…นี่เป็น “ภาพสะท้อน” ของหนึ่งใน “เทรนด์ผู้หญิงยุคใหม่” ยุคปัจจุบัน กับกรณี “ความนิยมฝากไข่เก็บไว้ในอนาคต” ที่ได้กลายเป็น “เทรนด์ฮิต” ของผู้หญิงทั่วโลกในยุคนี้ โดย “ปรากฏการณ์” นี้ได้ถูกฉายภาพผ่านบทความชื่อ “การฝากไข่ : ชีวการแพทย์สมัยใหม่กับการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง”…

ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึง “ทัศนคติ”

ที่ “หญิงยุคใหม่มีต่อการวางแผนมีบุตร”

ที่ “มุมสังคมวิทยายังฉายภาพในมิติอื่น”

ทั้งนี้ ทางนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ก็ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์ฝากไข่” และได้มีการฉายภาพไว้น่าสนใจ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจกรณีนี้ ข้อมูลจากบทความที่จัดทำโดย ผศ.ดร.ปาณิภา สุขสม นักวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้มีการเผยแพร่ไว้ผ่าน เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่มีประโยชน์-ที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยได้เห็นถึง “พัฒนาการผู้หญิงยุคใหม่” กับการ “มีบุตร”

หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… ปัจจุบัน ความนิยม “ฝากไข่” ของผู้หญิง “เพื่อมีลูกในอนาคต” เป็น “ปรากฏการณ์ระดับสากล” หลาย ๆ ประเทศเปิดรับเทคโนโลยีนี้เพิ่มขึ้น เช่น อังกฤษ สเปน เบลเยียม ตุรกี โดยเว็บไซต์ CNBC รายงานไว้ว่า… เดือน พ.ค. ปี 2562 ธุรกิจฝากไข่ในสหรัฐน่าจะมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนเติบโตต่อเนื่องถึง 25% จากปี 2560 สะท้อนว่า…การฝากไข่เป็นเทรนด์ฮิตสำคัญในสหรัฐ ขณะที่ในประเทศจีนเทรนด์นี้ก็ฮิตเช่นกัน

สำหรับ ในประเทศไทย นั้น ผศ.ดร.ปาณิภา ระบุไว้ว่า… แม้การฝากไข่จะเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกรู้จักมานานแล้ว แต่กับสังคมไทยนั้นเรื่องนี้ก็ยังถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งมีการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้เมื่อไม่นานมานี้ แต่ถึงกระนั้น เรื่องนี้ก็เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ “การแช่แข็งเซลล์ไข่” ที่เวลานี้วงการแพทย์ด้านการเจริญพันธุ์ในประเทศไทยเริ่มมีการเผยแพร่ข้อมูล กับประสบการณ์ “ผู้หญิงที่ใช้บริการฝากไข่” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยนำเอา “ผู้หญิงที่มีชื่อเสียงทางสังคม” มาเป็นผู้บอกเล่าประสบการณ์นี้…ที่ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์

และกับ “เทรนด์ฝากไข่ของผู้หญิงยุคใหม่” นี้ ทางนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ท่านเดิมยังได้ระบุไว้ในบทความดังกล่าวข้างต้นอีกว่า… ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจทางสังคม โดยนับตั้งแต่เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อ รักษา “ผู้ที่มีบุตรยาก” จากแรกเริ่มที่เป็น “การทำเด็กหลอดแก้ว” ก็พัฒนากลายเป็น “การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้” เพื่อตอบสนองความต้องการ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่คู่สมรสที่มีบุตรยาก แต่ยัง ขยายสู่กลุ่ม “ผู้ที่ยังไม่พร้อมมีลูก”…

ขยายสู่ “ผู้ต้องการยืดเวลามีลูกออกไป”

ทำให้ “เกิดธุรกิจฝากไข่ขยายตัวรองรับ”

ทั้งนี้ นอกจากเพื่อตอบสนองคนกลุ่มใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่คู่สมรสที่มีบุตรยากเท่านั้นแล้ว เทคโนโลยีชีวภาพหรือ “ชีวภาพการแพทย์สมัยใหม่” นั้นยัง ช่วยให้ผู้หญิงมีโอกาสจัดสรรเวลาการเป็นแม่ได้อย่างเหมาะสม แม้จะมีอายุที่สูงขึ้นก็ตาม ซึ่งนักวิชาการอย่าง Clarke และคณะ ได้เคยเสนอว่าเรื่องนี้ เป็นการขยับขยายแนวคิดเกี่ยวกับ medicalization สู่การจัดการลดความเสี่ยงของผู้หญิงยุคใหม่ ที่สะท้อนความปรารถนาของสังคมสมัยใหม่ ที่ต้องการควบคุมอำนาจเทคโนโลยีการแพทย์ให้อยู่เหนือธรรมชาติภายนอก โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อคืนความสามารถ ซึ่งกรณี “ฝากไข่” คือตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้

ในส่วนของ ผศ.ดร.ปาณิภา สุขสม ก็ได้ชี้ไว้ว่า… ชีวการแพทย์สมัยใหม่อย่าง “การฝากไข่” นั้น ยังเน้นให้เห็นถึงประเด็นต่าง ๆ ทั้งอุดมการณ์ทางเพศ บรรทัดฐาน และความไม่เท่าเทียมทางเพศ รวมอยู่ด้วย เพราะการฝากไข่ไม่เพียงเป็นการขยายโอกาสให้ผู้หญิง ชะลอระยะเวลาการมีลูกให้ผู้หญิง แต่ยังทำให้สามารถเป็นแม่โดยสายเลือดได้แม้จะมีวัยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน…การตลาดของการฝากไข่ที่เข้มข้นในปัจจุบันก็ทำให้ผู้หญิงนั้นไม่เพียงคิดเกี่ยวกับอนาคตการเจริญพันธุ์ของตนเอง หากแต่ชีวการแพทย์สมัยใหม่รูปแบบนี้ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ ทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำบางอย่างอีกด้วย…

พร้อมกับเรื่อง “มาตรฐานความเป็นแม่”

ที่ได้ทำให้…“เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”

“การฝากไข่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้หญิงปัจจุบันมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงสามารถเลื่อนการเป็นแม่ออกไปได้จนกว่าความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต อาชีพการงาน ความมั่นคงด้านอารมณ์ จะอยู่ในจุดที่พร้อมสำหรับการมีลูก ดังนั้นการฝากไข่จึง มีส่วนในการสร้างอำนาจและทางเลือกให้แก่ผู้หญิง ด้านการเจริญพันธุ์ ทั้งยังช่วยลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงต้องเลือกระหว่างงานกับการสร้างครอบครัว” …เหล่านี้เป็น “ประเด็นน่าสนใจ” ที่ทาง ผศ.ดร.ปาณิภา สะท้อนไว้

“ปรากฏการณ์ฮิต” กรณี “ฝากไข่” นั้น…

กรณีนี้มีมุมที่ “มิใช่เพียงเรื่องการมีลูก”

มุม “เท่าเทียมทางเพศ” นี่ “ก็น่าคิด??”.