ในสายตาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน สถานการณ์ประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ ที่เกิดขึ้นตามเมืองใหญ่หลายแห่งของประเทศ “ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลใจแม้แต่น้อย” โดยส่วนตัวผู้นำจีนมองว่า ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักศึกษาและกลุ่มคนหนุ่มสาว “เพียงแค่มีความอึดอัดและไม่พอใจ” กับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ของส่วนกลาง ซึ่งดำเนินการอย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
แม้มหาวิทยาลัยชิงหวา ในเขตใจกลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งผู้นำจีนคนปัจจุบันเป็นศิษย์เก่า คือหนึ่งในพื้นที่เกิดการประท้วงด้วย ทว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมสถานการณ์โดยใช้เวลาไม่นาน กวาดต้อนนักศึกษาและมวลชนกลุ่มอื่นที่เข้าร่วม ขึ้นรถบัสโดยสารและรถไฟ ให้แยกย้ายกันกลับบ้านและภูมิลำเนาของตัวเองทันที
ทรรศนะดังกล่าวของสี ได้รับการเปิดเผยโดยแหล่งข่าวระดับสูง ซึ่งติดตามนายชาร์ล มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป เยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ยืดเยื้อเพียงไม่กี่วัน และแทบไม่สะเทือนโครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากระดับของการเคลื่อนไหวยังเทียบกันแทบไม่ได้ กับเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 2532 แต่มุมมองของสีที่มีต่อการประท้วงครั้งนี้น่าจะเป็นกระจก ซึ่งสะท้อนให้เห็นกรอบความคิดของบรรดานักการเมืองระดับสูง ที่อยู่ภายในทำเนียบจงหนานไห่ได้เป็นอย่างดี
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ 27 ประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มีมติร่วมกัน “แสดงความวิตกกังวล” ต่อการที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอียู ยังคงต้องพึ่งพาจีน ประเทศซึ่งได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนกับอียู เมื่อปี 2562
นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของอียู กล่าวว่า สงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ เป็นบทเรียนสำคัญของสหภาพ เกี่ยวกับการพึ่งพิงรัสเซียมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงาน จึงจำเป็นต้องมีการถอดบทเรียนอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อเตรียมการในกรณีเกิดภาวะแบบเดียวกัน ในความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับจีน ที่ยังคงนำเข้าเทคโนโลยีและวัตถุดิบจากอีกฝ่ายในระดับสูง
หลังจากนี้ อียูจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพการผลิต และเสริมสร้างความร่วมมือกับ “หุ้นส่วนที่สามารถเชื่อถือได้” ขณะเดียวกัน มีความกังวลจากสมาชิกอียูหลายประเทศ เกี่ยวกับการที่จีนและรัสเซีย ยกระดับการเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ไร้ขีดจำกัด” เพียงไม่นานก่อนรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครนด้วย นอกจากนั้น อียูยังเผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่ง ว่า ตอนนี้จีนถือเป็น “คู่แข่ง” ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ “วิสัยทัศน์ที่แตกต่างเกี่ยวกับระเบียบโลก”
นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และมาตรการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีน ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการหารือระหว่างมิเชลกับสี แทบไม่มีหลุดรอดออกมามากนัก กระนั้น การเยือนกรุงปักกิ่งของประธานคณะมนตรียุโรปในครั้งนี้ เกิดขึ้นประมาณเดือนเดียว หลังนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี เป็นผู้นำรัฐบาลจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 แห่ง หรือ “จี7” คนแรกในรอบ 3 ปี ซึ่งเยือนจีนอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า โชลซ์หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรป การแสวงหาโอกาสยกระดับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการต่อสู้กับความหิวโหย ตลอดจนการขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคี โดยการเยือนกรุงปักกิ่งของโชลซ์เกิดขึ้นไม่นาน หลังคณะรัฐมนตรีเยอรมนีมีมติอนุมัติให้บริษัทคอสโกของจีน ครองสัดส่วนการถือหุ้น 24.9% ของท่าเทียบเรือบรรทุกสินค้า 1 ใน 3 แห่งของท่าเรือฮัมบัวร์ก ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศ
แม้สัดส่วนการถือครองหุ้นน้อยกว่าที่คอสโกคาดหวัง แต่สหรัฐแสดงท่าทีอย่างชัดเจน ว่า ข้อตกลงดังกล่าว “เต็มไปด้วยความน่าสงสัย” และวิจารณ์รัฐบาลเบอร์ลินของโชลซ์ ให้ความสำคัญกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลปักกิ่ง มากกว่าประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ จากสงครามในยูเครน
ยิ่งไปกว่านั้น หลังผู้นำเยอรมนีเดินทางกลับไปได้ไม่นาน สำนักงานจัดซื้อจัดจ้างแห่งรัฐของจีน (ซีเอเอสซี) ยืนยันการจัดซื้อจากบริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของยุโรป เป็นเครื่องบินโดยสารเอ320 จำนวน 132 ลำ และเครื่องบินโดยสารเอ350 อีก 8 ลำ รวมทั้งสิ้น 140 ลำ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 600,000 ล้านบาท)
อันที่จริงการเปิดเผยดังกล่าวของซีเอเอสซี เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และข้อตกลงเกี่ยวกับเครื่องบินรุ่นเอ350 นั้น ย้อนหลังไปถึงปี 2562 อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลก ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังโครงสร้างทุกองคาพยพทางเศรษฐกิจ
การเคลื่อนไหวของโชลซ์ ได้รับการจับตาจากทุกประเทศในอียู โดยเฉพาะในฝรั่งเศส แม้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ร่วมวิจารณ์จีน ระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ตาม มาครงมีแผนเยือนจีนในเดือน ม.ค. ปีหน้า พร้อมคณะนักธุรกิจชุดใหญ่ ขณะที่นายโฮเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ประกาศว่า สหภาพจะไม่มีทางเดินตามสหรัฐ ในการใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อจีน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ
เป็นสัญญาณว่า ท้ายที่สุดแล้ว ยุโรปเองก็ต้องพร้อมยืนหยัดต้านทาน “การข่มเหงอย่างเปิดเผย” ของสหรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง และต่อให้ปฏิเสธอย่างไร ยังคงเป็นไปได้ยากมาก ที่ยุโรปจะตัดขาดจากเส้นทางสายไหมจากตะวันออกได้อย่างสิ้นเชิง.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS