุดด้อย

“ก็น่าสนใจน่าติดตามดู” กรณี น้ำผึ้ง”

“น้ำผึ้งไทย” กับการ ตีตลาดโลกเพิ่ม”

ใน 5 หมื่นล้านต่อปี “จะได้เพิ่มมั้ย?”.