การจัดบริการเทเลเมดิซีนของหน่วยบริการปฐมภูมิ สะท้อนถึงการยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และการจัดบริการที่หลากหลายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงบริการตามความสะดวกและความจำเป็นของแต่ละคนได้มากขึ้น …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุไว้โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. 

เป็นการระบุถึงระบบ เทเลเมดิซีน

สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ร่วมคณะ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำโดย นพ.จเด็จ เลขาธิการ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ ลงพื้นที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เยี่ยมชม “บริการปฐมภูมิ-เทเลเมดิซีนในพื้นที่ห่างไกล” ของทาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แม่ตืน และ ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้

ในส่วนของ รพ.สต. แม่ตืน มีลูกข่าย 2 รพ.สต. มีประชากรที่ดูแลรวมประมาณ 1.1 หมื่นคน ซึ่งเนื่องจากพื้นที่นี้ห่างโรงพยาบาลอำเภอราว 30 กม. ผู้เจ็บป่วยนั้นลำบากในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ดังนั้น เทเลเมดิซีน จึงเกิดขึ้นรองรับ โดย รพ.สต.แม่ตืน ได้ยกระดับเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ประจำ ซึ่งทางผู้อำนวยการ รังสรรค์ วัชรกาวิน ให้ข้อมูลว่า… นอกจากบริการรักษาโรคทั่วไปแล้วที่นี่ยังมีคลินิกกายภาพบำบัดสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อคนไข้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่ต้องทำกายภาพบำบัด ขณะที่ “เทเลเมดิซีน” อยู่ในระยะทดลองบริการ โดยใช้แพลตฟอร์มจากโรงพยาบาลน่าน

เบื้องต้นเน้นให้บริการกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อน… ส่วนขั้นตอนการรับบริการ รพ.สต.แม่ตืน จะจัดบริการเทเลเมดิซีนทุกวันพุธช่วงบ่าย โดยมีการนัดคิวผู้ป่วยก่อนว่าแต่ละรายจะเข้าสู่ระบบเวลาไหน เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว พยาบาลก็จะซักประวัติ ก่อนส่งต่อให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัย เมื่อตรวจเสร็จแพทย์ก็จะออกใบสั่งยา หากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ รพ.สต. ลูกข่าย ก็จะจัดส่งยาไปยัง รพ.สต. นั้น ๆ แล้วให้ อสม. มารับยาไปส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ผอ.รังสรรค์ ให้ข้อมูลอีกว่า… การให้บริการเทเลเมดิซีนในพื้นที่นี้ก็ยังมีประเด็นปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง คือ… ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีบริการอินเทอร์เน็ต จึงต้องอาศัยบุตรหลานช่วยเชื่อมต่อเข้าระบบให้ และอีกปัญหาสำคัญ…ถ้าเป็นพื้นที่ห่างไกลมาก ๆ ก็จะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่สามารถรับบริการนี้ได้

ก็ต้อง บูรณาการการพัฒนา กันต่อไป

ถัดมาดูกันที่ ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ ที่ดูแลประชากรราว 1.2 หมื่นคน ซึ่งทางพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สิรินาถ คำใจหนัก ให้ข้อมูลว่า… ที่นี่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำเต็มเวลา นอกจากนี้ยังจัดคลินิกพิเศษ เช่น ทันตกรรม อนามัยแม่และเด็ก เบาหวาน-ความดันโลหิต คลินิกเด็กดี วางแผนครอบครัว งานอนามัยโรงเรียน การออกเยี่ยมบ้าน และยังจัด บริการเทเลเมดิซีน ทุกบ่ายวันพุธที่ 1 และ 3 ของเดือน เริ่มตั้งแต่ช่วงที่มีโควิด-19 นำร่องที่ผู้ป่วยเบาหวาน

ในช่วงแรกที่นี่จัดบริการนี้ผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ ล่าสุดก็ได้ใช้แพลตฟอร์มเทเลเมดิซีนโรงพยาบาลน่าน โดยขั้นตอนเริ่มตั้งแต่คัดกรอง ซึ่งจะเลือกผู้ป่วยเบาหวานที่คุมอาการโรคได้ดี มีอินเทอร์เน็ตใช้ และสมัครใจ เมื่อสมัครเข้าร่วมแล้วพยาบาลก็จะนัดวันเวลาพบแพทย์ ก่อนวันนัด 1 วันจะมีการโทรฯ ยืนยัน รวมทั้งให้ อสม. ไปวัดความดัน วัดระดับน้ำตาลในเลือด ซักถามอาการ แล้วส่งข้อมูลเข้าระบบ จากนั้นแพทย์จะตรวจรักษาและสั่งยา ซึ่งเภสัชกรจะจัดยาแล้วก็ให้ อสม. นำส่งให้คนไข้ถึงบ้าน

“การดำเนินงานก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง คือผู้สูงอายุใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่เป็น ต้องให้ อสม. หรือญาติช่วยทำให้… ขณะที่ผลการให้บริการพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจ 100% เพราะสะดวก ประหยัดเวลา ไม่ต้องมารอคิวตั้งแต่เช้า จึงมีการวางแผนขยายบริการเทเลเมดิซีนไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิต และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง”

ทั้งนี้ ที่นี่ยัง “ใช้ระบบเทเลเมดิซีนดูแลผู้ป่วยบนรถพยาบาล” ด้วย ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลลี้ นพ.เผ่าพงศ์ สุนทร บอกว่า… ที่นี่ติดตั้งเทเลเมดิซีน และใช้ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูง (EMS Advanced) เมื่อเดือน มี.ค. 2564 จำนวน 1 คัน และเดือน ต.ค. 2565 ในรถส่งต่อผู้ป่วยอีก 1 คัน ซึ่งในรถจะมีเครื่องมือที่ทันสมัย มีจอ LCD ให้แพทย์เห็นภาพคนไข้และผู้ปฏิบัติงานในรถ และมีระบบเสียงที่พูดคุยได้เลยโดยไม่ต้องถือโทรศัพท์ ซึ่งแพทย์สามารถจะวินิจฉัยสั่งการรักษาได้โดยตรงและเร็วขึ้น กรณีผู้ป่วยส่งต่อหากมีอาการเปลี่ยนแปลงระหว่างเดินทางก็จะสั่งการรักษาได้ทันท่วงที

“เทเลเมดิซีนดูแลผู้ป่วยบนรถพยาบาล” นี่ก็น่าสนใจ ซึ่งทาง ผอ.โรงพยาบาลลี้ ก็บอกว่า… “หากเป็นไปได้อยากให้มีการสนับสนุนงบประมาณติดตั้งระบบนี้ในรถให้มากขึ้น” …ขณะที่ นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช. ก็ระบุไว้ด้วยว่า… “เทเลเมดิซีน” มักจะจัดบริการเพื่อลดความแออัด การเดินทาง และเวลารอคอย ซึ่งต้องชื่นชม รพ.สต.แม่ตืน และศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ ที่นำระบบนี้มาใช้ เป็นการ “จัดบริการโดยหน่วยบริการปฐมภูมิ” เพื่อผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลมาก ๆ ที่มีข้อจำกัดการเดินทาง หรือแม้แต่ติดการทำงานไม่สะดวกมาที่หน่วยบริการ ซึ่ง… “จุดยืน สปสช. ก็สนับสนุนให้หน่วยบริการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น” …ทาง นพ.จเด็จ ระบุไว้

เพื่อสุขภาพคนไทย “กรณีนี้ก็น่าสนใจ”

“เพิ่มโอกาสให้คนไทยที่อยู่ห่างไกล”

ด้วย “บริการเทเลเมดิซีนปฐมภูมิ”.