กรณีในต่างประเทศกรณีดังกล่าวเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่ม มีศิลปิน-เซเลบชื่อดังระดับโลกออกมาต่อต้าน ร้อนถึงผู้ผลิตแบรนด์เนมหรูต้องออกมายืนยันว่าไม่เจตนา และขออภัย พร้อมมีการถอดแคมเปญที่มีการกังขา รวมถึงแบนเจ้าของไอเดียแคมเปญดังกล่าว ทั้งนี้ โฟกัสที่ปัญหา “คุกคามทางเพศเด็ก” ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอย้ำอีกครั้งว่า “ในไทยต้องไม่ชาชิน”…

“สังคมไทย” ก็ ต้องตระหนักปัญหานี้”

“ในไทยก็มีปัญหา” ที่ ต้องแก้-ต้องกัน”

“เด็กไทย” นั้น มีแนวโน้มเสี่ยงมากขึ้น”

เกี่ยวกับ “ปัญหาภัยคุกคามทางเพศเด็กในไทย” ปัจจุบัน มีภัยละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์” เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งด้วย!! ซึ่งในประเทศไทยก็มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภัยละเมิดทางเพศเด็กที่เพิ่มขึ้นนี้ โดยหลังจากมีแนวโน้มว่าปัญหานี้กำลังพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ร่วมกันจัดตั้งภาคีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อ ต้านภัยการแสวงประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านช่องทางออนไลน์ และเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็ก ๆ เยาวชน สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้มีตัวเลขสถิติ ที่มีการเปิดเผยไว้โดย องค์การเอ็คแพท องค์การตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) และองค์การยูนิเซฟ ที่ได้จัดทำ “รายงานผลการศึกษาวิจัยโครงการ Disrupting Harm in Thailand” ซึ่งพบว่า… ปี 2564 ที่ผ่านมามีเด็กอายุ 12-17 ปีในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศผ่านทางออนไลน์” ร้อยละ 9 หรือประมาณ 400,000 คน!! โดยเหตุการณ์เหล่านี้ได้รวมถึง… การเผยแพร่ภาพที่ส่อไปในทางเพศของเด็ก การที่เด็กถูกแบล็กเมล์ การถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศ เพื่อแลกกับเงินหรือสิ่งของ!!

และกับ “การแสวงประโยชน์และการคุกคามกับล่วงละเมิดทางเพศเด็ก” ผ่าน “ช่องทางออนไลน์” ในไทยนั้น กรณีนี้ทาง คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children) หรือ “TICAC” ก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลไว้ว่า… เมื่อปี 2563 ไทยมีสถิติจับกุมคดีปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ จำนวน 83 คดี พอถึงปี 2564 มีตัวเลขลดลงมาเหลือ 59 คดี ขณะที่ในปี 2565 นี้ แม้จะยังไม่ถึงสิ้นปี แต่ ตัวเลขสถิติจับกุมกระโดดพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ?? โดยมีคดีลักษณะดังกล่าวนี้แตะ 392 คดีแล้ว…

อายุเด็กผู้เสียหาย มากสุดก็ 18 ปีขึ้น

และที่ “อายุน้อยสุดก็คือต่ำกว่า 8 ปี!!”

ข้อมูลของทาง TICAC ยังได้มีการจำแนกไว้อีกว่า… ความผิดที่เกิดขึ้นและคดีที่ได้มีการจับกุมนั้น ส่วนใหญ่เป็นฐานความผิด… การครอบครองสื่อลามกเด็ก การค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การนำเข้าข้อมูลลามกสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ทันจะสิ้นปี 2565 ก็มีรายงานพบการ “แพร่คลิปเด็กถูกล่วงละเมิด” สูงแตะ 407,735 รายการแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับ “วิธีป้องกันมิให้บุตรหลานเสี่ยงเป็นเหยื่อ” ภัยนี้ ก็มีคำแนะนำจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่ให้แนวทางไว้โดยระบุว่า… สิ่งที่คาดไม่ถึงบนโลกออนไลน์อาจจะนำไปสู่การละเมิดหรือทำให้เกิดการคุกคามทางเพศเด็กและเยาวชนได้ เช่น ภาพถ่ายลูกหลานในอ่างอาบน้ำ ที่อาจกลายเป็นสื่อลามกอนาจารเด็กได้ แม้ภาพไม่ได้ส่อถึงกิจกรรมทางเพศก็ตาม ซึ่ง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระมัดระวังเมื่อจะโพสต์ภาพบุตรหลานทางออนไลน์  โดย ETDA ให้เหตุผลที่ไม่ควรโพสต์ภาพลูกหลานในลักษณะดังกล่าวไว้ว่า… เพราะภาพที่ดูเหมือนไม่มีอะไรนี้ก็อาจจะ…

กระตุ้นอาการผู้ที่เป็นโรค “Pedophilia”

หรือที่ในภาษาไทยคือ…โรคใคร่เด็ก!!”

สำหรับกรณีที่บังเอิญ พบเห็นภาพ-คลิป ที่ส่อไปในทางคุกคามหรือละเมิดทางเพศเด็ก ทาง ETDA ได้ให้แนวทางไว้ว่า… แยกเป็น 2 กรณีคือ… กรณีแรก หากพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก โดยไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กในภาพหรือคลิป ให้ แจ้งเพื่อให้มีการลบรูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ ได้ที่ www.thaihotline.org โดยส่งแค่ข้อมูล URL ของภาพหรือคลิปนั้นให้เจ้าหน้าที่ จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบแล้วประสานงานเพื่อลบภาพหรือคลิปวิดีโอนั้นออกจากระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งข้อมูลให้มีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ทำผิด หรือเพื่อช่วยเหลือเด็กในภาพหรือคลิปนั้น

อีกกรณี แจ้งดำเนินคดีกับผู้ทำความผิด โดยหากเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเด็กในภาพ ให้เก็บหลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินคดี อาทิ… 1.พรินต์ภาพหน้าจอลงบนกระดาษ โดยให้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับลิงก์ให้ชัดเจน 2.เก็บหรือพรินต์ข้อความสนทนา 3.กรณีที่เคยถูกขู่กรรโชกเงิน และเคยโอนเงินไป ให้เก็บหลักฐานการโอนเงินไว้เพื่อการดำเนินคดีด้วย

“ภัยทางเพศเด็ก” นี่ ต้องใส่ใจเพิ่มขึ้น”

“โลกกำลังโฟกัส ไทยก็ ต้องไม่ชาชิน”

เหยื่อปีละเกือบครึ่งล้านไม่น้อยนะ”.