นาทีนี้ คนไทยคงต่างสวดมนต์ หรือส่งแรงใจ ขอพรให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา หายจากอาการพระประชวรโดยเร็ว  

อย่างไรก็ตาม ก็เกิดเหตุความไม่บังควรขึ้นมา เมื่อ นายสุวินัย ภรณวลัย ซึ่งเป็นถึงระดับ ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย ..ซึ่งก็ไม่รู้สถาบันนี้ตั้งอยู่ที่ไหนและเรียนสอนอะไร เห็นชอบโพสต์ข่าวรัสเซีย-ยูเครน และมักจะโพสต์อะไรเปิ่นๆ ออกมาให้เป็นที่หัวเราะขบขัน แต่คนที่ชอบเขาก็คงมีกระมัง.. นายสุวินัยนี่มา “สายมู” คือมาแนวๆ เชื่อว่าตัวเองติดต่อพูดคุยกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาได้ทางจิต ..ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่อยากจะว่าอะไร ศรัทธาใครศรัทธามัน บางคนไปดูถูกพวกสายมูแต่ยังไปไหว้เทวรูปขอหวยขอคู่ หรือจะทำพิธีสาปแช่งศัตรูอยู่เลย

“ความไม่บังควร” ที่ว่า คือ นายสุวินัยได้อวดอุตริจะทำพิธีกรรมเพื่อพระองค์ภา อ้างคุยกับองค์พ่อจิตรา องค์ญาณ องค์จี้กงอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งคงเป็นความสัมพันธ์ในจักรวาลของนายสุวินัยเองเกินกว่าที่เราๆ หลายคนจะเข้าใจ ..และมีการเปิดบัญชีเรี่ยไรเงินบริจาค ซึ่งเป็นการเล่นกับความรู้สึกวิตกกังวลของคน หรือเล่นกับศรัทธาของคน ทำให้ยอดบริจาคว่ากันว่าเกือบล้านในวันเดียว ..และในที่สุดก็เกม เมื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ตำรวจไซเบอร์เข้าไปจัดการซะ ..จนในที่สุด นายสุวินัยก็ต้องโพสต์ขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่รู้ได้ทำพิธีสายมูหรือไม่ แล้วก็ไม่รู้ว่า เงินที่เขาบริจาคมาจะไปอยู่ไหน? คืนให้คนบริจาคหรือบริจาคเป็นการกุศลอะไรหรือไม่ ก็อยากให้นายสุวินัยชี้แจงด้วย

 พอเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นกับนายสุวินัย ก็เป็นที่พูดถึงในประเด็นว่า “ทำไมเอาบุคคลสำคัญมาแอบอ้าง แล้วตำรวจให้ประกันตัว” เบื้องต้นไม่โดน ป.อาญา ม.112 เพราะ กฎหมายมาตรานี้คุ้มครองเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งพระองค์ภา ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาท ..แต่อย่างไรก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า “ทีกับคนอื่นนี่ไม่ให้ประกันเพราะกลัวจะไปก่อเหตุซ้ำ แล้วไม่คิดว่ารายเดียวกันนี้จะแอบไปก่อเหตุอะไรซ้ำอีกหรือ?” ใช้ ม.112 ไม่ได้ก็น่าจะมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

จากกรณีสุวินัย ทำให้นึกถึงกรณีการ “เปิดรับบริจาค” ที่มีว่อนเต็มไปหมดในอินเทอร์เน็ต ประเภทระดมทุนช่วยสัตว์ ช่วยคน หากินกับความรู้สึกขี้สงสารและความใจบุญของคนไทยไปเรื่อยๆ ..นี่ถ้าไม่มีกฎหมายป้องกันค้ามนุษย์ เราคงได้เห็นขอทานเต็มถนน หรืออารมณ์ แบบเมื่อก่อนประเภทดักโบกรถทัวร์แล้วขึ้นไปไถเงินผ้าป่า เงินกฐิน ..ถวายจริงไม่รู้เท่าไรแต่คนเรี่ยไรอมไปก็ส่วนหนึ่ง ถือว่า “เป็นค่าดำเนินการ” (ซึ่งก็น่าสงสัยอีพวกมูลนิธิข้ามชาติอะไรๆ ที่ชอบจัดเรี่ยไรรับบริจาคเหมือนกัน เวลาเขียนบัญชีก็ทำหลักกลและเหตุผลาญคิดค่าดำเนินการ ค่าโฆษณา จ้างแบรนด์แอมบาสเดอร์ ค่าเจ้าหน้าที่ซะเยอะๆ ไม่รู้เหลือจริงถึงกลุ่มที่อีมูลนิธิพวกนี้อ้างว่า บริจาคเพื่อพวกเขา ไปเท่าไร)  

คนไทยหลายคนก็เป็นคนง่ายๆ จนน่าโมโห คือ บริจาคไปแล้วถือว่าสบายใจแล้ว บางทีมาจับได้ทีหลังว่าเป็นมิจฉาชีพก็ไม่อยากเอาความ เพราะขี้เกียจหรือไม่ก็ถือว่า “เราทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ถือว่าทำบุญไปแล้ว” ต้องปรับวิธีคิดว่า นั่นคือการส่งเสริมมิจฉาชีพ ต่อไปจะมีพวกเอาความสงสารมาหากินเรื่อยๆ เพิ่มระดับความทุเรศทุรังมากขึ้นเรื่อยๆ เราต้องจำไว้ว่า การบริจาคที่ได้บุญคือ การบริจาคที่ วัตถุเป็นมงคล คือเป็นวัตถุหรือเงินที่ได้มาอย่างถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่บริจาคเงินจากการลักขโมย ฉ้อราษฎร์บังหลวง แบบจ่ายหวังแก้บาปเสียหน่อย หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อฟอกเงิน, ผู้รับเป็นมงคล คือเป็นผู้รับที่รับเพียงประมาณตน รับเพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่รับเพื่อหากินทางนี้ไปเรื่อยๆ แบบในเว็บไซต์พันทิปเมื่อก่อน ที่มีแก๊งคอยหาเคสหมาแมวป่วยมารับบริจาคไปเรื่อย และผู้รับต้องแสดงความพยายามแล้วที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นไม่ใช่การรับบริจาคเงินจากชาวบ้าน

เมื่อเรามาดูเรื่องกฎหมายควบคุมการบริจาค ลอง ๆ เสิร์ชกูเกิลดู ก็พบว่า ไทยยังใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ การเรี่ยไรที่ห้ามกระทํา (1) การเรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้ หรือชดใช้แก่จําเลย เพื่อใช้เป็นค่าปรับ เว้นแต่จะเป็นการเรี่ยไรในระหว่างวงศ์ญาติของจําเลย (2) การเรี่ยไรโดยกําหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นอัตราโดยคํานวณตามเกณฑ์ ปริมาณสินค้า ผลประโยชน์หรือวัตถุอย่างอื่น (แนวๆ กำหนดว่าต้องจ่ายเท่านี้ๆ)  (3) การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมทรามแก่ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน (4) การเรี่ยไรอันเป็นเหตุกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงถึงสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ (5) การเรี่ยไรเพื่อจัดหายุทธภัณฑ์ให้แก่ต่างประเทศ

การเรี่ยไรที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เว้นแต่การเรี่ยไรดังต่อไปนี้ ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (ก)การเรี่ยไรซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรกรณีการเรี่ยไร ที่อ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการ เทศบาลหรือสาธารณประโยชน์ (ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร รมว.มหาดไทยเป็นประธาน) (ข) การเรี่ยไรเพื่อกุศลสงเคราะห์ ในโอกาสที่บุคคลชุมนุมกันประกอบศาสนกิจ (ค) การเรี่ยไรโดยขายสิ่งของในงานออกร้าน หรือในที่นัดประชุมเฉพาะแห่งอันได้จัดให้ขึ้น โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ได้รับอนุญาตให้มีการออกร้าน หรือผู้จัดให้มีการนัดประชุมเป็นผู้จัดให้มีขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายได้กําหนดให้บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ทําการเรี่ยไรต้องมีใบอนุญาต ติดตัวอยู่ด้วยในขณะทําการเรี่ยไร ห้ามมิให้ใช้ถ้อยคําหรือวิธีการใด ๆ ซึ่งเป็นการบังคับผู้ถูกเรี่ยไรโดยตรงหรือโดยปริยาย หรือซึ่งจะทําให้ผู้ถูกเรี่ยไร เกิดความหวาดหวั่นหรือเกรงกลัว  

ในส่วนการรับเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรก็ต้องออกใบรับให้แก่ผู้บริจาค กับมีต้นขั้วใบรับไว้เป็นหลักฐานด้วย และการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มานั้น ห้ามมิให้จ่ายในกิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่ได้แสดงไว้ เว้นแต่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายพอสมควรในการเรี่ยไรนั้นเอง (ตรงนี้แหละที่คิด “ค่าดำเนินการ”กันสนุกสนาน) กรณีไม่อาจดําเนินการตามวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่ได้ แสดงไว้หรือ เหลือจ่ายเพราะเหตุใด ๆ ให้ผู้จัดให้มีการเรี่ยไรรายงานให้คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรหรือ พนักงานเจ้าหน้าที่แล้วแต่กรณีทราบ ให้เจ้าหน้าที่สั่งให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวไปประกอบการกุศลหรือสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ตามแต่เห็นควร แต่ถ้าผู้จัดให้มีการเรี่ยไรตายลงเสียก่อน ให้หน้าที่ของผู้จัดให้มีการเรี่ยไร ตกเป็นของผู้ครอบครองเงินและทรัพย์สินดังกล่าว

ห้ามมิให้อนุญาตให้บุคคลดังต่อไปนี้จัดให้มีการเรี่ยไร หรือทําการเรี่ยไร (1) บุคคลมีอายุต่ำกว่า 16 ปี (2) บุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ (3) บุคคลเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ (4) บุคคลผู้เคยต้องโทษฐานลักทรัพย์วิ่งราวทรัพย์ชิงทรัพย์ปล้นทรัพย์โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์รับของโจรหรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา และพ้น โทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปี (5) บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ (ข้อนี้แหละเอามาใช้ตีความได้เยอะ ถ้าจะร้องเรียนกันจริงๆ)

กฎหมายนี้แหละ เอามาชำระปรับปรุงให้ทันกับการเรี่ยไรในโลกอินเทอร์เน็ตให้ทัน ก็มีบางกรณีที่เรี่ยไรไปแล้วโป๊ะแตก จนทิพย์ เดือดร้อนทิพย์ ไปเอารูปใครมาอ้างรับบริจาคไม่รู้ ..เช่นนี้ ใครเป็นผู้บริจาคก็รวมตัวกันแจ้งความ อย่างน้อยก็เรื่องนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือลองปรึกษาตำรวจดูว่าจะเอาผิดตามกฎหมายไหนเพิ่มเติมได้บ้าง …แต่อย่าบริจาคตามกระแส คิดเยอะๆ ก่อนบริจาค โดยเฉพาะเรื่องขายความสงสารนี่ ให้เขาติดต่อหน่วยงานหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้มีการประเมินค่าใช้จ่ายตามจริง และรับในนามมูลนิธิที่มีตัวตนตรวจสอบได้ดีกว่า  

บางกรณีดูตามกฎหมายเรี่ยไรแล้วก็น่าคิด อย่างเช่น เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 นายศรีสุวรรณ จรรยา ตอนนั้นเป็นนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Srisuwan Janya‘ ในลักษณะสาธารณะว่า มาฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีละเมิดอำนาจศาลทั้งหมด 14 คดี (เขียนคำอุทธรณ์ไปก้าวก่ายศาลปกครองชั้นต้น) โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ส่วนโทษปรับต้องชำระรวม 700,000 บาท (14 คดี) ถ้าไม่มีเงินชำระต้องจำคุกแทนค่าปรับ ตนน้อมรับคำสั่งศาล “ผมคิดดี ทำดี ทำคดีให้ชาวบ้านโดยไม่หวังผลตอบแทน ด้วยจิตสาธารณะครับ หากท่านใดที่ผมช่วยฟ้องคดีให้มีน้ำใจร่วมบริจาคเงินช่วยชำระค่าปรับช่วยผม คนละเล็กคนละน้อยจะเป็นพระคุณยิ่งครับ ด้วยความเคารพ” นายศรีสุวรรณ โพสต์แบบนี้เรียกว่า เรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้ หรือชดใช้แก่จําเลย เพื่อใช้เป็นค่าปรับหรือไม่?

ดูช่องโหว่ของกฎหมาย ปรับปรุง เพิ่มโทษเพิ่มค่าปรับแรงๆ กับอีพวกหากินวิธีนี้ อย่าให้มีมิจฉาชีพ “ผีบุญ” หากินกับการทำบุญของคนอื่น

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”