ทั้งนี้ แม้คำว่า “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” จะยังไม่ใช่คำคุ้นหูคนไทยเท่ากับคำว่า “แม่เลี้ยงเดี่ยว” หรือ “Single Mom” แต่ก็มิใช่ว่า…ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรที่สังคมไทยจะต้องให้ความสนใจหรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” และจริง ๆ ในไทยก็มีงานวิชาการศึกษาวิจัยคนกลุ่มนี้ไว้นานแล้ว…

“พ่อเลี้ยงเดี่ยว” นี่ “ก็น่าทำความเข้าใจ”

“ในไทย” นั้น “นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์พ่อเลี้ยงเดี่ยว” กับประเด็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดูในวันนี้…เป็นการสะท้อนต่อข้อมูลงานวิชาการ-การศึกษาวิจัย “การปรับตัวเมื่อเป็นครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว : ประสบการณ์ชีวิตพ่อเลี้ยงเดี่ยว” โดย… สุจิตรา อู่รัตนมณี, จินตนา วัชรสินธุ์, เปรมวดี คฤหเดช วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่มีการเผยแพร่อยู่ใน วารสารพยาบาลทหารบก ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค.) 2559 ซึ่งทางคณะผู้ศึกษาวิจัยได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาผู้ที่เป็นพ่อกลุ่มนี้ไว้ว่า… เพื่อศึกษาประสบการณ์ชีวิตและการปรับตัวของ “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” โดยเฉพาะเมื่อบรรดาคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว “ต้องสวมบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่” ควบคู่กัน…  

ในบทนำของงานศึกษาวิจัย “การปรับตัวเมื่อเป็นครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว : ประสบการณ์ชีวิตพ่อเลี้ยงเดี่ยว” ได้มีการฉายภาพไว้ว่า… อดีตที่ผ่านมา แม่เป็นบุคคลหลักในการเลี้ยงดูลูก จึงไม่น่าแปลกใจที่ สังคมไทยมักไม่ได้คาดหวังพ่อให้เป็นบุคคลหลักในการเลี้ยงดูลูก อย่างไรก็ตาม แต่หลังจากบริบทและสภาพสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไป และจากการที่โครงสร้างครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิมค่อนข้างมาก ก็ได้ทำให้ “เกิดครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้น” โดยที่ “พ่อกลายเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเลี้ยงลูกแทนแม่ที่ขาดหายไป” …เป็น “ภาพสะท้อน” ที่งานวิจัยฉายไว้…

เป็น “อีกผลพวงสภาพสังคมเปลี่ยนไป”

สำหรับ “นิยาม” ของคำว่า “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” นั้น งานวิจัยนี้ได้ระบุไว้ว่า…หมายถึง “พ่อที่เลี้ยงลูกคนเดียวภายหลังจากภรรยาเสียชีวิตหรือแยกทางกัน” ที่เป็นการเปลี่ยนบทบาทจากพ่อในครอบครัวที่มีคู่สมรส เปลี่ยนเป็นการทำหน้าที่ควบ 2 บทบาท หรือเป็น “พ่อ-แม่แบบ Two in one” โดย… สังคมมักมี “คำถาม” ถึงบทบาท “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ว่า… “จะสามารถทำหน้าที่แทนแม่ของลูกได้ดีแค่ไหน??” …ซึ่งเพราะ “พ่อเลี้ยงเดี่ยวต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก” ก็จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรทำความเข้าใจการ “เปลี่ยนแปลงบทบาท” ของ “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” …นี่เป็นเป้าหมายของงานวิจัยนี้

และข้อมูลที่งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้พบนั้น เป็นข้อมูลที่พบผ่านประเด็น “การปรับตัวของพ่อเลี้ยงเดี่ยว” ในด้านต่าง ๆ ดังนี้คือ… “การปรับตัว” พบว่า… พ่อเลี้ยงเดี่ยวต้องปรับบทบาทหน้าที่ค่อนข้างมาก ทั้งการทำหน้าที่เพื่อทดแทนแม่ที่หายไปให้ลูก ๆ รวมถึงพ่อเลี้ยงเดี่ยวต้องปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับ “สภาวะการเลี้ยงดูลูก” เช่น ลูกที่ยังเล็กก็ต้องตื่นทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อจัดหานมให้แทนแม่ ต้องอาบน้ำ-ทำอาหารให้ลูกรับประทาน ต้องรีดเสื้อผ้าให้ลูก เป็นต้น

ด้าน “การปรับชีวิต” พบว่า… เมื่อกลายเป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ก็ทำให้ ต้องปรับตัวเรื่องเวลาในการดูแลตนเอง เช่น การพักผ่อน การทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยช่วงที่ลูกยังเล็กก็จะแทบไม่มีเวลาส่วนตัวทำกิจวัตรประจำวันและเวลาพักผ่อน เมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีทั้งพ่อแม่ช่วยกันดูแลลูก เนื่องจากต้องทุ่มเทเวลาที่มีทั้งหมดเลี้ยงดูลูกเพื่อทดแทนแม่ที่ขาดหายไป

…เหล่านี้ดูแล้ว “ก็คล้าย ๆ แม่เลี้ยงเดี่ยว”

เช่นเดียวกับด้าน “การปรับจิตใจ” ที่ก็คล้าย ที่พบว่า… เมื่อต้องเปลี่ยนสถานะ ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทตนเองมาทำหน้าที่เป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” เกือบทุกคนจะ รู้สึกเครียด รู้สึกวิตกกังวล รู้สึกเศร้า โดยจะรู้สึกเครียดมากกับภาระค่าใช้จ่ายในบ้านที่ต้องดูแลคนเดียว รู้สึกเศร้าที่ไม่มีคู่ชีวิตช่วยดูแลลูก กับรู้สึกกังวลเมื่อต้องตอบคำถามเกี่ยวกับแม่ของลูกที่หายไป

ขณะที่ด้าน การปรับตัวรับการพึ่งพา” พบว่า… เมื่อ “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือ จะพยายาม ปรับตัวหาแหล่งสนับสนุนทางสังคม เช่น พึ่งพาครอบครัวญาติพี่น้อง พึ่งพาเพื่อน-คนรอบตัว รวมถึงในบางเวลาที่พ่อเลี้ยงเดี่ยวจำเป็นต้องไปทำธุระ นอกจากนี้ยังพบว่า…เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับ “สุขภาพของลูก” ในกรณีเร่งด่วนนั้น พ่อเลี้ยงเดี่ยวส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีโทรศัพท์ ถามแม่ของตน หรือพี่น้อง หรือญาติ ที่มีสถานะเป็นคุณแม่ เพื่อขอคำแนะนำในการช่วยเหลือแก้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของลูก …เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปจากการศึกษา “การปรับตัวของพ่อเลี้ยงเดี่ยว”

ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลงานวิชาการนี้ยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… ผลศึกษาจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรทางด้านสังคมวิทยาได้มองเห็นวิถีชีวิตการปรับตัวของ “พ่อเลี้ยงเดี่ยวในบริบทสังคมไทย” รวมถึง “พฤติกรรมที่จะส่งผลทั้งด้านสุขภาพและด้านสังคม” จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางนโยบายสาธารณสุขและสังคมสำหรับ “ครอบครัวลักษณะพิเศษ”

ไม่ว่าด้วยเหตุปัจจัยใดนี่ก็ “เกี่ยวกับสังคม”

“พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ก็ “ปรากฏการณ์สังคม”

ก็ “ยึดโยงกับหลาย ๆ มิติทางสังคม”

ที่…“สังคมไทยก็ต้องมีการรองรับ”.