“มีทั้งจุดอ่อนภายในและภายนอกวงการสงฆ์ ที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้พระสงฆ์ทำผิดพระวินัยและกฎหมาย“ …นี่เป็นใจความบางส่วนจากที่ “มุมวิชาการ” ได้กะเทาะ-สะท้อนออกมาผ่านบทความวิชาการชื่อ “พระสงฆ์ทำผิดพระวินัยและกฎหมาย : จุดอ่อนและวิธีแก้ไข” ที่จัดทำไว้โดย ศ.ดร.วัชระ งามจิตเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ โดยบทความนี้มีการเผยแพร่ไว้ใน วารสารพุทธศาสน์ศึกษา ฉบับที่ 23 เดือน พ.ค.-ส.ค. ปี 2559 ที่แม้จะผ่านมานานแล้ว…แต่ยังคง “ร่วมสมัย” รับกับสังคมไทยในเวลานี้…

กับกรณี “ปัญหาพระสงฆ์ประพฤติผิด”

ที่ในไทยยุคนี้ดูเหมือนจะขยายวงกว้าง

นอกจาก พระใหม่” กับ พระเก่าก็อื้อ”

เกี่ยวกับแง่มุมการวิเคราะห์เรื่องนี้ ที่ได้ถูกสะท้อนออกมาผ่าน “มุมวิชาการ” นั้น ทาง ศ.ดร.วัชระ ผู้เขียนบทความดังกล่าวได้มีการระบุไว้ว่า…สังคมอาจมองต่างมุมกันเกี่ยวกับการทำผิดพระวินัยและกฎหมายของพระสงฆ์ แต่อาจกล่าวได้ว่า…ปัญหาพระสงฆ์ทำผิดนั้น จุดอ่อน ที่ทำให้พระสงฆ์ทำผิดเกิดจาก “ปัจจัยภายใน-ปัจจัยภายนอก” เช่น ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ โครงสร้างระบบการปกครอง และการขาดการปฏิบัติด้านจิตภาวนา ตลอดจนเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป ที่ชาวบ้านไม่ได้มีการเข้ามาร่วมดูแลคณะสงฆ์ ประกอบกับองค์กรภาครัฐไม่มีระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพ…

ทำให้ไม่สามารถดูแลพระสงฆ์ใกล้ชิด…

ทำให้ เกิดจุดอ่อนที่เอื้อให้กระทำผิด”

ทาง ศ.ดร.วัชระ สะท้อนไว้อีกว่า… “พระสงฆ์” ในพระพุทธศาสนา ถือเป็นบุคคลผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบควรค่าแก่การกราบไหว้ เพราะเป็น “ผู้ประพฤติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยมีพระวินัยเป็นกฎระเบียบและแนวทาง” อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลง ประกอบกับไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงระบบ-กลไก จึงทำให้โครงสร้างมีปัญหา ทำให้การกระทำผิดวินัยและกฎหมายของพระสงฆ์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่มีสภาพหรือสิ่งแวดล้อมแตกต่างไป ทำให้กรณีพระสงฆ์ทำผิดดูเหมือนจะยิ่งมีมากขึ้น และจากการที่สังคมเปลี่ยนเป็น “สังคมบริโภค” กรณีนี้ก็ส่งผลทำให้ “วัดเปลี่ยนไป” ที่จากเดิมเคยอยู่กับระบบธรรมชาติ แต่ยุคนี้จะเห็นได้ว่า “ในวัดนั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย”

เมื่อสิ่งเหล่านี้ อยู่ในวัด-อยู่ใกล้พระ”

ก็ส่งผลให้ ยากต่อการป้องกันราคจริต”

ทั้งนี้ ความเจริญของ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ที่เข้ามา ก็มีส่วนสำคัญทำให้ “พระสงฆ์เสี่ยงกระทำผิด” โดยเฉพาะ “สื่ออินเทอร์เน็ต” ที่อาจทำให้ “พระสงฆ์ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสมณสารูป” ไปจนถึง “ทำผิดสังฆาทิเสส” ที่เกิดกรณีบ่อย ๆ เช่น ใช้สื่อโซเชียลเพื่อจีบผู้หญิง หรือบางครั้งก็กระทำผิดร้ายแรงจนถึงขั้น “ทำผิดกฎหมาย” …และนอกจากนี้ในบทความ “พระสงฆ์ทำผิดพระวินัยและกฎหมายฯ” ดังกล่าวนั้น…ทางผู้เขียนยังได้สะท้อนเอาไว้ว่า… จุดน่าสังเกตคือพระสงฆ์ที่ทำผิดทั้งพระวินัยและกฎหมาย กลับเป็นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่มีผู้เอาใจใส่ดูแลน้อยกว่าพระสงฆ์ลูกวัด

มุมวิชาการชี้ไว้ตั้งแต่เมื่อราว 6 ปีก่อน

แต่ “สะท้อนปัญหายุคนี้เหมือนตาเห็น”

ขณะที่การวิเคราะห์ถึง “จุดอ่อน” ที่เป็น “สาเหตุทำให้พระสงฆ์ทำผิด” ประเด็นนี้ยังมีการขยายความไว้อีกว่า…กับ “จุดอ่อนภายใน” นั้น ประกอบด้วย… พระสงฆ์หรือผู้เข้ามาบวช ขาดศรัทธา หรือมีศรัทธาลดลง ขาดความรู้เกี่ยวกับพระวินัยและกฎหมาย จากระบบ การศึกษาที่ด้อยประสิทธิภาพ จากการที่ พระสงฆ์มีเงินส่วนตัว พระสงฆ์มีทรัพย์สินส่วนตัว จากการที่ พระสงฆ์มักช่วยกันปกป้องความผิด จาก โครงสร้างการปกครองและระบบที่ขาดประสิทธิภาพ จากการที่พระสงฆ์กำลัง ขาดการปฏิบัติด้านจิตภาวนา และจาก ระบบคัดกรองผู้เข้ามาบวชยังไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วน “จุดอ่อนภายนอก” เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้คือ…เกิดจาก สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไป เกิดจากการที่ ชาวบ้านไม่ได้เข้ามากำกับดูแลคณะสงฆ์ อย่างใกล้ชิด องค์กรรัฐไม่มีระบบหรือกลไก ที่จะช่วยพัฒนาและควบคุมดูแล เกิดจากการที่ ชาวพุทธบางส่วนยังขาดความรู้ด้านพระวินัย และปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด “จุดอ่อน” จนส่งผล “ทำให้พระสงฆ์เสี่ยงต่อการกระทำผิด”

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.วัชระ งามจิตเจริญ ได้เสนอ “แนวทางแก้ปัญหา” การทำผิดของพระสงฆ์ไว้ด้วย โดยสังเขปมีว่า… 1.ให้ความรู้และเร่งปลูกศรัทธาชาวพุทธ 2.พัฒนาระบบการศึกษาและจิตภาวนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.พัฒนาระบบคัดกรองผู้เข้ามาบวชให้ดียิ่งขึ้น 4.คัดเลือกและพัฒนาความรู้ความสามารถของพระอุปัชฌาย์ 5.ปรับปรุงโครงสร้างกับระบบการปกครองคณะสงฆ์ และ 6.ควบคุมดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์อย่างใกล้ชิด เป็นต้น …นี่เป็นข้อเสนอแนะที่มีมานานแล้ว…

กับกรณี ปัญหาในวงการพระสงฆ์ไทย”

ที่ ไม่เพียงพระใหม่” กับ พระเก่าก็มี”

และก็ “ชวนอึ้งมากขึ้นทุกขณะจิต!!!”.