ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่มีความรุนแรงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในปีที่แล้ว ซึ่งผ่านมาเกินกว่า 18 เดือนแล้ว ประกอบกับนโยบายการกักตัวที่บ้าน (home isolation) ทำให้เกิดคำถามหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุนัขและแมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ โดยในหลายบ้าน สุนัขและแมวมีสถานะเป็นสมาชิกของครอบครัว จึงได้รวบรวมข้อสงสัยต่าง ๆ ตั้งแต่การติดโรค การปฏิบัติตนกับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งความเครียดที่เกิดจากการทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน (WFH)

การติดเชื้อโควิด-19 จากคนสู่สัตว์

จากหลักฐานการระบาดที่ผ่านมา พบรายงานการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน ได้แก่ แมว สุนัข สัตว์ในสวนสัตว์ ได้แก่ เสือโคร่ง กอริลลา และตัวนาก นอกจากนี้ยังพบในสถานเพาะเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบฟาร์ม ได้แก่ มิงค์ ซึ่งการติดเชื้อในสัตว์จะเกิดขึ้นได้เฉพาะชนิดสัตว์ที่มีลักษณะตัวรับเชื้อไวรัส (viral receptor) สอดรับกับหนามของไวรัสพอดี เสมือนแม่กุญแจกับลูกกุญแจนั่นเอง ไวรัสจึงจะสามารถเข้าไปในเซลล์และก่อโรคได้ โดยพบว่า แมวมีตัวรับไวรัสที่มีความไวในการจับเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าสุนัข ทำให้เราต้องให้ความระมัดระวังมากขึ้นในการสัมผัสกับแมว อย่างไรก็ตาม หากแมวติดเชื้อ จะไม่แสดงอาการ หรือหากแสดงอาการจะมีเพียงการจาม ไอ เล็กน้อย และหายป่วยเองได้โดยไม่ต้องรักษา และขอย้ำว่าจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบการติดโรคจากสัตว์กลับมาสู่คน จึงไม่ควรกังวลจนปล่อยสุนัขและแมวให้ออกจากบ้านกลายเป็นสัตว์จรจัดไป

สพญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์

การรับฝากสัตว์เลี้ยงจากญาติหรือเพื่อนที่ต้องกักตัว

การปฏิบัติตนต่อสัตว์เลี้ยงเมื่อเจ้าของสัตว์ติดเชื้อ ให้ทำเช่นเดียวกับการป้องกันการติดโรคระหว่างคนกันเองได้แก่ การเว้นระยะห่าง ให้ผู้อื่นดูแลสัตว์แทน ล้างมือบ่อย ๆ ไม่สัมผัสหรือให้อาหารสัตว์ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ให้สวมหน้ากากและใส่ถุงมือ และ หากได้รับการร้องขอจากญาติหรือเพื่อนที่ติดเชื้อ ให้ตอบรับได้เพราะเป็นสิ่งที่พึงกระทำ นอกจากจะแบ่งเบาภาระให้เจ้าของสัตว์ที่ป่วยแล้ว ยังเป็นการให้ความเมตตากรุณาต่อสัตว์ที่ขาดที่พึ่งในระยะหนึ่ง เมื่อไปรับสัตว์เลี้ยงมา ให้ป้องกันตนเอง โดยใส่หน้ากากและถุงมือ อาบน้ำสัตว์เลี้ยงด้วยแชมพูก่อนนำเข้าบ้าน เท่านี้ก็ปลอดภัยกับผู้รับดูแลแล้ว

ผลกระทบของการทำงานที่บ้านที่มีต่อสัตว์เลี้ยง

เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยลินเชิร์ปปิง ประเทศสวีเดน ได้ทำการเก็บตัวอย่างเส้นผมของคนและสุนัขในบ้านในระหว่างที่เจ้าของทำงานจากบ้าน (WFH) พบว่าฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเครียด ที่สกัดออกมาได้ มีค่าสูงขึ้นในระหว่างที่เจ้าของทำงานจากบ้าน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นความเครียดถูกสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัวในระหว่างการทำงาน แล้วถ่ายทอดสู่สัตว์เลี้ยงผ่านความผูกพัน human-animal bond ระหว่างสัตว์และมนุษย์นั่นเอง หากวิเคราะห์กลับไป คนที่นั่งทำงานที่บ้าน จะมีพฤติกรรมทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โซเชียลมีเดีย และสิ่งอื่น ๆ โดยไม่สนใจสัตว์เลี้ยง ซึ่งหากเป็นช่วงเวลาปกติ การอยู่บ้านของเจ้าของจะเป็นช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงมีความสุข จากการได้สัมผัส ได้เล่น และได้ออกกำลังกาย ดังนั้นจึงควรกำหนดเวลาเล่นกับสัตว์เลี้ยงในบ้านด้วย และหากมีเด็กเล็กที่เรียนออนไลน์ในบ้าน ควรจัดบริเวณส่วนตัวให้กับสัตว์เลี้ยง ให้ได้พักจากการรบกวนที่ไม่เป็นเวลาของเด็ก ๆ ระหว่างการอยู่บ้านด้วย

จะเห็นได้ว่า สัตว์เลี้ยงคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ การปรับตัวเพื่อให้เค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดนั้น อาจจะไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติต่อกันได้ เราอาจจะไม่เหงา เพราะมีโซเชียลในมือถือ มีเพื่อนคุย แต่สุนัขมีเจ้าของเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ จงทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงนี้ และก้าวผ่านห้วงเวลาลำบากนี้ไปด้วยกันกับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ซื่อสัตย์กับคุณตลอดไป.

ศาสตราจารย์ สพญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์
ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยา และวิทยาการสืบพันธุ์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย