ท่ามกลางช่วงโค้งสุดท้ายก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎร กับปรากฏการณ์ยุบสภาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสมาสนทนากับ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาลเพื่อสะท้อนเกมการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังเกิดขึ้น จากเหตุการณ์ สภาล่มซ้ำซาก ที่อาจส่งผลถึงความเสื่อมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลชุดนี้ได้

โดย “ชินวรณ์” เปิดประเด็นว่า เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สภาชุดนี้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมมาอย่างต่อเนื่อง จากเสียงที่ก้ำกึ่งกันก็ทำให้สภาล่มได้ง่าย โดยในฝ่ายรัฐบาลไม่มีเอกภาพ ซึ่งเราต้องยอมรับความเป็นจริง แม้เรื่ององค์ประชุมจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันทุกฝ่าย แต่เสียงข้างมากเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้นวันไหนที่ฝ่ายรัฐบาลไม่พร้อมก็จะถูกฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาเป็นเทคนิคทางการเมืองทันที พอมาช่วงหลังก็มีปัจจัยความไม่เป็นเอกภาพในกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ที่ชิงการนำอยู่ตลอดเวลา ทำให้การประสานงานยากมากขึ้น

“พอวิปไปประสานพรรคเพื่อไทยได้ พรรคก้าวไกลก็ไม่เห็นด้วย หรือประสานพรรคก้าวไกลได้ พรรคเพื่อไทยก็ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดสภาล่มจึงมีเพิ่มมากขึ้น พอมาในช่วงสุดท้าย องค์ประชุมยิ่งล่มมากขึ้น ก็เพราะว่าเป็นเรื่องของการประสานงานในการทำให้องค์ประชุมมีประสิทธิภาพ มันทำไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเงื่อนไข และผมเข้าใจว่ายิ่งช่วงสุดท้ายนี้ ก็ยิ่งจะมีปัญหาการประสานงานกันมากยิ่งขึ้น แต่ประธานสภา ก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่า ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หยิบยกเรื่องนี้ไปหารือกันในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ว่า กฎหมายที่เสนอโดย ครม.นั้นทุกพรรคจะต้องมีความรับผิดชอบ

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่เกิดจากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ จึงทำให้ ส.ส.หวั่นไหว และลงพื้นที่กันมากขึ้น เพราะจะเห็นได้ว่ามี ส.ส.บางคนลาประชุม โดยอ้างว่า ลงพื้นที่ ซึ่งผมได้ตั้งข้อสังเกตเสมอว่า ส.ส. ทุกฝ่าย จะต้องรับผิดชอบต่อคำปฏิญาณตนของตัวเองในรัฐธรรมนูญ ว่า จะมาปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติ และเงื่อนไขใดๆ นอกจากนั้นในช่วงหลังก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยชื่อ ซึ่งผมก็เป็นห่วง ส.ส. เช่นเดียวกันว่า หากมีการเปิดเผยชื่อ ส.ส.ที่ไม่มาประชุมหลายๆครั้ง จะชี้แจงลำบากว่ามีเหตุผลอะไรไม่ร่วมประชุม โดยเฉพาะกรณี ส.ส.มาลงชื่อแล้ว ไม่แสดงตนหรือขาดการประชุม ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก และอาจเข้าข่ายจริยธรรมด้วย

“ส.ส.ทุกคนไม่ควรใช้สภาเป็นตัวประกัน หรือไม่ควรใช้ผลประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับจากการออกกฎหมายสำคัญที่ยังค้างอยู่ในสภา มาเป็นตัวประกัน และอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันเพื่อให้ครบองค์ประชุม ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในกฎหมายฉบับใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

@หลังจากนี้วิปรัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ปัญหาสภาล่มอย่างไร

วิปรัฐบาลได้หารือและมีแผนรองรับ โดย แผนหนึ่ง เราจะขอความร่วมมือทุกพรรคมาให้ความร่วมมือในการที่จะขับเคลื่อนกฎหมายช่วงสุดท้ายของสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่สำคัญที่สภากำลังพิจารณาอยู่ ทั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง, ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต, ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง รวมทั้งที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็ยังมีกฎหมายสำคัญที่ประชาชนคาดหวังอยู่ คือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็จะดำเนินการตามแผนนี้ เพื่อทำให้ประชาชนได้เห็นว่าเรายังมีกฎหมายสำคัญค้างอยู่ในสภา

แผนสอง จะมีการมอบหมายให้ทุกพรรคไปตรวจสอบผู้ที่เข้าร่วมประชุม ในแต่ละครั้งให้รายงานต่อวิปรัฐบาลก่อนทุกครั้ง ก่อนที่จะเข้าสู่การประชุม เพราะวิปจะได้วางแผนถูกว่า เราจะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการประชุมให้มีประสิทธิภาพอย่างไร ถ้าไม่พร้อมอาจจะให้มีการอภิปรายกันให้มากขึ้น หรือต้องมีการตามตัวให้มาพร้อมกันก่อนถึงจะมีการลงมติในกฎหมายสำคัญ

แผนสาม มีเสียงเรียกร้องมากที่จะต้องให้เสนอชื่อบุคคลที่ไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งผมคิดว่า ก็เป็นการเปิดเผยเพื่อให้เกิดการตรวจสอบต่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการในการควบคุมใน 3 แผนนี้ และผมเชื่อว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายคงจะมีการตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น

@ เหตุการณ์ ส.ส.ลาออกตามที่มีข่าว จะกระทบกับการทำงานในสภาหรือไม่

โดยภาพรวมการที่ ส.ส.ลาออกอาจจะไม่มีผลต่อองค์ประชุมมากนัก เพราะเมื่อส.ส.ลาออกไปองค์ประชุมก็จะลดลงด้วย เรื่องตัวเลขขององค์ประชุมไม่มีปัญหาอะไร แต่จะไปมีปัญหาในเรื่องทางการเมืองได้ เมื่อมี ส.ส.ลาออก อาจจะมีผลทำให้เป็นปัจจัยที่นายกฯ จะยุบสภาก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และผมได้ย้ำในการหารือของวิปรัฐบาลไปแล้ว ว่า การยุบสภา ควรที่จะให้เป็นข้ออ้างทางการเมืองของฝ่ายบริหาร ของนายกฯ ที่มีอำนาจยุบสภาดีกว่า ไม่ควรที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะไปทำเป็นเงื่อนไขให้ถูกอ้างได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่พร้อม หรือลาออกมาก หรืออยู่ไม่ครบองค์ประชุม แล้วมายุบสภา ทำให้สภาเสียหาย และทำให้ความเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาพลอยเสียหายไปด้วย

@ โอกาสยุบสภา จากปัจจัย ส.ส.ลาออก มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

เมื่อ ส.ส.ลาออกช่วงนี้ก็จะไม่สามารถเลือกตั้งซ่อมได้แล้ว เพราะอยู่ในช่วง 180 วัน ก่อนสภาครบวาระ ก็จะทำให้องค์ประชุมปรากฏตามจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่จริง ซึ่งก็จะทำให้เสียงกึ่งหนึ่งลดลงมาด้วย เพราะฉะนั้นองค์ประชุมของสภาก็สามารถเดินหน้าไปด้วยตามปกติ ส่วน ส.ส.ที่ลาออกไป เพียงแต่คิดว่าต้องไปหาเสียงก่อน ในขณะที่เพื่อน ส.ส.คนอื่นยังต้องทำงานในสภา ทั้งที่ประชาชนเลือกเข้ามาเป็น ส.ส.เพื่อให้มาทำงาน ไม่ใช่มาต่อรองเอาผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ดังนั้นคนที่จะลาออกจะต้องตระหนักในข้อนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความมั่นใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จะคิดถึงประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นตัวหลัก ทำความดีในฐานะนายกฯ และหัวหน้า คสช. รวมกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งผมคาดหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะเป็นรัฐบุรุษ แต่หากคิดว่าเหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกเพียง 2 ปี จะมาคิดแต่เพียงการเมืองแล้วหาโอกาสว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ หรือมีปัญหาในสภา แล้วมายุบสภา ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะถูกตำหนิได้เช่นเดียวกัน.